๑.สถานการณ์ข่าวที่เกี่ยวข้องกับ จชต.
๑.๑ สถานการณ์ภายในประเทศ
๑.๑.๑ สถานการณ์ข่าวเชิงลบ
ภาพข่าวเชิงลบในสัปดาห์นี้ เกิดขึ้นจาก ประเด็นเหตุร้ายรายวัน (ดักบึ้มบาเจาะ-อส.ทพ.บาดเจ็บ ๖ ทวงแค้นวิสามัญ ๖ ศพ ‘เขาตะเว’), ประเด็นสิทธิมนุษยชน (๓๓ องค์กรสิทธิฯ – เอ็นจีโอ จี้สอบสวนและยุติ IO โจมตีนักปกป้องสิทธิมนุษยชน), ประเด็นการพูดคุยเพื่อสันติสุข (๑) พูดคุยดับไฟใต้ไม่คืบ! ชงชุดเล็กสานงานต่อ, ๒) ยิ่งแก้ คะแนนประยุทธ์ยิ่งตก โพลล์ชี้คนพื้นที่ก้ำกึ่ง จะเห็นความสงบใน ๕ ปี และ ๓) จับตาต่างชาติ-แกนนำบีอาร์เอ็น เคลื่อนไหวชายแดนใต้ สุมไฟระอุหรือ เปิดช่องทางรอด), ประเด็นการเมือง (๑) นักศึกษา ม.ราชภัฏยะลา จัดกิจกรรมแสดงจุดยืนแฟลชม็อบ #มรย_ไม่เอาเผด็จการ, ๒) นักศึกษา ๓ จังหวัดชายแดนใต้ เอาด้วย ‘ชูป้ายไล่รัฐบาล’ และ ๓) คอลัมน์: บทความพิเศษ: พิษ IO กำลังทิ่มแทงรัฐบาลกลางและหน่วยความมั่นคงชายแดนภาคใต้) และ ประเด็นกระบวนการยุติธรรม (คณากร เพียรชนะ : ผู้พิพากษาศาลจังหวัดยะลายิงตัวเองเสียชีวิต ใน จ.เชียงใหม่)
๑.๑.๒ สถานการณ์ข่าวเชิงบวก
ภาพข่าวเชิงบวกในสัปดาห์นี้ เกิดขึ้นจาก ประเด็นการศึกษา (สุวิทย์’หนุนพัฒนายุวสตาร์ท อัพมุสลิมภาคใต้), ประเด็นเศรษฐกิจ และการสร้างรายได้ (๑) จับตาขับเคลื่อนพัฒนา ๓ ด่านชายแดน นราธิวาส หลัง ครม. สั่ง ศอ.บต. เป็นเจ้าภาพแก้ปัญหา, ๒) ‘กาแฟธารโต’ ออกดอกสะพรั่งศูนย์วิจัยฯ หนุนปลูกสร้างอาชีพ, ๓) พณ. ปลื้ม งาน ‘มหกรรมการค้าชายแดนสุไหงโก-ลก จังหวัดนราธิวาส’ สำเร็จเกินคาด และ ๔) บาราโหม จ.ปัตตานี แหล่งท่องเที่ยวแห่งใหม่ในอารยธรรมเก่าของชายแดนใต้) และ ประเด็นเทคโนโลยีในการแก้ไขปัญหา จชต. (รายงานพิเศษ : นักวิทยาศาสตร์รุ่นใหม่ ต่อยอด’นวัตกรรมนิติพันธุศาสตร์ แก้ไขปัญหาความมั่นคง’ คิดค้น PSU-BEK kit ชุดน้ำยาสกัดดีเอ็นเอ จากกระดูก ย่นเวลาจาก ๒ วัน เหลือ ๒ ชั่วโมง)
๑.๒ สถานการณ์ข่าวจากสื่อมวลชนต่างประเทศ และภูมิภาคตะวันออกเฉียงใต้
๑.๒.๑ การพูดคุยสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้อย่างเป็นทางการครั้งที่ ๒ ระหว่างคณะพูดคุยตัวแทนรัฐบาลไทยนำโดย พล.อ.วัลลภ รักเสนาะ กับ ตัวแทนบีอาร์เอ็น หรือ ขบวนการแนวร่วมปฏิวัติแห่งชาติมลายูปัตตานี นำโดย นาย อานัส อับดุลเลาะห์มาน จัดขึ้นที่กรุงกัวลาลัมเปอร์ระหว่างวันที่ ๒ และ ๓ มีนาคม เป็นประเด็นเกี่ยวกับจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่สื่อมวลชนต่างประเทศให้ความสนใจ และ รายงานข่าวมากที่สุด ประกอบด้วย Reuters, New York Times, Benarnews และ สื่อมาเลเซียหลายแห่ง
๑.๒.๒ ทั้งนี้สื่อส่วนใหญ่รายงานข่าวการประชุมในเชิงบวก โดยส่วนใหญ่อ้างอิงข้อความจากเอกสารข่าวของสำนักงานคณะพูดคุยสันติสุขฯ กล่าวคือ “การพูดคุยครั้งที่สองบรรยากาศเป็นไปอย่างสร้างสรรค์ และ มีการหยิบยกประเด็นที่เป็นสาระสำคัญของกระบวนการพูดคุย คือ แนวทางลดความรุนแรงในพื้นที่ ขึ้นมาหารือในที่ประชุมด้วย”
๑.๒.๓ ส่วนประเด็นความกังวลต่อการเปลี่ยนรัฐบาลใหม่ นายกรัฐมนตรีคนใหม่ของมาเลเซีย จะส่งผลให้กระบวนการพูดคุยหยุดชะงักหรือไม่ benarnews.org อ้างอับดุล ราฮิม นูร์ ผู้ประสานกระบวนการพูดคุยยืนยันว่า เดินหน้าต่อ และ จะรายงานความคืบหน้ากระบวนการพูดคุยให้ตันสรีมูห์ยิดดิน ยัสซิน นายกรัฐมนตรีทราบภายใน ๒ สัปดาห์นี้
๒. ข้อพิจารณา : จากสถานการณ์ข่าวในข้อ ๑ มีข้อพิจารณาดังนี้
๒.๑ ถึงแม้ภาพข่าวในประเด็นการพูดคุยจะค่อนข้างเป็นบวกในสัปดาห์นี้ แต่ก็ยังคงมีการนำเสนอข่าวเชิงลบจากสื่อมวลชน ดังนั้นการติดตาม และ เตรียมการปฏิบัติการข่าวสารเพื่อลดผลกระทบเชิงลบจากการนำเสนอของสื่อมวลชนในประเด็นการพูดคุยเพื่อสันติฯ ยังคงมีต้องดำเนินการอย่างต่อเนื่อง
๒.๒ มีความเป็นไปได้สูงว่า การเสียชีวิตของนายคณากร เพียรชนะ จะส่งผลกระทบเชิงลบต่อกระบวนการยุติธรรม และงานด้านอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการยุติธรรม ใน จชต. ดังนั้นการเตรียมการปฏิบัติการข่าวสารเพื่อลดผลกระทบจากสถานการณ์ดังกล่าว จึงเป็นสิ่งจำเป็น
๓. ข้อเสนอ : จากข้อพิจารณาในข้อ ๒เห็นควรดำเนินการดังนี้
๓.๑ เตรียมการปฏิบัติข่าวสารเพื่อรองรับแนวโน้มโอกาสเกิดข่าวด้านลบหรือข่าวสารที่กระทบต่อหน่วยงานรัฐในพื้นที่ จชต. ในห้วงสัปดาห์นี้ คือ การเสียชีวิตของนายคณากร เพียรชนะ ผู้พิพากษาหัวหน้าคณะชั้นต้นในศาลจังหวัดยะลา โดยการใช้อาวุธปืนยิงตัวเอง อาจทำให้เกิดการตั้งคำถามว่า กระบวนการยุติธรรม กระบวนการพิจารณาคดีในศาลจังหวัดในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ มีความเป็นอิสระหรือไม่? โดยอ้างอิงกับบันทึกส่วนตัวของนายคณากร ที่มีการเปิดเผยต่อสาธารณะอย่างกว้างขวาง เมื่อครั้งที่ใช้อาวุธปืน ยิงใส่ตัวเองขณะนั่งบัลลังก์ผู้พิพากษาที่ศาลจังหวัดยะลา เมื่อหลายเดือนก่อน
๓.๒ ประชาสัมพันธ์ข่าวสารเชิงบวกสนับสนุนนโยบายรัฐบาลที่มีเป้าหมายพัฒนาเศรษฐกิจในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้เพื่อให้ประชาชนในพื้นที่มีคุณภาพชีวิตดีขึ้น โดยหนึ่งในนโยบายนี้คือการปรับปรุงพัฒนาศักยภาพด่านชายแดนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ทั้ง ๙ แห่ง ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ ๒๑ มกราคม ๒๕๖๓ โดยมอบหมายให้ ศอ.บต. เป็นหน่วยงานหลักทำงานประสานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทุกหน่วยงาน โดยมี ข้อเสนอแนะประชาสัมพันธ์ ดังนี้
๓.๒.๑ ศอ.บต. ดำเนินการจัดแถลงข่าวแผนงานปรับปรุงศักยภาพด่านชายแดนทั้ง ๙ แห่ง ให้เป็นด่านที่ให้บริการครบวงจรเพื่อกระตุ้นการค้า การลงทุนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ให้มึความคึกคักมากยิ่งขึ้น
๓.๒.๒ สื่อภาครัฐจัดทำ vox pop (สุ่มสัมภาษณ์) ประชาชนในพื้นที่ จชต. สนับสนุนให้มีการเพิ่มศักยภาพด่านชายแดน รวมทั้งขยายเวลาเปิดปิดด่าน ในแง่บวกเป็นผลดีต่อเศรษฐกิจ และ ชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชน
๓.๒.๓ นำสื่อที่ผลิตตามข้อ ข) เผยแพร่ในรูปแบบคลิปสั้นบนช่องทางสื่อสังคมออนไลน์