สธ. มท. พณ. ทร. ร่วมแถลงความคืบหน้ารับมือการแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 และประเด็นที่เกี่ยวข้อง
เมื่อวันที่ (9 มีนาคม 2563) เวลา 14.00 น. ณ ศูนย์แถลงข่าวรัฐบาล ตึกนารีสโมสร ทำเนียบรัฐบาล นายแพทย์รุ่งเรือง กิจผาติ โฆษกกระทรวงสาธารณสุข พลเรือโท วิชัย มนัสศิริวิทยา เจ้ากรมแพทย์ทหารเรือ นายสมคิด จันทมฤก รองปลัดกระทรวงมหาดไทย และนายวิชัย โภชนกิจ อธิบดีกรมการค้าภายใน สรุปสาระสำคัญ ดังนี้
โฆษกกระทรวงสาธารณสุขแถลงสรุปสถานการณ์ COVID-19 พบผู้ป่วยยืนยันทั่วโลกวันนี้ รวม 102 ประเทศ ผู้ป่วยติดเชื้อประมาณ 107,000 ราย ผู้ป่วยอาการหนัก 6,000 คน ทั่วไปจะมีอาการเล็กน้อยคล้ายไข้หวัด ผู้เสียชีวิตนั้นอาจเพราะสูงอายุหรือมีโรคประจำตัวอื่นๆ สำหรับประเทศไทยวันนี้ ยังคงมีผู้ป่วยยืนยันอยู่ 50 ราย ซึ่งไทยเป็นประเทศแรกของทั่วโลกในการตรวจค้นหา คัดกรอง ส่วนใหญ่รักษาหายแล้ว ยังคงมีผู้ป่วยอาการวิกฤติเพียง 1 ราย ทุกๆรายแพทย์พยาบาลให้การดูแลอย่างเต็มที่ ต้องเน้นให้ทุกคนเปลี่ยน “ความกลัว” เป็น “ความรู้ที่ถูกต้อง” มีพฤติกรรมที่ดี เพื่อช่วยกันรับมือกับสถานการณ์ ขอย้ำว่า การติดเชื้อไวรัส COVID-19 ป้องกันและรักษาได้ ทุกคนต้องร่วมกันรับมือ หากเทียบกับอีก 102 ประเทศ จะสังเกตได้ว่าอัตราผู้ป่วยในประเทศไทยขึ้นอย่างช้า ๆ ซึ่งเป็นการชะลอตัวที่เหมาะสม ขอยืนยันว่าเราทำอย่างเต็มที่ ครบทุกมิติ ทั้งมิติด้านสุขภาพ คุณภาพชีวิต และมิติเศรษฐกิจ ทั้งระบบการคัดกรองและการประกาศเขตติดโรคที่มีความเสี่ยงสูง เพราะไทยมีระบบโครงสร้างสาธารณสุขที่ดีมากรวมถึงพลังความร่วมมือทุกภาคส่วน ยืนยันว่ารัฐบาลรวมถึงกระทรวงสาธารณสุขไม่มีนโยบายปิดบังข้อมูลและได้เปิดเผยข้อเท็จจริงมาโดยตลอด เมื่อพบผู้ป่วย 1 ราย จะมีการติดตามเพิ่ม 40 ราย อยากให้คนไทยร่วมเป็นกำลังใจให้แพทย์ พยาบาล และทุกภาคส่วนที่ได้ร่วมกันทำงานอย่างเต็มที่
โฆษกกระทรวงสาธารณสุขยังกล่าวถึงกรณีแรงงานไทยนอกระบบจากประเทศเกาหลีใต้ที่หลบหนีทั้ง 80 รายนั้นได้ติดตามครบทุกคนมีการสร้างความเข้าใจและทุกคนให้ความร่วมมือเป็นอย่างดี ซึ่งกระบวนเดินทางกลับไทยนั้น พี่น้องแรงงานไทยเหล่านี้จะต้องไปรายงานตัว หากพบว่ามีไข้เจ็บป่วยให้รักษาที่ประเทศต้นทาง มีการจัดกลุ่มผู้เดินทางกลับ เมื่อเดินทางถึงไทย จะมีการจัดหลุมจอดเครื่องบินโดยเฉพาะ มีทีมเจ้าหน้าที่สาธารณสุขสำนักงานตรวจคนเข้าเมืองเข้าไปคัดกรองดูแลสุขภาพ หากพบว่ามีไข้จะนำส่งโรงพยาบาลตามขั้นตอนที่กำหนดไว้ สำหรับกลุ่มที่มาจากพื้นที่เสี่ยงจะถูกคัดแยกไปฐานทัพเรือสัตหีบ ซึ่งทีมแพทย์จะให้การดูแลอย่างดีตลอดทั้ง 14 วัน กลุ่มความเสี่ยงน้อยที่ไม่ได้มาจากเมืองแทกูและคยองซัง คณะกรรมการควบคุมโรคติดต่อระดับจังหวัด โดยมีผู้ว่าราชการจังหวัดและทีมแพทย์จะเข้าไปติดตามดูแลในระดับพื้นที่ด้วย โฆษกกระทรวงสาธารณสุขยังย้ำว่า ไทยมีระบบคัดกรองการเดินทางของชาวต่างชาติจากประเทศกลุ่มเสี่ยงไวรัสโควิด-19 อย่างเข้มงวด มีระบบติดตามโดยเจ้าหน้าที่สาธารณสุขและสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง หากพบว่ามีพฤติกรรมท้าทาย ไม่ให้ความร่วมมือ ไม่ปฏิบัติตามมาตรการจะมีการดำเนินคดี ซึ่งโทษจะมีทั้งจำและปรับถึงหลักแสน
พล.ร.ท. วิชัย มนัสศิริวิทยา เจ้ากรมแพทย์ทหารเรือ ได้แถลงต่อสื่อมวลชนถึงกระบวนการ ดูแล และกักตัวแรงงานไทยที่เดินทางกลับจากเกาหลีใต้ จำนวน 188 คน ที่ฐานทัพเรือ สัตหีบ จังหวัดชลบุรี โดยเป็นผู้หญิง 99 คน ผู้ชาย 89 คน ระยะเวลา 14 วัน ว่า มีวิธีการคัดกรองโรคอย่างรัดกุม ภายใต้กรอบแนวคิดการทำงานยึดหลักการใช้บุคลากร ใช้เวลาและใช้พื้นที่ให้สัมผัสกับผู้ที่มีความเสี่ยงให้น้อยที่สุด เน้นความปลอดภัยของชุมชนในพื้นที่ใกล้เคียงกับผู้ปฏิบัติงาน ภายใต้กระบวนการ Incident Command System ตั้งแต่การเตรียมการเปิดศูนย์ จนถึงการรับตัวผู้มีความเสี่ยง โดยให้ความสำคัญต่อการชี้แจงข้อมูลแก่ชุมชนเพื่อสร้างความเข้าใจและความสบายใจ ซึ่งกองทัพเรือจัดแบ่งพื้นที่ทำงานตั้งแต่การเดินทางของผู้ที่มีความเสี่ยงที่จะไม่ใช้เส้นทางผ่านชุมชน ตรวจคัดกรองอย่างเคร่งครัดตั้งแต่ลงรถถึงเข้าอาคารที่พัก โดยกองทัพเรือได้ดูแลความสะดวกสบายทั้งทางกายและสุขภาพจิตเพื่อคลายความกังวลของผู้ที่มีความเสี่ยงด้วย นอกจากนี้ กองทัพเรือยังเน้นการกำจัดขยะที่มีความเสี่ยงจะติดเชื้ออย่างถูกต้องตามหลักการแพทย์ พร้อมทั้งยังจะได้นำนวัตกรรมหุ่นยนต์บริการทางแพทย์ผ่านเครือข่าย 5G เพื่อยกระดับการทำงานของแพทย์อีกด้วย
นายสมคิด จันทมฤก รองปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวถึงการติดตามดูแลผู้ที่เดินทางกลับมาจากประเทศกลุ่มเสี่ยงว่า ทุกจังหวัดได้เตรียมสถานที่รองรับไว้พร้อมแล้วทั่วประเทศจำนวน 232 แห่ง ตามมาตรฐานที่กรมควบคุมโรคกำหนด กระทรวงมหาดไทยรับผิดชอบกลุ่มที่มีความเสี่ยงต่ำ ซึ่งเป็นผู้ที่มีสุขภาพเป็นปกติ โดยประสานกระทรวงคมนาคมจัดรถโดยสารมารับจากสนามบินโดยเฉพาะ เพื่อนำส่งตามภูมิลำเนา ระหว่างการนำส่งจะไม่มีการแวะพัก เมื่อถึงพื้นที่ก็จะเข้าสู่กระบวนการดูแล โดยมีคณะกรรมการโรคติดต่อระดับจังหวัดเป็นผู้พิจารณาความเหมาะสม โดยมีกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน อสม.ช่วยกันสอดส่องดูแลในแต่ละพื้นที่ด้วย นายสมคิด ได้กล่าวถึงงบประมาณ 225 ล้านบาท สำหรับการผลิตหน้ากากอนามัยแบบผ้า ได้จัดสรรงบประมาณให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นแล้ว และได้มีการฝึกอบรมเจ้าหน้าที่ให้สามารถผลิตหน้ากากผ้าใช้เองตามมาตรฐานที่กระทรวงสาธารณสุขกำหนด เป้าหมายต้องการแจกจ่ายแก่ประชาชนในท้องถิ่นให้ทั่วถึงมากที่สุด
นายวิชัย โภชนกิจ อธิบดีกรมการค้าภายใน โฆษกกระทรวงพาณิชย์ยืนยันว่า จัดสรรหน้ากากอนามัยจำนวน 1,200,000 ชิ้น โดยใช้หลักเกณฑ์ให้ความสำคัญกับกลุ่มโรงพยาบาล สถาบันทางการแพทย์ รวมถึงบุคลากรทางการแพทย์ที่มีความเสี่ยงสูงและผู้ป่วยเป็นหลัก กระทรวงสาธารณสุขจะได้รับ 700,000 ชิ้นต่อวัน โดยองค์การอาหารและยา องค์การเภสัชกรรมเป็นผู้ดูแลการกระจายหน้ากากอนามัยให้สถาบันทางการแพทย์ทุกหน่วย ลำดับรอง คือสายการบิน หน่วยงานที่ปฏิบัติหน้าที่ตามสนามบินต่างๆ เพราะมีการสัมผัสกับผู้เดินทาง จากนั้นคือผู้บริโภคทั่วไป กลุ่มชุมชนเมือง โดยจัดสรรผ่านร้านสะดวกซื้อ 200,000 ชิ้นต่อวัน ในต่างจังหวัดก็จะจำหน่ายผ่านร้านธงฟ้า จำนวน 150,000 – 200,000 ชิ้นต่อวัน สมาคมร้านขายยา จำนวน 25,000 ชิ้น โดยให้จำหน่าย 1 แพ็คมี 4 ชิ้นในราคา 10 บาท จำกัด 1 คน 1 แพ็ค ผู้ฝ่าฝืนจำหน่ายเกินราคาจะมีโทษจำคุก 5 ปี ปรับ 1 แสนบาท คณะกรรมการฯ จะประชุมเพื่อปรับตัวเลขการจัดสรรหน้ากากอนามัยในแต่ละวัน ให้เหมาะสมต่อความต้องการของแต่ละกลุ่ม ซึ่งกรมการค้าภายในใช้วิธีการบริหารตัวเลขตามความจำเป็น โดยออกคำสั่งไปยังโรงงานผู้ผลิตหน้ากากอนามัย เฉพาะประเภท surgical mask เท่านั้น เพื่อให้โรงงานผู้ผลิตจัดส่งไปยังกลุ่มเป้าหมายโดยตรงต่อไป
ขอบคุณ : กลุ่มประชาสัมพันธ์และเผยแพร่ สำนักโฆษก