นายกฯ ย้ำยกระดับมาตรการเพื่อเพิ่มความเข้มข้นการรับมือโควิด-19 ขอให้ประชาชนมั่นใจการบริหารจัดการของรัฐบาล
ณ ห้องสีเขียว ตึกไทยคู่ฟ้า ทำเนียบรัฐบาล พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม พร้อมด้วยด้วย นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข พลเอก อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย นายดอน ปรมัตถ์วินัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม พลเอก ชัยชาญ ช้างมงคล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงกลาโหม นายดิสทัต โหตระกิตย์ เลขาธิการนายกรัฐมนตรี และ นพ.สุขุม กาญจนพิมาย ปลัดกระทรวงสาธารณสุข แถลงต่อสื่อมวลชนถึงการยกระดับความเข้มข้นของมาตรการต่างๆ เพื่อสกัดการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด – 19) รวมทั้งระบบการเฝ้าระวังประชาชนที่เดินทางมาจากประเทศกลุ่มเสี่ยง ดังนี้
นายกรัฐมนตรียืนยันว่า รัฐบาลมีการประชุมประเมินสถานการณ์ทุกวัน เพื่อออกมาตรการให้สอดคล้องกับสถานการณ์ที่พัฒนาแปรเปลี่ยนไปทุกขณะ โดยเฉพาะมาตรการคัดกรองจะเริ่มเข้มข้นตั้งแต่ประเทศต้นทาง จนถึงขั้นตอนการเดินทางถึงประเทศไทย โดยหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพิ่มความเข้มข้น ในการคัดกรองอย่างเต็มประสิทธิภาพ ทั้งอุปกรณ์และเจ้าหน้าที่ โดยจะตรวจเข้มทุกช่องทางการเดินทางเข้าสู่ประเทศไทย และหากพบว่ามีไข้ จะถูกส่งไปยังสถานพยาบาลทันที จากนั้น ประชาชนที่เดินทางจากประเทศกลุ่มเสี่ยงเมื่อผ่านการคัดกรองแล้ว กระทรวงคมนาคมจะจัดรถไปส่งโดยควบคุมอย่างเคร่งครัด ณ ที่พักที่ภูมิลำเนา เพื่อเข้ามาตรการของรัฐในการกักกันที่ภูมิลำเนา (State Monitored Home Quarantine) ภายใต้ความรับผิดชอบของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ กระทรวงคมนาคม สาธารณสุข และมหาดไทย สำหรับการยกระดับมาตรการควบคุมป้องกัน ณ ที่พักที่ภูมิลำเนา (State Monitored Home Quarantine) เจ้าพนักงานเจ้าหน้าที่ที่ได้รับการมอบหมายหน้าที่ตามกฎหมาย จะเป็นผู้ตรวจสอบ กำกับ ติดตาม ผู้ที่ต้องเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิด ห้ามมิให้ผู้ถูกกักกันออกนอกสถานกักตัว หากผู้ใดฝ่าฝืน ละเมิดจะมีโทษตามที่กฎหมายกำหนด นอกจากนี้ จะมีการใช้เทคโนโลยีและแอพลิเคชั่นในการติดตาม ควบคุมควบคู่กับการติดตามการเฝ้าระวังของชุมชน ซึ่งมาตรการทั้งหมดนี้เป็นไปตามมาตรฐานสากล ทั้งนี้ เหตุผลอีกประการก็เพื่อป้องกันและแก้ปัญหาการแพร่ระบาด ติดต่อกัน หากนำผู้ที่เดินทางจากประเทศกลุ่มเสี่ยงมาอยู่รวมกันจำนวนมาก เช่น กรณีเรือสำราญ Diamond Princess ที่มีคนติดเชื้อจำนวนมาก รวมทั้ง จะมีกระบวนการ ให้ความรู้ ความเข้าใจแก่ประชาชนในพื้นที่
ทั้งนี้ สำหรับศูนย์เฝ้าระวังที่รัฐบาลตั้งขึ้น หรือ State Quarantine ที่ฐานทัพเรือสัตหีบ ที่ขณะนี้ได้มีการเฝ้าระวังผู้ที่เดินทางกลับจากประเทศเกาหลีใต้ ยังคงเปิดใช้ และยังมีกลุ่มเฝ้าระวังอยู่ในศูนย์ฯ และต่อไปจะใช้สำหรับผู้ที่มีปัญหาในระบบการคัดกรอง และไม่สามารถไปกักกันเฝ้าระวังที่ภูมิลำเนาได้ หรือกรณีอื่นๆที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต เช่น คนไทยจะกลับมาจากประเทศหนึ่ง แต่ไม่สามารถ เช่น ปัญหาการขอใบรับรองแพทย์ ที่ไม่มีแล้วหลุดลอดออกเดินทางมาได้ หรือไม่ผ่านการคัดกรองจากต้นทางมาอย่างครบขั้นตอน ช่วงรอให้ระบบควบคุมป้องกันที่ภูมิลำเนาพร้อม รวมถึงกรณีอื่นๆ ที่อาจเกิดขึ้น ซึ่งศูนย์ฯนี้จะได้มีไว้เพื่อพร้อมรองรับกลุ่มดังกล่าว
โดยนายกรัฐมนตรีได้มอบหมายให้กระทรวงการต่างประเทศทำความเข้าใจกับประเทศต้นทาง เพื่อให้เข้าใจถึงมาตรการของไทยซึ่งจำเป็นต้องดำเนินการเพื่อเตรียมความพร้อม โดยต่อจากนี้ การเดินทางเข้าประเทศไทยจะมีขั้นตอนเพิ่มขึ้น อาทิ ต้องแสดงหนังสือรับรองทางการแพทย์เพื่อยืนยันก่อนการเดินทาง และจะประกาศยกเลิก Visa on Arrival ใน 17 ประเทศ 1 เขตเศรษฐกิจ รวมทั้ง การยกเลิกการยกเว้นการตรวจลงตรา ของประเทศมีความเสี่ยงสูง ได้แก่ เกาหลีใต้ ฮ่องกง และอิตาลี (กรณี อิหร่าน สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงเตหะราน ได้ระงับการรับคำร้องขอรับการตรวจลงตราเป็นการชั่วคราว ตั้งแต่วันที่ 9 มีนาคม 2563 จนกว่าสถานการณ์จะกลับสู่สภาวะปกติ) เพื่อให้ผู้เดินทางต้องผ่านขั้นตอนการขอตรวจลงตราที่สถานเอกอัครราชทูต หรือสถานกงสุลใหญ่ เพื่อเพิ่มการคัดกรอง ควบคุมสถานการณ์ สกัดกั้นไม่ให้ประเทศไทยเข้าสู่ระยะที่ 3 ของการแพร่ระบาดโรค โควิด-19
ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรีย้ำชัด ถึงการทำงานของรัฐบาลในทุกขั้นตอนว่าเป็นการทำงานตามขั้นตอนมีกฎหมายรองรับ และเป็นมาตรการชั่วคราว ซึ่งจะพิจารณายกเลิกเมื่อสถานการณ์ดีขึ้น
โอกาสนี้ พลเอก อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ได้กล่าวว่ามาตรการที่ได้ร่วมพิจารณาผ่านที่ประชุมนี้จะเพิ่มประสิทธิภาพในการเฝ้าระวังที่ภูมิลำเนา จะมีการแต่งตั้งผู้ช่วยเจ้าพนักงานเพิ่มเติม โดยจะเป็นบุคคลากรจากกระทรวงสาธารณสุข มหาดไทย เจ้าหน้าที่ทหาร และเจ้าหน้าที่ตำรวจ และจะกำหนดบทลงโทษหากมีการฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตาม กรณีชาวต่างชาติจากประเทศกลุ่มเสี่ยงที่เดินทางเข้ามายังประเทศไทย หากว่าผ่านการคัดกรองแล้วมีไข้ จะถูกส่งไปยังสถานพยาบาล และหากไม่มีไข้รัฐบาลจะจัดพื้นที่ในการเฝ้าระวังบริเวณโรงแรมใกล้สนามบินสุวรรณภูมิ และหากชาวต่างชาติประสงค์เดินทางกลับประเทศของก่อน 14 วัน ก็ดำเนินการได้ แต่จะไม่ยินยอมให้เดินทางออกจากสถานที่เฝ้าระวังหากยังไม่ครบขั้นตอนเฝ้าระวัง 14 วัน
กระทรวงสาธารณสุข โดยรัฐมนตรีว่าการฯ และปลัดกระทรวงฯ ได้แจ้งเพิ่มเติมในการดำเนินการว่า การออกกฎหมายเพิ่มผู้ช่วยเจ้าพนักงานเป็นไปตามมาตรา 4 และ 5 ของพระราชบัญญัติ โรคติดต่อ พ.ศ. 2558 และกระทรวงสาธารณสุขขอให้มั่นใจว่าการดำเนินการของไทยเป็นไปตามมาตรฐานสากล ตั้งแต่การตรวจคัดกรองจากสนามบินผ่านเทอร์โมสแกน (Thermo Scan) 3 จุด และในส่วนของการเฝ้าระวังที่บ้านจะมีเจ้าหน้าที่สาธารณสุข และทีมงานของกระทรวงมหาดไทยดูแลซึ่งเป้าหมายคือสุขภาพของประชาชน และการให้ความรู้คนในครอบครัว และคนในท้องถิ่น เมื่อครบเวลา 14 วัน แล้วก็จะต้องดูแลสุขภาพต่อไป
นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม กล่าวว่ากระทรวงคมนาคมทำงานร่วมกับหลายหน่วยงาน โดยระบบขนส่งที่จะส่งผู้เดินทางเข้าประเทศไปคัดกรองยังภูมิภาคได้มีการกำหนดจุดส่ง และรับ จากการทำงานที่ผ่านมาขอให้มั่นใจเพราะสถิติการเกิดโรคของไทยมีจำนวนไม่มาก มีการป้องกันสูง
ด้านนายชาตรี อรรจนานันท์ อธิบดีกรมการกงสุล กระทรวงการต่างประเทศได้ชี้แจงเพิ่มเติมว่า การคัดกรองของไทยสำหรับผู้เดินทางจากประเทศกลุ่มเสี่ยงและประเทศอื่นๆที่มีการระบาดนั้น มีมาตรการที่สำคัญถึง 3 ขั้นตอน คือ 1. คัดกรองที่สถานเอกอัครราชทูต หรือสถานกงสุล ในการดำเนินการเพื่อขอตรวจลงตราเดินทางเข้ามายังประเทศไทย 2. การแสดงใบรับรองแพทย์เมื่อมีการเดินทางจากพื้นที่เสี่ยงก่อนการเดินทางขึ้นเครื่อง และ 3. มาตรการในประเทศที่คัดกรองที่สนามบิน และเฝ้าระวังผู้โดยสารขาเข้า 14 วัน
ทั้งนี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยขอให้สื่อมวลชนช่วยชี้แจงด้วยว่า คนไทยทุกคนมีสิทธิขั้นพื้นฐานในการอาศัยในแผ่นดินไทย จึงขอให้พี่น้องชาวไทยทุกคนทำความเข้าใจ ช่วยดูแลกัน และขั้นตอนทั้งสิ้นที่กล่าวมานี้ เป็นเพียงมาตรการชั่วคราว จะยกเลิกเมื่อสถานการณ์คลี่คลายต่อไป