ข่าวใหม่อัพเดท » “ฝนหลวงฯ” ร่วมมือกับกองทัพอากาศ ยับยั้งและบรรเทาความรุนแรง ของการเกิดพายุลูกเห็บ หมอกควันไฟป่า

“ฝนหลวงฯ” ร่วมมือกับกองทัพอากาศ ยับยั้งและบรรเทาความรุนแรง ของการเกิดพายุลูกเห็บ หมอกควันไฟป่า

12 มีนาคม 2020
0

“ฝนหลวงฯ” ร่วมมือกับกองทัพอากาศ ยับยั้งและบรรเทาความรุนแรงของการเกิดพายุลูกเห็บ หมอกควันไฟป่า

วันที่ 11 มีนาคม 2563 เวลา 09.30 น.: ร้อยเอก ธรรมมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ มีความห่วงใยประชาชนในเขตพื้นที่ภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ซึ่งจากการติดตามสภาพอากาศในช่วงระยะนี้พบว่าสภาพภูมิอากาศของประเทศไทยตอนบนมีความกดอากาศสูงหรือมวลอากาศเย็นจากประเทศจีนแผ่ลงมาปกคลุมประเทศไทยตอนบนและทะเลจีนใต้ ประกอบกับมีลมใต้และลมตะวันออกเฉียงใต้พัดปกคลุม ลักษณะอากาศแบบนี้จะทำให้บริเวณดังกล่าวมีโอกาสเกิดพายุฤดูร้อนขึ้น โดยมีพายุฝนฟ้าคะนอง ลมกระโชกแรงและอาจทำให้มีลูกเห็บตกได้ในบางพื้นที่ ส่งผลให้เกิดความเสียหายต่อผลผลิตของเกษตรกรได้

จึงมอบหมายให้กรมฝนหลวง​ และการบินเกษตรประสานความร่วมมือกับกองทัพอากาศ ดำเนินการตามแผนยุทธศาสตร์เพิ่มประสิทธิภาพการป้องกันและการแก้ไขปัญหาภัยแล้งและการบรรเทาภัยพิบัติเชิงพื้นที่ด้วยการปฏิบัติการฝนหลวง โดยให้ปฏิบัติงานด้วยความรวดเร็วและต่อเนื่อง ตามตำราฝนหลวงพระราชทานของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพล อดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร

นายสุรสีห์ กิตติมณฑล อธิบดีกรมฝนหลวงและการบินเกษตร ได้กล่าวว่า กรมฝนหลวง​ และการบินเกษตร มีการเปิดปฏิบัติการฝนหลวงประจำปี ตั้งแต่วันที่ 17 กุมภาพันธ์​ 2563​ ที่ผ่านมา เนื่องจากสถานการณ์ภัยแล้งและภัยพิบัติมีความรุนแรง ซึ่งเป็นการปฏิบัติการเร็วกว่าปีก่อนๆ สำหรับการปฏิบัติการยับยั้งพายุลูกเห็บ ได้มีการตั้งหน่วยปฏิบัติการ 3 หน่วย ได้แก่ หน่วยฯ จังหวัดเชียงใหม่ จังหวัดพิษณุโลก และหน่วยฯ จังหวัดอุดรธานี ตั้งแต่วันที่ 17 กุมภาพันธ์–31 พฤษภาคม 2563 โดยใช้เครื่องบินสมรรถนะสูง Super King Air จำนวน 2 ลำ ของกรมฝนหลวงและการบินเกษตร และเครื่องบินโจมตี แบบที่ 7 Alpha Jet จำนวน 2 ลำ ของกองทัพอากาศ

โดยกรมฝนหลวง​ และการบินเกษตร​ ได้ร่วมบูรณากับกองทัพอากาศ ในการสนับสนุนเครื่องบินและพัฒนาพลุซิลเวอร์ไอโอไดด์ ที่ใช้ในการปฏิบัติการซึ่งจะช่วยบรรเทาความรุนแรงและยับยั้งการเกิดพายุลูกเห็บ เพื่อลดความเสียหายแก่ชีวิตและทรัพย์สิน ครอบคลุมพื้นที่ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคกลาง ทั้งนี้ในช่วงเวลาเดียวกัน กรมฝนหลวงและการบินเกษตรได้มีการปฏิบัติการบรรเทาหมอกควันไฟป่าในพื้นที่ภาคเหนือ โดยมีการตั้งหน่วยปฏิบัติการ 2 หน่วย ได้แก่ หน่วยฯ จังหวัดเชียงใหม่ และหน่วยฯ จังหวัดพิษณุโลก ตั้งแต่วันที่ 3 กุมภาพันธ์–30 เมษายน 2563 เพื่อลดความหนาแน่นของหมอกควัน และลดปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM2.5 รวมทั้งการเพิ่มความชุ่มชื้นให้กับพื้นที่ป่าไม้ในพื้นที่ภาคเหนือ

ในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ – เมษายนของทุกปี มักเกิดพายุฤดูร้อน ฝนฟ้าคะนอง ลมกระโชกแรง และมีลูกเห็บตก โดยปรากฏการณ์ลูกเห็บจะเกิดจากการยกตัวของเมฆอย่างรวดเร็วและมีแกนผลึกน้ำแข็งภายในเมฆน้อย ส่งผลให้เกิดผลึกน้ำแข็งขนาดใหญ่ร่วงหล่นลงมาสู่พื้นโดยที่ละลายไม่ทัน สำหรับเทคนิคการปฏิบัติการฝนหลวงเมฆเย็น เพื่อยับยั้งและบรรเทาความรุนแรงของพายุลูกเห็บ จะใช้เครื่องบินสมรรถนะสูง และเข้าถึงเป้าหมายได้อย่างรวดเร็ว

โดยใช้พลุซิลเวอร์ไอโอไดด์เพื่อเพิ่มปริมาณแกนผลึกน้ำแข็งในเมฆเย็นที่มีอุณหภูมิ ต่ำกว่า 0 องศาเซลเซียส ทำให้ลดการเกิดผลึกน้ำแข็งขนาดใหญ่กลายเป็นผลึกน้ำแข็งขนาดเล็กจำนวนมาก ละลายเป็นเม็ดฝนตกลงสู่พื้น และเป็นการเพิ่มปริมาณน้ำฝนที่มากกว่าฝนธรรมชาติ โดยที่ผ่านมาได้ปฏิบัติการ ฝนหลวงทั่วประเทศ ตั้งแต่วันที่ 17 กุมภาพันธ์–8 มีนาคม 2563 ขึ้นบินจำนวน 17 วัน คิดเป็น 222 เที่ยวบิน ใช้สารฝนหลวง 192.15 ตัน และยิงพลุสารซิลเวอร์ไอโอไดด์ จำนวน 51 นัด จังหวัดที่มีรายงานฝนตก 34 จังหวัด และปริมาณน้ำไหลเข้าอ่างกักเก็บน้ำ จำนวน 4.377 ล้าน ลบ.ม.

อย่างไรก็ตาม กรมฝนหลวง​ และการบินเกษตร โดยศูนย์ปฏิบัติการฝนหลวงภาคเหนือ และศูนย์ปฏิบัติการฝนหลวงภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จะติดตามสภาพอากาศและสถานการณ์ภัยพิบัติอย่างใกล้ชิดและต่อเนื่อง ทั้งนี้ สามารถแจ้งข้อมูลและส่งรูปภาพการเกิดลูกเห็บในพื้นที่ เพื่อสนับสนุนข้อมูลแก่การปฏิบัติการยับยั้งและบรรเทาความรุนแรงจากลูกเห็บทาง Facebook : กรมฝนหลวงและการบินเกษตร ศูนย์ปฏิบัติการฝนหลวงภาคเหนือ และศูนย์ปฏิบัติการฝนหลวงภาคตะวันออกเฉียงเหนือ นอกจากนี้สามารถติดตามข้อมูลผลตรวจเรดาร์ทั่วประเทศทางเว็บไซต์กรมฝนหลวงและการบินเกษตร และสามารถติดตามการแจ้งเตือนสภาพอากาศโอกาสเกิดลูกเห็บได้ทางช่องทางต่างๆ ของกรมฝนหลวงและการบินเกษตรเป็นระยะๆ ต่อไป


Cr.#กรมฝนหลวงและการบินเกษตร
สุรเชษฐ​ ศิลา​นนท์​ รายงาน​

error: Content is protected !!