รายงานในสื่อต่างประเทศชี้ว่า มาเลเซียไม่พอใจไทยที่จัดคุยบีอาร์เอ็นลับๆในขณะที่มาเลเซียเป็นผู้อำนวยความสะดวกกระบวนการพูดคุยสันติสุข/สันติภาพ
ใกล้เวลาที่ไทยและบีอาร์เอ็นจะพบปะกันอย่างเป็นทางการครั้งที่สองคือในเดือน มี.ค.นี้ และเป็นการพบกันภายใต้การอำนวยความสะดวกของมาเลเซีย เว็บข่าว Nikkei Asian Review รายงานไว้เมื่อ 20 ก.พ.ที่ผ่านมาว่า ในห้วงเวลาเช่นนี้มาเลเซียกับไทยมีเรื่องหมางใจกันเพราะการที่ไทยได้พูดคุยกับกลุ่มบีอาร์เอ็นแบบที่มาเลเซียไม่รับรู้ในช่วงที่ผ่านมา ก่อนจะมาเปิดเผยกับมาเลเซียนำไปสู่การเปิดตัวอย่างเป็นทางการเมือง 20 ม.ค.
เว็บข่าวดังกล่าวอ้างแหล่งข่าวระบุว่าช่วงนี้ฝ่ายความมั่นคงของไทยกำลังพยายามให้มีการฟื้นความสัมพันธ์อันดีกับเพื่อนบ้านคือมาเลเซียก่อนที่จะมีการพบปะกันหนใหม่ต้นเดือน มี.ค. โดยการเสนอให้มาเลเซียได้เครดิตบางส่วนจากความสำเร็จในการนำบีอาร์เอ็นขึ้นโต๊ะพูดคุย แหล่งข่าวของนสพ.ระบุว่า เมื่อมาเลเซียรู้ว่ามีการพบปะพูดคุยกันอย่างลับๆระหว่างไทยและบีอาร์เอ็นพวกเขาไม่พอใจ
Nikkei Asian Review รายงานว่า ไทยกับกลุ่มบีอาร์เอ็นที่คุยกันแบบลับๆนั้น ได้พบกันหลายแห่งก่อนหน้านี้ ทั้งเบอร์ลิน เจนีวา ฮานอย สิงคโปร์ สุราบายาในอินโดนีเซียและยังมีที่อื่น ๆ อีกโดยมีเอ็นจีโอยุโรปรายหนึ่งช่วยเหลือ และมีรัฐบาลประเทศตะวันตกสนับสนุน และทั้งหมดนี้มาเลเซียไม่รับรู้มาก่อน ไทยได้พยายามคลี่คลายบรรยากาศอันนี้จนกระทั่งนำไปสู่การเปิดตัวเมื่อเดือนม.ค. ดังกล่าว
ข่าวชี้ว่าบทบาทมาเลเซียในเรื่องนี้มีความละเอียดอ่อนมาก ด้านหนึ่งมีพรมแดนสองประเทศที่ติดต่อถึงกันได้ อีกด้านผู้นำหลายคนของกลุ่มขบวนการอาศัยอยู่ในมาเลเซีย ข่าวอ้างความเห็นดอน ปาทาน นักวิเคราะห์ปัญหาภาคใต้ของไทยว่ามาเลเซียนั้นเป็นฝ่ายที่มีบทบาทสำคัญในความขัดแย้งนี้เพราะไม่ได้เป็นแค่ผู้อำนวยความสะดวกเท่านั้นแต่มีผลประโยชน์ด้วย ดังนั้นการคลี่คลายใด ๆ ต้องรวมเอามาเลเซียเข้าไว้ในกระบวนการด้วย
เว็บข่าวดังกล่าวยังให้ข้อมูลอีกส่วนด้วยว่า การพูดคุยตรงกับกลุ่มบีอาร์เอ็นนั้นเป็นเรื่องที่บางส่วนของฝ่ายความมั่นคงไทยที่เป็นสาย “เหยี่ยว” ในกลุ่มทหารและกระทรวงต่างประเทศต่างคัดค้านมาตลอดเพราะไม่เห็นด้วยกับการให้น้ำหนักและความสำคัญกับกลุ่มบีอาร์เอ็น แต่พล.อ.วัลลภ รักเสนาะ หัวหน้าคณะพูดคุยเป็นผู้ผลักดันจนนำไปสู่การนำกลุ่มบีอาร์เอ็นเข้าสู่โต๊ะพูดคุย สิ่งที่สายอนุรักษ์นิยมในฝ่ายไทยกริ่งเกรงคือการยกระดับความขัดแย้งจากปัญหาภายในและกลายเป็นเรื่องที่ทำให้ต่างประเทศเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย
สำหรับการมีผู้สังเกตการณ์ต่างประเทศในการพูดคุยกับบีอาร์เอ็นนั้น เว็บข่าวกล่าวว่าเป็นบุคคลดังกล่าวถือว่าไม่ได้ทำงานให้กับรัฐบาลใด และเป็นอดีตสมาชิกขององค์กรเอ็นจีโอเพื่อสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศแห่งหนึ่ง รุ่งรวี เฉลิมศรีภิญโญรัชต์ นักวิเคราะห์ปัญหาภาคใต้ที่กำลังทำวิจัยเรื่องกลุ่มขบวนการอยู่ได้ให้ความเห็นในข่าวด้วย โดยบอกว่าขณะนี้ดูเหมือนกลุ่มบีอาร์เอ็นให้ฉันทานุมัติกับตัวแทนที่เข้าร่วมพูดคุยหนใหม่ แต่จะต้องดูต่อไปว่าไทยพร้อมจะยอมตมข้อเรียกร้องของกลุ่มมากน้อยแค่ไหน ที่แน่ ๆ เรื่องของเอกราชไม่อยู่ในหัวข้อการพูดคุย
ที่มาเนื้อหา Patani NOTES
ที่มารูปภาพ posttoday
#กระบวนการพูดคุยสันติภาพ #conflick #negotiation
#Wartani_NEWS #News #PATANI
————————————————– ————-
Let us be witnesses for peace in PATANI // Together we are witnesses for peace in PATANI
ขอบคุณข้อมูล : Wartani