วันจันทร์ ที่ ๙ มีนาคม พุทธศักราช ๒๕๖๓ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้า ฯ พระบรมราชินี เสด็จ ฯ ไปทรงเป็นประธาน เปิดการประชุมโครงการพัฒนาชุมชนในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าและอุทยานแห่งชาติ จังหวัดกาญจนบุรี ในพระบรมราชูปถัมภ์
วันนี้ เวลา 19.43 น. พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้า ฯ พระบรมราชินี เสด็จ ฯ ไปทรงเปิดการประชุมโครงการพัฒนาชุมชนในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าและอุทยานแห่งชาติ จังหวัดกาญจนบุรี ในพระบรมราชูปถัมภ์ ณ อาคาร บก. หน่วยราชการในพระองค์ ๙๐๔ (อาคาร ๒) พระที่นั่งอัมพรสถาน พระราชวังดุสิต โดยมีสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าพัชรกิติยาภา นเรนทิราเทพยวดี กรมหลวงราชสาริณีสิริพัชร มหาวัชรราชธิดา องค์ประธานกรรม การโครงการ พร้อมด้วยคณะกรรมการโครงการ และกรรมการชุมชนจากพื้นที่โครงการในตำบลไล่โว่ อำเภอสังขละบุรี จังหวัดกาญจนบุรี เฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทรับเสด็จ
โครงการพัฒนาชุมชนในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าและอุทยานแห่งชาติ จังหวัดกาญจนบุรี ในพระบรมราชูปถัมภ์ เป็นอีกโครงการหนึ่งที่พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าสุทิดา พัชรสุธาพิมลลักษณ พระบรมราชินี ทรงมีพระราชปณิธานสืบสาน รักษา ต่อยอด พระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง เรื่องการบำบัดทุกข์บำรุงสุขของราษฎร โดยเฉพาะผู้ที่อาศัยอยู่ในเขตชายแดนที่ความเจริญยังเข้าไปไม่ถึง ทำให้ประชาชนมีความยากลำบากในการดำรงชีวิต รวมทั้งทรงเห็นว่าพื้นที่โครงการเป็นชุมชนอยู่ติดชายแดน อันถือว่ามีความสำคัญต่อความมั่นคงของประเทศ และเป็นพื้นที่มรดกโลกของประเทศไทย
ที่ควรได้รับการพัฒนาและอนุรักษ์อย่างยั่งยืน เพื่อให้คนอยู่กับป่าอย่างสมดุล และรักษาต้นน้ำ เพื่อการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ
ในการนี้ จึงมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้งคณะกรรมการเพื่อดำเนินงานตามโครงการ เมื่อวันที่ ๒๙ สิงหาคม ๒๕๖๒ โดยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้า ฯ พระบรมราชินี ทรงเป็นองค์ประธานที่ปรึกษาคณะกรรมการ และสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าพัชรกิติยาภา นเรนทิราเทพยวดี กรมหลวงราชสาริณีสิริพัชร มหาวัชรราชธิดา ทรงดำรงตำแหน่งองค์ประธานกรรมการ
นับจากวันที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระบรมราชโองการแต่งตั้งคณะกรรมการโครงการพัฒนาชุมชนในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า ฯ สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าพัชรกิติยาภา นเรนทิราเทพยวดี กรมหลวงราชสาริณีสิริพัชร มหาวัชรราชธิดา ในฐานะองค์ประธานกรรม การ ได้รับพระราชทานพระบรมราโชบายจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่พระราชทานแนวทางในการทำงานกับประชาชนที่อยู่ห่างไกล โดยเฉพาะอยู่ติดชายแดน และพื้นที่เป็นมรดกโลกที่ต้องให้ความสำคัญกับเรื่องการรักษาทรัพยากรธรรมชาติ อันเป็นหัวใจหลักของความเป็นมรดกโลก โดยให้อยู่ในกรอบของกฎหมาย และปัญหาเรื่องเส้นทางสัญจรเข้าออกชุมชนที่ทรงทราบว่ามีความยากลำบากในการเดินทาง และเรื่องสุขภาพที่สัมพันธ์กับเรื่องเส้นทางสัญจรเป็นลำดับต้นในการดำเนินงาน
ดังนั้น สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าพัชรกิติยาภา นเรนทิราเทพยวดี กรมหลวงราชสาริณีสิริพัชร มหาวัชรราชธิดา จึงนำแนวทางตามพระบรมราโชบายข้างต้นมาทรงงานพัฒนาชุมชนบ้านไล่โว่และบ้านสาละวะ ร่วมกับคณะกรรมการโครงการ และต่อมาเมื่อวันที่ ๙ พฤศจิกายน ๒๕๖๒ ได้มีการแต่งตั้งคณะกรรมการชุมชนสาละวะจำนวน ๘ ราย และชุมชนไล่โว่จำนวน ๖ ราย ทั้งนี้ เพื่อให้ชุมชนได้เข้ามามีส่วนร่วมในการดำเนินงาน รวมทั้งนำเสนอข้อมูล ปัญหา ความต้องการในเรื่องต่าง ๆ ได้แก่ เรื่องเส้นทางสัญจร และเรื่องสุขภาพอนามัยของคนในชุมชน ซึ่งเมื่อดำเนินงานไประยะหนึ่งจึงพบว่า นอกจากเรื่องเส้นทางสัญจรแล้ว ชุมชนต้องได้รับการพัฒนาในเรื่องการบริหารจัดการน้ำ เรื่องสาธารณูปโภค และเกษตรกรรม
โอกาสนี้ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว สมเด็จพระนางเจ้า ฯ พระบรมราชินี และสมเด็จพระ เจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าพัชรกิติยาภา นเรนทิราเทพยวดี กรมหลวงราชสาริณีสิริพัชร มหาวัชรราชธิดา ได้ทอดพระเนตรนิทรรศการผลการดำเนินงานด้านต่าง ๆ ได้แก่ ด้านสาธารณสุข ด้านเส้นทางการคมนาคม ด้านสาธารณูปโภค ด้านอาชีพต่าง ๆ จากนั้น ได้พระราชทานพันธุ์ไม้ ๒ พันธุ์ คือ มะม่วงมหาชนก และต้นรวงผึ้ง ให้กับ นางกะมุ้ย นายวราวุฒิ เกสรพฤกษาทิพย์ ผู้แทนคณะกรรมการชุมชนไล่โว่ นายสุวิทย์ เคียวเซ้ง และนางหน่อพิใจ ผู้แทนคณะกรรมการชุมชนสาละวะ ตามลำดับ
หลังจากนั้น เสด็จ ฯ ไปทรงเปิดการประชุม โครงการพัฒนาชุมชนในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าและอุทยานแห่งชาติ จังหวัดกาญจนบุรี ในพระบรมราชูปถัมภ์ การนี้ สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าพัชรกิติยาภา นเรนทิราเทพยวดี กรมหลวงราชสาริณีสิริพัชร มหาวัชรราชธิดา ในฐานะองค์ประธานกรรมการ กราบบังคมทูลพระกรุณารายงานความคืบหน้าการดำเนินโครงการ จากนั้น ทอดพระเนตรวีดีทัศน์สรุปผลการดำเนินงานที่ผ่านมา แล้วทรงมีพระราชดำรัสเปิดการประชุม รวมทั้งพระราชทานพระบรมราโชบาย แก่คณะกรรมการโครงการ และคณะกรรม การชุมชน สมควรแก่เวลาจึงประทับรถยนต์พระที่นั่งเสด็จพระราชดำเนินกลับ พระที่นั่งอัมพรสถาน พระราชวังดุสิต
ต่อจากนั้นพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ให้ สมเด็จพระเจ้าลูก เธอ เจ้าฟ้าพัชรกิติยาภา นเรนทิราเทพยวดี กรมหลวงราชสาริณีสิริพัชร มหาวัชรราชธิดา ในฐานะองค์ประธานกรรมการ ทรงประชุมคณะกรรมการตามระเบียบ วาระการประชุมที่กำหนดไว้ ดังนี้ การตั้งคณะทำงานบริหารโครงการ คณะกรรมการชุมชน และคณะทำงานระดับจัง หวัด จากนั้น คณะกรรมการแต่ละฝ่ายกราบทูลผลการดำเนินงาน ซึ่งในเบื้องต้นได้มีการนำเสนอว่า ภายหลังการแต่งตั้งคณะกรรมการชุมชนแล้ว คณะกรรมการได้มีการลงพื้นที่สำรวจข้อมูลจริง ๓ ครั้ง รวมทั้งมีการนำคณะกรรมการชุมชน และส่วนราชการที่เกี่ยวข้องไปศึกษาดูงานพื้นที่ทรงงานของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ในจังหวัดตาก และจังหวัดเชียงใหม่ จากนั้น ได้มีการประชุมร่วมกับคณะกรรมการในพื้นที่ และหน่วยราชการที่เกี่ยวข้อง จึงได้ข้อสรุปในการดำเนินงานด้านต่าง ๆ ได้แก่
- ด้านสาธารณสุข ที่ได้มีการอบรมประชาชนให้เป็นอาสาสมัครสาธารณสุข มีการสร้างโรงเรือนอนามัยใน ๒ ชุมชน
- ด้านเส้นทางการคมนาคมที่มีการแก้ปัญหาน้ำหลากบนเส้นทางสัญจรด้วยการสร้างรางระบายน้ำ ปรับผิวทางสัญจร และสร้างทางข้ามบริเวณเส้นทางตัดทางน้ำ
- ด้านสาธารณูปโภคที่ปรับปรุงระบบโซล่าเซลล์ และจัดทำระบบ Hydropower เนื่องด้วยใน ๒ ชุมชน มีปริมาณน้ำมาก จึงนำน้ำมาใช้เป็นไฟฟ้าพลังงานน้ำได้เป็นอย่างดี
- ด้านอาชีพและเกษตรกรรม และด้านการใช้ประโยชน์ที่ดินที่เน้นเรื่องป่า ๓ อย่าง ประโยชน์ ๔ อย่าง และการเกษตรทฤษฎีใหม่
สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าพัชรกิติยาภา นเรนทิราเทพยวดี กรมหลวงราชสาริณีสิริพัชร มหาวัชรราชธิดา ทรงเน้นย้ำว่า ทรงน้อมนำแนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ในการสร้างความเข้าใจ เข้าถึง และพัฒนา มาเป็นแนวทางการทรงงานในโครงการ ฯ รวมทั้งพระบรมราโชบายของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้า ฯ พระบรมราชินี ในเรื่องการสืบสาน รักษา ต่อยอด ในการดำเนินโครงการ ฯ ซึ่งมีการประสานความร่วมมือร่วมใจของส่วนราชการ กรรมการชุมชน และประชาชนในพื้นที่ รวมทั้งให้ความสำคัญต่อกฎหมาย เนื่องจากพื้นที่ดังกล่าวเป็นพื้นที่มรดกโลก อีกทั้งยังทรงเน้นย้ำถึงการมีส่วนร่วมของชุมชน และการสืบสานและอนุรักษ์วัฒนธรรมของชุมชนให้คงอยู่
อย่างยั่งยืนต่อไป