ข่าวใหม่อัพเดท » นายกรัฐมนตรี มอบนโยบายจัดการภัยแล้งและเก็บน้ำฤดูฝน ปี 63 เร่งรัดเพิ่มพื้นที่กักเก็บน้ำ มุ่งแก้ปัญหาน้ำท่วมและภัยแล้ง อย่างยั่งยืน

นายกรัฐมนตรี มอบนโยบายจัดการภัยแล้งและเก็บน้ำฤดูฝน ปี 63 เร่งรัดเพิ่มพื้นที่กักเก็บน้ำ มุ่งแก้ปัญหาน้ำท่วมและภัยแล้ง อย่างยั่งยืน

3 มีนาคม 2020
0

พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี มอบนโยบายจัดการภัยแล้งและเก็บน้ำฤดูฝนปี 63 เร่งรัดเพิ่มพื้นที่กักเก็บน้ำ มุ่งแก้ปัญหาน้ำท่วมและภัยแล้งอย่างยั่งยืน

เมื่อวันที่(2 มี.ค.63) เวลา 09.15 น. ณ ตึกสันติไมตรี (หลังนอก) ทำเนียบรัฐบาล พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เป็นประธานพิธีมอบนโยบายการบริหารจัดการภัยแล้งและเตรียมการเก็บน้ำฤดูฝน ปี 2563 ให้แก่หัวหน้าส่วนราชการ ให้เข้าใจแนวทางการดำเนินงานของรัฐบาลในการแก้ไขปัญหาสถานการณ์น้ำในปัจจุบันอย่างถูกต้องและทันต่อสถานการณ์ บรรเทาความเดือดร้อนของประชาชนได้อย่างรวดเร็ว โดยมี พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี พลเอก อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม นายสมเกียรติ ประจำวงษ์ เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ พร้อมด้วยผู้ว่าราชการจังหวัด รัฐวิสาหกิจ ภาคเอกชน โอกาสนี้ นายกรัฐมนตรี ได้เยี่ยมนิทรรศการของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการบริหารจัดการน้ำ 10 หน่วยงาน ที่มุ่งเน้นการแก้ปัญหาเร่งด่วน การลงทุนภาครัฐเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านโครงการด้านน้ำ รวมถึงการอนุรักษ์และสร้างจิตสำนึกเรื่องการใช้น้ำ ภายใต้แนวคิดวันน้ำโลกประจำปี 2563 “น้ำและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ” เป็นต้น

นายกรัฐมนตรี ได้มอบนโยบายโดยกล่าวตอนหนึ่งว่า วันนี้ มี 2 เรื่องสำคัญ คือ ทำอย่างไรที่จะทำให้มีน้ำใช้อย่างยั่งยืน โดยเฉพาะการหาวิธีเก็บกักน้ำ การกระจายน้ำ และการจูงน้ำไว้ใช้ในยามปกติและในฤดูแล้ง และการแก้ไขปัญหาภัยแล้งที่เกิดขึ้น ซึ่งได้รับผลกระทบจากภัยธรรมชาติหลายด้านทำให้น้ำที่อยู่มีปริมาณน้อยมาก แม้บางพื้นที่จะสามารถบริหารจัดการน้ำและแก้ปัญหาภัยแล้งได้อย่างมีประสิทธิภาพ แต่อีกหลายพื้นที่ที่มีปัญหาและไม่ได้เตรียมรับมือกับสถานการณ์ ซึ่งก็เป็นหน้าที่ของรัฐบาลที่จะต้องขับเคลื่อนทุกอย่างให้ได้ โดยเมื่อวันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2563 ได้แถลงการณ์ให้ประชาชนทราบการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำทั้งระบบไปแล้ว วันนี้ ขอย้ำความเข้าใจอีกครั้ง การแก้ไขปัญหาสถานการณ์น้ำ ต้องเกิดผลสัมฤทธิ์ให้มากที่สุด โปร่งใส ตรวจสอบได้ ซึ่งทุกคนจะต้องร่วมมือร่วมใจเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชน

นายกรัฐมนตรียังย้ำว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีทรงห่วงใยพสกนิกรที่จะได้รับผลกระทบจากภัยแล้งเป็นอย่างมาก รับสั่งให้รัฐบาลช่วยเหลือบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชนอย่างเต็มที่ ซึ่งรัฐบาลได้น้อมนำพระกระแสรับสั่งน้อมรับใส่เกล้าฯ และติดตามสถานการณ์น้ำอย่างใกล้ชิด พร้อมทั้งได้รับสั่งให้จิตอาสาพระราชทานร่วมดำเนินการกับหน่วยงานเพื่อช่วยเหลือประชาชน ซึ่งได้มีการจัดกิจกรรม “จิตอาสาต้านภัยแล้ง การประสานความร่วมมือการแก้ปัญหาภัยแล้งอย่างยั่งยืน” ณ จังหวัดนครราชสีมา ระหว่างวันที่ 22 – 28 กุมภาพันธ์ ที่ผ่าน

ทั้งนี้ ประเทศไทยมีแหล่งน้ำสำคัญเพียงแหล่งเดียว คือ “น้ำฝน” ขณะที่จำนวนประชากรมากขึ้น การพัฒนาประเทศเชิงเศรษฐกิจทั้งเกษตรกรรมและอุตสาหกรรมก็เพิ่มมากขึ้น ทำให้ต้องการใช้น้ำเพื่อการอุปโภค-บริโภคมากขึ้น จึงจำเป็นต้องปรับแผนการบริหารจัดการน้ำเพื่อรับมือสถานการณ์ภัยแล้งรวมทั้งป้องกันและบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชนในภาพรวมของประเทศ โดยให้ความสำคัญกับน้ำอุปโภคบริโภคเป็นอันดับแรก ขณะนี้ได้มีการประกาศเขตการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน (ภัยแล้ง) รวม 5,800 กว่าหมู่บ้านใน 22 จังหวัด ประเมินมูลค่าความเสียหายทางเศรษฐกิจในช่วงภัยแล้ง ปี 2563 อาจก่อให้เกิดความเสียหายทางเศรษฐกิจมากถึง ร้อยละ 0.11 ของ GDP และอาจเป็นภัยแล้งที่รุนแรงที่สุดในรอบ 20 ปีอีกด้วย ซึ่งมาตรการป้องกันที่เหมาะสม จะสามารถลดความเสียหายทางเศรษฐกิจให้อยู่ในวงจำกัดได้

รัฐบาลได้ยึดแนวทางตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 ในการแก้ไขปัญหาน้ำอย่างยั่งยืน สร้างความสมดุลระหว่างการอนุรักษ์ ฟื้นฟู การพัฒนาแหล่งน้ำ และการบริหารจัดการเชิงลุ่มน้ำอย่างสมดุล ตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ และท้ายน้ำอย่างเป็นระบบ โดยได้จัดทำแผนแม่บทการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ 20 ปี (พ.ศ. 2561 – 2580) เพื่อเป็นกรอบแนวทางในการแก้ไขปัญหาและพัฒนาทรัพยากรน้ำของประเทศในระยะ 20 ปี และสอดคล้องกับแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ควบคู่ไปกับการรณรงค์ปรับตัว การใช้น้ำอย่างรู้คุณค่า และอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ ป่าต้นน้ำ โดยมีแผนงานโครงการสำคัญกว่า 456 โครงการ ครอบคลุมทุกภูมิภาคแบ่งเป็นภาคเหนือ 140 โครงการ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 102 โครงการ ภาคกลาง 104 โครงการ ภาคตะวันออก 39 โครงการ และภาคใต้ 12 โครงการ สามารถเพิ่มน้ำต้นทุน 7,000 ล้านลูกบาศก์เมตร รวมทั้งมีโครงการขนาดใหญ่ เช่น อ่างเก็บน้ำลำน้ำชี อันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดชัยภูมิ โครงการประตูระบายน้ำศรีสองรักอันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดเลย โครงการอุโมงค์ผันน้ำแม่แตง–แม่งัด–แม่กวง โครงการบางระกำโมเดล จังหวัดพิษณุโลก และโครงการขนาดใหญ่ในอนาคต เช่นการเชื่อมโยงน้ำเพื่อเติมน้ำเข้าสู่อ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ การพัฒนาแหล่งเก็บกักน้ำต้นน้ำที่มีศักยภาพ การจัดหาพื้นที่แก้มลิงรองรับน้ำหลาก เป็นต้น กว่า 60 โครงการ เมื่อดำเนินการแล้วเสร็จ พื้นที่รับประโยชน์กว่า 7 ล้านไร่ ประชากรได้ประโยชน์กว่า 6 แสนครัวเรือน

โดยในที่ประชุม นายกรัฐมนตรีได้สั่งการให้หน่วยงานที่ขอรับงบประมาณเพิ่มเติมในการแก้ไขปัญหาภัยแล้ง ปี 2562/2563 เร่งรัดดำเนินการแล้วเสร็จภายในเวลาที่กำหนด เพื่อช่วยเหลือประชาชนได้ทันท่วงที และให้ปฏิบัติตามกฎระเบียบอย่างเคร่งครัด โดยให้รายงานให้รัฐบาลทราบผ่าน สทนช. อย่างต่อเนื่องด้วย มอบหมายให้กระทรวงมหาดไทยตรวจสอบพื้นที่ในเชิงประจักษ์ ถึงสภาพปัญหาที่แท้จริงของพื้นที่ให้ครอบคลุม สั่งการให้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เร่งรัดปลูกฟื้นฟู พื้นที่ป่าต้นน้ำ โดยรวมกับกระทรวงมหาดไทย กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ รวมถึงภาคเอกชน ประชาชน กำหนดแผนดำเนินการให้ชัดเจน นอกจากนี้ทุกหน่วยงานและท้องถิ่นต้องตรวจสอบสภาพอาคารควบคุมน้ำ เตรียมความพร้อมสำหรับการเก็บกักน้ำ ในฤดูฝนที่กำลังจะมาถึง โดย สทนช. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องบูรณาการวางแผนการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำในฤดูฝน รวมไปถึงการคาดการณ์ล่วงหน้าไปถึงฤดูแล้ง อย่างรอบคอบ ทั้งนี้ ผู้ว่าราชการจังหวัด ต้องมีบทบาทในการกำกับดูแลการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำในระดับพื้นที่อย่างใกล้ชิด ไม่ให้เป็นเพียงการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าเท่านั้น และ ขณะเดียวต้องประชาสัมพันธ์ รณรงค์ แจ้งเตือนให้ประชาชนเข้าถึงข้อมูล สถานการณ์น้ำ เพื่อช่วยลดผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้นได้อย่างทันท่วงที พร้อมรับทราบแนวทางการแก้ไขปัญหาของรัฐบาล

นายกรัฐมนตรี ได้ย้ำในตอนท้ายว่า ความร่วมมือของทุกภาคส่วนที่ได้ร่วมกันระดมความคิด ในการหามาตรการแก้ไขปัญหาภัยแล้งที่เกิดขึ้น จะทำให้ปัญหาวิกฤตภัยแล้งผ่านพ้นไปได้จนเกิดประโยชน์ต่อประชาชนและประเทศชาติ พร้อมขอความร่วมมือทุกภาคส่วนรณรงค์ส่งเสริมการปลูกป่าและต้นไม้ยืนต้นควบคู่การปลูกต้นไม้โตเร็ว เพื่อเพิ่มพื้นที่ป่าไม้ซึ่งเป็นทรัพยากรที่สำคัญและเป็นแหล่งต้นน้ำของประเทศ รวมทั้งสร้างการรับรู้ให้กับประชาชนได้เกิดความตระหนักในการใช้น้ำอย่างประหยัดและคุ้มค่า เกิดประโยชน์สูงสุด เพื่อร่วมกันแก้ไขปัญหาการขาดแคลนน้ำและภัยแล้งอย่างมีประสิทธิภาพและยั่งยืน


ขอบคุณข้อมูล : กลุ่มประชาสัมพันธ์และเผยแพร่ สำนักโฆษก

error: Content is protected !!