ข่าวใหม่อัพเดท » บทบาททหารหญิงของกองทัพไทย ในภารกิจรักษาสันติภาพ ร่วมกับสหประชาชาติ

บทบาททหารหญิงของกองทัพไทย ในภารกิจรักษาสันติภาพ ร่วมกับสหประชาชาติ

12 มีนาคม 2020
0

บทบาททหารหญิงของกองทัพไทยในภารกิจรักษาสันติภาพร่วมกับสหประชาชาติ

กระทรวงการต่างประเทศ มีหนังสือเรียน ผู้บัญชาการทหารสูงสุด (ผบ.ทสส.) ขอความอนุเคราะห์ให้สื่อมวลชนเข้าถ่ายทำวิดิทัศน์และสัมภาษณ์ ผบ.ทสส. หรือผู้แทน (เจ้ากรมยุทธการทหาร : จก.ยก.ทหาร) รวมถึงนายทหารหญิงรักษาสันติภาพของกองทัพไทย โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเสริมสร้างความตระหนักรู้และยกระดับการสนับสนุนของประชาชนเกี่ยวกับการรักษาสันติภาพของไทย โดยเฉพาะบทบาทของนายทหารหญิงของกองทัพไทย ในการแก้ไขความขัดแย้งและการส่งเสริมสันติภาพที่ยั่งยืนในพื้นที่ต่างๆ เนื่องในวันสตรีสากล (International Women’s Day) วันที่​ 8 มีนาคม

ภาพรวมของกองทัพไทยในการสนับสนุนการส่งเสริมบทบาทของนายทหารหญิงในภารกิจการปฏิบัติการเพื่อสันติภาพ​ กองทัพไทยได้มีส่วนร่วมในปฏิบัติการเพื่อสันติภาพและมนุษยธรรมมาอย่างยาวนาน โดยนับตั้งแต่ประเทศไทยได้เข้าเป็นสมาชิกของสหประชาชาติในปี พ.ศ.2489 กองทัพไทยได้มีบทบาทในการปฏิบัติการเพื่อสันติภาพของสหประชาชาติมาอย่างต่อเนื่อง และยังได้มีส่วนร่วมในการปฏิบัติการด้านมนุษยธรรมเพื่อบรรเทาภัยพิบัติในหลายประเทศ โดยภารกิจเหล่านี้มีความสำคัญและได้ถูกกำหนดให้เป็นหนึ่งในความรับผิดชอบของกองทัพ ซึ่งกำหนดไว้เป็นนโยบายตามลำดับขั้น ตั้งแต่ระดับรัฐบาล กระทรวงกลาโหม ลงมาจนถึงระดับกองทัพไทย

นับจากอดีตจนถึงปัจจุบัน กองทัพไทยได้มีบทบาทสำคัญในการเข้าร่วมและการส่งกำลังพลเข้าปฏิบัติหน้าที่ในการปฏิบัติการเพื่อสันติภาพและเพื่อมนุษยธรรมรวม 23 ภารกิจ ซึ่งกองทัพไทยได้น้อมนำแนวพระราชดำริ “เข้าใจ เข้าถึง พัฒนา” ของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ไปประยุกต์ใช้ในการรักษาความสงบเรียบร้อยในพื้นที่ พร้อมทั้งได้นำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงไปใช้ในการพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนด้วย

ซึ่งจากประสบการณ์ของกองทัพไทยในอดีต วิธีการดังกล่าวสามารถรักษาความสงบเรียบร้อยและแก้ไขปัญหาความขัดแย้งได้อย่างยั่งยืน ซึ่งภารกิจที่กองทัพไทยได้เข้าร่วมในปัจจุบันคือที่ประเทศเซาท์ซูดาน ก็จะได้นำแนวทางดังกล่าวไปใช้ในการปฏิบัติภารกิจด้วยเช่นกัน การเข้าไปมีส่วนร่วมในการปฏิบัติการเพื่อสันติภาพและเพื่อมนุษยธรรมตามที่กล่าว กองทัพไทยได้พัฒนาความร่วมมือด้านความมั่นคงกับทุกภาคส่วน ทั้งกับภาคพลเรือน กับมิตรประเทศ และกับหน่วยงานระหว่างประเทศ ซึ่งนอกจากจะเป็นการพัฒนาประสบการณ์การทำงานร่วมกันแล้ว ยังเป็นการส่งเสริมการพัฒนาขีดความสามารถระหว่างกันอีกด้วย เช่นการฝึกรูปแบบต่างๆ การแลกเปลี่ยนครูและนักเรียนเป็นต้น ได้ช่วยให้เกิดการแลกเปลี่ยนความรู้และประสบการณ์ระหว่างกำลังพลของกองทัพไทยกับกำลังพลจากมิตรประเทศ

จากการที่สหประชาชาติมุ่งให้ความสำคัญอย่างมากในด้านสิทธิมนุษยชน การพิทักษ์และปกป้องพลเรือน สตรี​ และเด็กๆ ที่ได้รับผลกระทบจากความขัดแย้ง ด้วยเหตุนี้จึงมีการกำหนดเป็นนโยบายส่งเสริมให้มีการเพิ่มจำนวนเจ้าหน้าที่รักษาสันติภาพหญิงมากยิ่งขึ้น และกำหนดเป็นมาตรการบังคับให้ประเทศต่างๆ ที่ส่งกำลังไปปฏิบัติหน้าที่ฝ่ายอำนวยการและผู้สังเกตการณ์ทางทหารของสหประชาชาติ​ ต้องพิจารณาจัดสรรนายทหารหญิงไม่น้อยกว่าร้อยละ 15 ซึ่งมาตรการดังกล่าวได้สร้างความท้าทายและส่งผลกระทบต่อประเทศไทย จึงต้องมีแนวทางที่ชัดเจนในการเสริมสร้างบทบาทของทหารหญิงไทย ทั้งในลักษณะเป็นบุคคลและแบบเป็นหน่วยในการสนับสนุนการปฏิบัติภารกิจรักษาสันติภาพของสหประชาชาติ

ดังนั้นกองทัพไทยจึงได้มีนโยบายและแนวทางสอดคล้องตามที่สหประชาชาติกำหนดให้เป็นมาตรฐานเพื่อตอบรับต่อการเปลี่ยนแปลง เพื่อให้ทหารหญิงของไทยมีคุณสมบัติเป็นไปตามที่สหประชาชาติกำหนด และมีจำนวนที่เพียงพอต่อการสนับสนุนภารกิจในอนาคตได้ โดยในปี พุทธศักราช 2562 มีกำลังทหารเข้าร่วมภารกิจรักษาสันติภาพแบบเป็นบุคล เป็นนายทหารหญิง คิดเป็นมากกว่าร้อยละ25 ซึ่งสูงกว่าหลักเกณฑ์ที่สหประชาชาติกำหนดไว้ในแนวทางการการพิจารณาจัดสรรนายทหารหญิงในตำแหน่งฝ่ายอำนวยการ และผู้สังเกตการณ์ทางทหารของสหประชาชาติ

นอกจากนี้ การสร้างความตระหนักรู้ถึงความสำคัญและความจำเป็นในการส่งเสริมให้ทหารหญิงเข้าร่วมในภารกิจมากขึ้น จะช่วยสร้างแรงจูงใจให้กับทหารหญิงของกองทัพไทย และเป็นการเตรียมความพร้อมให้ทหารชายสามารถปฏิบัติงานร่วมกับทหารหญิงได้อย่างมีประสิทธิภาพอีกด้วย เพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ดังกล่าว กองบัญชาการกองทัพไทยได้เริ่มดำเนินมาตรการดังนี้ คือ สร้างความเข้าใจให้กับหน่วยงานเกี่ยวกับข้อมติคณะมนตรีความมั่นคงที่ 1325 และนโยบายของสหประชาชาติที่เกี่ยวกับความเสมอภาคทางเพศในภารกิจรักษาสันติภาพ และนำเนื้อหามาปรับใช้ในหน่วยงานโดยบรรจุไว้ในแผนพัฒนาศักยภาพกองทัพไทย

โดยสนับสนุนให้ทหารหญิงเข้าร่วมในงานสัมมนา หรือการประชุมเชิงปฏิบัติการที่เกี่ยวข้องกับวาระสตรี สันติภาพ และความมั่นคง เพื่อเป็นการผลักดันให้ทหารหญิงมีส่วนร่วมในกระบวนการด้านสันติภาพมากขึ้น รวมถึงบรรจุหัวข้อเกี่ยวกับความตระหนักรู้ด้านเพศเข้าไปในหลักสูตรการฝึกอบรมเกี่ยวกับสันติภาพและหลักสูตรตามแนวทางการรับราชการของกองทัพไทย การพัฒนาเครือข่ายทหารหญิงทั้งที่ผ่านการปฏิบัติภารกิจมาแล้วและที่มีความสนใจไปปฏิบัติภารกิจในอนาคต เพื่อเป็นการแลกเปลี่ยนข้อมูลและช่วยสร้างแรงบันดาลใจ​

การส่งเสริมบทบาททหารหญิงของกองทัพไทยให้มีความพร้อมและมีศักยภาพในการเข้าร่วมปฏิบัติภารกิจการปฏิบัติการเพื่อสันติภาพร่วมกับสหประชาชาติกองทัพไทยจะให้การสนับสนุนสหประชาชาติในการพัฒนาขีดความสามารถของเจ้าหน้าที่รักษาสันติภาพ เพิ่มมากขึ้นจากที่ได้ดำเนินการอยู่แล้ว เช่น การเปิดโอกาสให้นายทหารหญิงได้เข้ารับการศึกษาในหลักสูตรเสนาธิการร่วมของกองบัญชาการกองทัพไทยในปีนี้เป็นครั้งแรก ซึ่งนับได้ว่าเป็นการส่งเสริมบทบาทของนายทหารหญิงให้มีความรู้ความสามารถในการเป็นฝ่ายอำนวยการของกองทัพไทยได้เทียบเท่ากับนายทหารชายเมื่อจบการศึกษาจากหลักสูตรดังกล่าว

ซึ่งจะสามารถต่อยอดในการเข้าไปปฏิบัติหน้าที่ในภารกิจรักษาสันติภาพในการเป็นฝ่ายอำนวยการของสหประชาชาติได้มากขึ้นด้วย รวมไปถึงยังสามารถสมัครเข้ารับการคัดเลือกในตำแหน่งสำคัญๆ ในสำนักงานใหญ่สหประชาชาติได้อีกด้วย โดยที่ผ่านมานายทหารหญิงของกองทัพไทยไม่สามารถสมัครเข้ารับการคัดเลือกได้เนื่องจากขาดคุณสมบัติของการไม่ผ่านหลักสูตรเสนาธิการทหาร​ การส่งเสริมให้ทหารหญิงของกองทัพไทยเข้าร่วมในการปฏิบัติการเพื่อสันติภาพก็เป็นอีกหนึ่งเรื่องที่เราให้ความสำคัญ ซึ่งได้กำหนดไว้เป็นนโยบายของผู้บัญชาการทหารสูงสุด ให้มีการส่งเสริมบทบาทของทหารหญิงด้านการรักษาสันติภาพ

ในปัจจุบันประเทศไทยมีสัดส่วนของนายทหารหญิงมากกว่าร้อยละ 25 ของนายทหารทั้งหมดที่ส่งไปปฏิบัติหน้าที่ฝ่ายอำนวยการและผู้สังเกตการณ์ทางทหาร ในอนาคตเราก็จะดำเนินการให้ ทหารหญิงได้มีส่วนร่วมในการรักษาสันติภาพมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะในกองกำลังรักษาสันติภาพของไทย ทหารหญิงไทยนั้นมีขีดความสามารถและบทบาทเป็นที่ยอมรับในเวทีสากล โดยกองทัพไทยได้มีการเตรียมพร้อมในการสนับสนุนการปฏิบัติภารกิจรักษาสันติภาพตามแนวนโยบายของสหประชาชาติที่เปลี่ยนแปลงไป

ด้วยการกำหนดเป็นยุทธศาสตร์หรือแผนปฏิบัติการที่ครอบคลุมในการเสริมสร้างและพัฒนาขีดความสามารถของกำลังรักษาสันติภาพหญิงและพร้อมดำเนินการเชิงรุกอย่างจริงจัง เพื่อสามารถขับเคลื่อนบทบาทการรักษาสันติภาพของกองทัพไทยได้อย่างมีประสิทธิภาพท่ามกลางความท้าทายในหลากหลายมิติและที่สำคัญสามารถตอบสนองต่อยุทธศาสตร์ชาติด้านความมั่นคงในกรอบยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี เพื่อผลประโยชน์สูงสุดของประเทศชาติต่อไป


สุรเชษฐ​ ศิลา​นนท์​ รายงาน​

error: Content is protected !!