วันนี้ (5 มีนาคม 2563) พลเอก ไพบูลย์ คุ้มฉายา องคมนครี ในฐานะกรรมการโครงการ
กองทุนการศึกษา เดินทางไปยังจังหวัดกาญจนบุรี เพื่อตรวจเยี่ยมโรงเรียนในโครงการกองทุนการศึกษาในพื้นที่จังหวัดกาญจนบุรี สนองพระราชปณิธานพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่ ในการทรงสืบสาน รักษาและต่อยอดทุกโครงการในพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร โดยเฉพาะโครงการด้านการศึกษาในถิ่นทุรกันดารห่างไกล อยู่ตามชายขอบของประเทศ เพื่อช่วยสร้างคนดีสู่สังคม อาทิ โรงเรียนบ้านไร่ อำเภอบ้านไร่ เปิดการเรียนการสอนตั้งแต่ระดับชั้นอนุบาลถึงชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 ปัจจุบัน มีครูและบุคลากร จำนวน 25 คน มีนักเรียน จำนวน 384 คน ซึ่งนักเรียนเป็นชาวไทย ชาวเมียนมา ชาวมอญ และชาวไทยภูเขาเผ่ากระเหรี่ยง โรงเรียนฯ ได้ดำเนินโครง การฯ ตามกลยุทธ์ต่างๆ อาทิ กลยุทธ์การพัฒนาทักษะชีวิต และทักษะอาชีพ มีการส่งเสริมให้นักเรียนเรียนรู้หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง มีการจัดกิจกรรมต่าง ๆ เช่น การเลี้ยงปลาดุก ไก่ไข่ และเพาะเห็ด นอกจากนี้ ยังมีปราชญ์ชาวบ้านเข้าไปสอนการทำไม้กวาดดอกหญ้า
อำเภอทองผาภูมิ มีโรงเรียนที่อยู่ในโครงการกองทุนการศึกษา อาทิ
- โรงเรียนสมาคมป่าไม้แห่งประเทศ ไทยอุทิศ ปัจจุบันเปิดการเรียนการสอนตั้งแต่ระดับอนุบาลถึงชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 มีนักเรียน จำนวน 881 คน ซึ่งเป็นนักเรียนชาวไทย, ชาวเมียนมา, ชาวมอญ, ชาวไทยภูเขาเผ่ากระเหรี่ยง, เผ่ากระหร่าง และเผ่าม้ง มีครูและบุคลากร จำนวน 47 คน ได้ดำเนินโครงการ ฯ มุ่งเน้นการปลูกฝังคุณธรรม จริยธรรม พร้อมน้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงไปปรับใช้ ตลอดจนรักษาภูมิปัญญาท้องถิ่น โดยชุมชนเข้าไปมีส่วนร่วม ด้วยการจัดกิจกรรมต่าง ๆ เช่น กิจกรรมปลูกผักอินทรีย์, การทอเสื่อกระเหรี่ย,ง การทำขนมทองโย๊ะ ซึ่งเป็นขนมของชาวไทยภูเขาเผ่ากระเหรี่ยงทำจากแป้งข้าวเหนียวและงาดำ
- โรงเรียนบ้านทุ่งเสือโทน บ้านคลิตี้ ตำบลชะแล เปิดการเรียนการสอนตั้งแต่ระดับชั้นอนุบาลถึงมัธยมศึกษาปีที่ 3 มีนักเรียนที่เป็นชาวไทย, ชาวเมียนมา และชาวไทยภูเขาเผ่ากระเหรี่ยง จำนวน 263 คน มีครูและบุคลากร จำนวน 23 คน
ทั้งนี้ ในพื้นที่โรงเรียนฯ และชุมชนบ้านคลิตี้ ประสบปัญหา มีสารตะกั่วปนเปื้อนในพื้นดินและน้ำ โดยน้ำอุปโภคบริโภคต้องอาศัยน้ำฝน แล้วเก็บไว้ในภาชนะต่าง ๆ ซึ่งทางสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดกาญจนบุรี จะเข้าไปทำการตรวจเลือดเพื่อหาค่าตะกั่วในร่างกายของคนในชุมชนทุกปี นอกจากนี้ โรงเรียน ฯ ยังมีการสอนนักเรียนให้มีความรู้ความเข้าใจถึงสารตะกั่ว พร้อมวิธีป้องกัน เพื่อนำไปบอกต่อคนในครอบครัว
ในการนี้ องคมนตรี ได้เชิญพระราชกระแสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่ทรงห่วงใยเด็กและเยาวชนในถิ่นทุรกันดาร ไปกล่าวกับครูในการสั่งสอนนักเรียน เรื่องการปลูกฝังคุณ ธรรม จริยธรรม สร้างจิตสำนึกที่ดีให้แก่เด็กนักเรียน รวมถึง “เรื่องโทษและพิษภัยของยาเสพติด” โรงเรียนบ้านห้วยเสือ เป็นโรงเรียนเครือข่ายในโครงการกองทุนการศึกษา เปิดสอนตั้งแต่ระดับอนุบาลถึงระดับมัธยมศึกษาชั้นปีที่ 6 ซึ่งนักเรียนมีทั้งชาวไทย ชาวเมียนมา ชาวมอญ ชาวไทยภูเขาเผ่าม้ง เผ่ากระเหรี่ยง เผ่ากระหร่าง และอีสานอพยพ จำนวน 642 คน หนึ่งในจำนวนนั้น มีนักเรียนพักนอน จำนวน 50 คน มีครูและบุคลากร จำนวน 34 คน ซึ่งดำเนินโครงการ ฯ ตามกลยุทธ์ต่าง ๆ อาทิ กลยุทธ์การพัฒนาคุณลักษณะผู้เรียนให้มีวินัย คุณธรรม จริยธรรม ร่วมกับชุมชน โดยจัดกิจกรรมต่าง ๆ เช่น การเก็บขยะรอบชุมชนสัปดาห์ละ 1 ครั้ง มีจิตอาสาจราจร ซึ่งเป็นชาวบ้านคอยให้บริการดูแลนักเรียนข้ามถนน นำนักเรียนไปทำบุญทุกวันพระ โดยผู้ปกครองนักเรียนแต่ละคนทำอาหารให้นักเรียนสำหรับไปทำบุญ นอกจากนี้ ยังมีการอนุรักษ์วัฒนธรรมท้องถิ่น คือระบำม้ง และการแต่งกายตามชนเผ่าของตัวเองทุกวันศุกร์ ส่วนอำเภอศรีสวัสดิ์ มีโรงเรียนที่อยู่ในโครงการกองทุนการศึกษา อาทิ
โรงเรียนวัดถ้ำองจุ เปิดทำการเรียนการสอนตั้งแต่ระดับอนุบาลถึงชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 ปัจจุบัน มีนักเรียน จำนวน 98 คน ในจำนวนนั้นเป็นนักเรียนพักนอน จำนวน 57 คน นักเรียนส่วนใหญ่เป็นชาวเมียนมา และชาวไทยภูเขาเผ่ากระเหรี่ยง มีครูและบุคลากร จำนวน 8 คน โรงเรียนได้ร่วมกับชุมชนทำกิจกรรมส่งเสริมจริยธรรม คุณธรรมต่าง ๆ เช่น จิตอาสาทำฝายชะลอน้ำลำห้วยองจุ ทำความสะอาดพัฒนาวัดในชุมชน ทั้งมีการเข้าค่ายคุณธรรม และการจดบันทึกความดีของ นักเรียนในแต่ละวัน เพื่อเป็นการปลูกฝังการทำความดีให้แก่นักเรียน
นอกจากนี้ รอบบริเวณโรงเรียนได้ปลูกผักสวนครัว ไว้สำหรับประกอบอาหารให้แก่นักเรียนด้วยโรงเรียนบ้านดงเสลา เป็นโรงเรียนขยายโอกาส เปิดสอนตั้งแต่ระดับชั้นอนุบาลถึงชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 ปัจจุบัน มีนักเรียน จำนวน 234 คน เป็นนักเรียนชาวไทย ชาวเมียนมา ชาวมอญ ชาวไทยภูเขาเผ่าม้ง เผ่ากระเหรี่ยง เผ่ากระหร่าง เผ่าขมุ และอีสานอพยพ
โรงเรียนบ้านโป่งหวาย เปิดการสอนตั้งแต่ระดับชั้นอนุบาล ถึงระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 ปัจจุบัน มีนักเรียน จำนวน 138 คน นักเรียนมีทั้งชาวไทย ชาวมอญ , ชาวไทยภูเขาเผ่ากระเหรี่ยง และเผ่าขมุ มีครูและบุคลากร จำนวน 10 คน ในปีการศึกษา 2561 ผลการทดสอบอ่านออกเขียนได้ ของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 เป็นอันดับ 1 ของอำเภอศรีสวัสดิ์ โรงเรียนได้ส่งเสริมคุณธรรม จริยธรรมให้แก่นักเรียน เช่น ทุกวันพฤหัสบดีจะให้นักเรียนใส่ชุดขาว กินมังสวิรัต ช่วงเช้ามีกิจกรรมสวดมนต์ทำวัดเช้า และมีพระเข้าไปสอนวิชาพระพุทธศาสนา เป็นการสร้างความใกล้ชิดระหว่างวัดและโรงเรียน และมีการส่งเสริมอาชีพให้นักเรียน ด้วยการสอนทำการเกษตรแบบพอเพียง ทำหน่อไม้หมักซอส ชาผักหวาน และชาตะไคร้-ใบเตย เป็นการสร้างรายได้ระหว่างเรียน สามารถเป็นอาชีพได้ในอนาคต
นอกจากนี้ บริเวณพื้นที่ของโรงเรียนได้ให้คนในชุมชนเข้าไปใช้ประโยชน์โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย เช่น ปลูกผักสวนครัว และเลี้ยงไก่ไข่ และโรงเรียนศรีสวัสดิ์พิทยาคม เปิดสอนตั้งแต่ระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 ถึงปีที่ 6 ปัจจุบันมีนักเรียน จำนวน 408 คน มีทั้งชาวไทย ชาวเมียนมา และชาวไทยภูเขาเผ่ากระเหรี่ยง มีครูและบุคลากร จำนวน 35 คน โรงเรียนได้จัดตั้ง “ศูนย์เรียนรู้พอเพียง” เพื่อให้นักเรียนได้ฝึกอาชีพ พร้อมทั้งให้ชุมชนเข้าไปเรียนเกษตรแบบพอเพียงอย่างครบวงจร นอกจากนี้ ยังมีการฝึกอาชีพต่าง ๆ เช่น ช่างซ่อมแอร์ ชงกาแฟและเครื่องดื่ม เครื่องประดับอัญมณี ช่างเชื่อม และการแปรรูปผลิตภัณฑ์จากผลผลิตในโรงเรียน เช่น เค้กกล้วยหอม กล้วยตาก และคุกกี้ธัญพืช เป็นต้น