นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ประกาศจัดตั้งศูนย์เพื่อบริหารจัดการหน้ากากอนามัย โดยกรมการค้าภายในร่วมกับกระทรวงสาธารณสุข และโรงพยาบาลในสังกัดภาครัฐและเอกชน เพื่อร่วมบริหารจัดการกระจายหน้ากากอนามัย
เมื่อวันที่ (2 มี.ค. 63) เวลา 16.00 น ณ ห้องประชุม 301 ตึกบัญชาการ 1 ทำเนียบรัฐบาล นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ได้เชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้ง กระทรวงสาธารณสุข องค์การเภสัช สำนักงานอาหารและยา ผู้แทนโรงพยาบาลเอกชน ผู้แทนโรงพยาบาลมหาวิทยาลัย และภาคเอกชนผู้ผลิตหน้ากากอนามัย 11 ราย ทั่วประเทศหารือกับผู้บริหารจากกระทรวงพาณิชย์ เพื่อกำหนดแนวทางในการแก้ปัญหาหน้ากากอนามัยขาดแคลน โดยรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ได้แถลงว่า ที่ประชุมได้มีการหารือ 5 ประเด็น ได้แก่ การผลิต, การกระจาย, การส่งออก, การดำเนินการจับกุมผู้กระทำความผิด, และการให้ความช่วยเหลือในการผลิตหน้ากากอนามัย สรุปสาระสำคัญ ดังนี้ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ผู้แทนจากทั้ง 11 โรงงาน ได้แจ้งให้ทราบว่า
ขณะนี้กำลังการผลิตรวมทั้งสิ้นได้อยู่ที่ 36,000,000 ชิ้น ต่อเดือนและสามารถเร่งการผลิตได้สูงสุดอยู่ที่ 38,000,000 ล้านชิ้น โดยไม่หยุดทำการ ซึ่งปัญหาสำคัญในขณะนี้ คือ การนำเข้าวัตถุดิบจากต่างประเทศจากจีน ไต้หวัน อินโดนีเซีย ซึ่งไม่สามารถนำเข้าจากจีนได้แล้ว ขณะที่การนำเข้าจากไต้หวันยังทำได้แต่จำนวนลดน้อยลงและการนำเข้ามีปริมาณจำกัด อินโดนีเซียแม้ยังสามารถนำเข้าวัตถุดิบได้ แต่ก็มีการเลื่อนการส่งมอบและมีราคาสูงขึ้นหนึ่งเท่าตัว อย่างไรก็ตาม เพื่อให้ได้ตัวเลขการผลิตที่ชัดเจนแน่นอน กระทรวงพาณิชย์จะส่งตัวแทนเข้าไปประจำแต่ละโรงงาน เพื่อรับแจ้งปริมาณการผลิต รวมทั้งกำกับดูแลสต๊อกเพื่อให้ตัวเลขมีความชัดเจน โดยทุกวันจะมีตัวเลขการผลิตจะส่งมาที่ศูนย์กระจายหน้ากากอนามัย ที่กรมการค้าภายในและกระทรวงสาธารณสุข หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จะได้ร่วมกันบริหารจัดการ ซึ่งก่อนหน้านี้ก็ได้มีการทำงานร่วมกันมาตลอด จากนี้ไปดำเนินการจะมีความชัดเจนมากยิ่งขึ้น สำหรับต้นทุนการผลิตนั่น กรมการค้าภายในจะเข้าไปดูแลเรื่องวัตถุดิบการนำเข้า และต้นทุนการผลิต เพื่อพิจารณาแนวทางให้ความช่วยเหลือ เพื่อให้การผลิตหน้ากากอนามัยสามารถเดินหน้าได้ต่อไป
ประเด็นที่สอง การกระจายหน้ากากอนามัย ทั้งนี้ จะมีการจัดตั้งศูนย์กระจายหน้ากากอนามัย โดยมีผู้แทนจากกรมการค้าภายในกระทรวงสาธารณสุข หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมกันบริหาบจัดสรรหน้ากากอนามัยให้กับหน่วยงานและสถานพยาบาลของทุกหน่วย ซึ่งมีความจำเป็นต้องใช้อย่างยิ่ง โดยก่อนหน้านี้ ได้มีการกระจายให้กับกระทรวงสาธารณสุขไปแล้ว 350,000 ชิ้นต่อวัน รวมแล้ว 3,450,000 ชิ้น เพื่อกระจายไปยังโรงพยาบาลต่าง ๆ ในสังกัด ขณะที่โรงพยาบาลเอกชนยังมีปัญหาประสบความขาดแคลน จึงขอให้ กระทรวงสาธารณสุขได้ดำเนินการทบทวนตัวเลขโดยหารือกับหน่วยงานสถานพยาบาลทุกสังกัด เพื่อนำตัวเลขมาบริหารจัดการร่วมกันในศูนย์การกระจายหน้ากากอนามัยให้เป็นที่ยุติต่อไป
ประเด็นที่สาม เรื่องการส่งออก ทั้งนี้จะได้มีการลงนามประกาศ ห้ามการส่งออกหน้ากากอนามัยโดยจะไม่มีการอนุญาตแม้แต่ชิ้นเดียว ยกเว้นกรณีผู้ป่วยที่มีใบรับรองแพทย์และมีความจำเป็นต้องใช้หน้ากากอนามัยหรือเว้นแต่หน้ากากอนามัยที่โรงงานผลิตมีการผลิตอยู่แล้ว และไม่ได้ใช้สำหรับภายในประเทศ ซึ่งเป็นเรื่องเกี่ยวกับธุรกิจการค้าของภาคเอกชนเอง
ในส่วนการจับกุมดำเนินคดีกับผู้จำหน่ายหน้ากากอนามัยแพงเกินสมควร ได้มีการดำเนินการไปแล้ว 31 รายและไม่ติดป้ายแสดงราคา 20 รายรวมทั้งสิ้น 51 คดี หรือแบ่งเป็นการจับกุมหน้าร้าน 46 รายและทาง online จำนวน 5 ราย กรณีการขายเกินราคามีโทษจำคุก 7 ปีหรือ ปรับ 140,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ทั้งหมดนี้ ได้ส่งเรื่องให้พนักงานสอบสวนเพื่อนำส่งอัยการต่อไป สำหรับการจัดการกับคดีออนไลน์นั้น กระทรวงพาณิชน์จะขอความร่วมมือกับกระทรวง ดีอี เพื่อทำการสืบสวนกรณีการโพสต์ขายของทางออนไลน์ กรณีขายในราคาสูงเกินสมควร รวมทั้งแพคฟอร์มต่างๆ ก็จะถูกดำเนินคดีตามกฎหมายด้วย
และประเด็นสุดท้าย คือ มาตรการช่วยเหลือสำหรับกระบวนการผลิตหน้ากากอนามัยที่ผลิตกว่า 30 ล้านชิ้นในหนึ่งเดือนหรือเฉลี่ยประมาณ 1,000,000 ชิ้นต่อวันนั้น เมื่อรัฐบาลประกาศควบคุมราคาสินค้าหน้ากากอนามัยอยู่ที่ 2.50 บาท ก็จะหาแนวทางช่วยเหลือเอกชนรับภาระส่วนเกิน เพื่อให้จำหน่ายได้ในราคา 2.50 บาท หากเอกชนประสงค์จะนำเข้าเครื่องจักรผลิตหน้ากากอนามัยหรือ การผลิตฟิวเตอร์ตัวกรอง ก็จะหารือในการประชุมคณะรัฐมนตรี เพื่อหาแนวทางช่วยเหลือได้ สำหรับหน้ากากอนามัยทางเลือก กระทรวงมหาดไทยได้สั่งการหน่วยงานสังกัดท้องถิ่นทั้ง อบต. อบจ. เพื่อเร่งการผลิต ซึ่งกระทรวงสาธารณสุขได้เน้นประชาสัมพันธ์หน้ากากผ้า เพื่อเป็นทางเลือกสำหรับบุคคลทั่วไปสามารถใช้เพื่อเป็นการป้องกันได้ระดับหนึ่ง และให้ประชาชนเป็นทางเลือกในการใช้หน้ากากอนามัยด้วย ซึ่งทั้งหมดนี้จะได้มีการหารือและนำเรียนให้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีทราบต่อไป
รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชน์ ได้ยีนยันว่า เป็นหน้าที่ของรัฐบาลทุกประเทศ ที่จะต้องดูแลประชาชน โดยจะเน้นการบริหารจัดการหน้ากากอนามัยรายวัน รวมทั้งจะพิจารณาแนวทางสร้างความยั่งยีนในการผลิตผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้องสุขอนามัย เพราะถีอเป็นความมั่นคงของประเทศด้วย
ขอบคุณข้อมูล : กลุ่มประชาสัมพันธ์และเผยแพร่ สำนักโฆษก