เมื่อสถานการณ์โรคระบาด COVID-19 จะจบลง สิ่งที่ทุกภาคส่วนต้องปรับตัว เพื่อรับมือกับภยันตรายใหม่ๆที่จะคลืบคลานเข้ามาเรื่อยๆ เช่น ภัยธรรมชาติ เป็นสิ่งที่อยู่นอกเหนือการควบคุม สงครามทุกมิติทั้งในด้านเศรษฐกิจและการใช้กำลังทางทหาร รวมถึงการใช้อาวุธชีวภาพและใช้เทคโนโลยีล้ำยุคทำลายล้าง
สิ่งเหล่านี้ภาครัฐและทุกหน่วยงานต้องร่วมประชุมหาแนวทางป้องกันและเตรียมมาตรการแต่ละระดับมารองรับเมื่อสถานการณ์เกิดขึ้น ซึ่งการรักษาชีวิตและสุขภาพของพลเมืองในแต่ละประเทศของตนเป็นเรื่องที่สำคัญลำดับแรก ทั้งในเรื่องเศรษฐกิจ โดยเฉพาะ SME และผู้ที่ทำงานหาเช้าชามเย็นชาม
รัฐและหน่วยงานราชการที่เป็นยุคใหม่จะต้องคิดทบทวนข้อผิดพลาด การข่าว การกรองข้อมูล ความเห็นของประชาชน และความพร้อมรับมือหากเกิดวิกฤตใหม่ขึ้นมาอีกในไม่ช้าก็เร็ว การวางแผนวางมาตรการช่วยเหลือทุกอย่างต้องทำการบ้านรอไว้ดีกว่ามาแก้ปัญหาช่วงเหตุการณ์ล่วงเลยมาสักพักแล้ว ซึ่งบางครั้งก็สายเกินกว่าจะแก้ไข หรือได้รับผลกระทบหนักกว่าที่ควรจะเป็น
อย่างกรณีปัจจุบันในเรื่องยกเลิกการใช้เงินสด เหรียญและธนบัตรหยิบจับที่เสมือนเป็นเครื่องมือที่ช่วยในการแพร่กระจายของโรคได้ง่ายขึ้น มาเป็นการจ่ายเงินผ่านระบบดิจิตอล จ่ายด้วยการสแกน QR CODE ถึงเวลาที่ภาครัฐต้องวางระบบและพัฒนาด้านเทคโนโลยีให้สังคมถึงขีดสุดที่ไม่จำเป็นต้องใช้จ่ายในรูปเงินสดอีกต่อไป และวางระบบการป้องกันด้านเทคโนโลยีขั้นสูงสุด เพื่อความเชื่อมั่นปลอดภัยและผลต่อความมั่นคงของประเทศ
ทั้งนี้ไม่ต้องจินตนาการไปไกล เพียงศึกษารูปแบบจากประเทศจีนที่เป็นต้นแบบของสังคมไร้เงินสดแล้วว่า เค้ามีการใช้เทคโนโลยีใดมาพัฒนา การส่งเสริมของภาครัฐแบบไหน การลงทุนของภาคเอกชนโดยมีรัฐคอยกำกับในบางเรื่องที่จำเป็นเท่านั้น และปล่อยให้เอกชนทำงานพัฒนา มีรัฐคอยเป็นลูกพี่ดูแลปกป้อง อย่างที่เห็นได้ชัด คือ HUAWEI, WECHAT, ALIBABA โดยเฉพาะ WECHAT ที่ประชาชนคนจีนขาดไม่ได้
เพราะทุกสิ่งอย่างก็จ่ายผ่าน WECHAT หรือ ALIBABA ก็จ่ายผ่านแพลทฟอร์ม ALIPAY ซึ่งที่เรียกว่า SOCIAL BANKING ที่ประเทศไทยเรายังห่างไกลและสิ่งที่น่าเสียดายที่ประเทศเรายังไม่มีโอกาสสร้างบริษัท START UP ของไทยให้ได้เป็นบริษัทชั้นนำเลย
หรือภาษาง่ายๆที่เรียกว่า ยูนิคอร์น อย่างเช่น กรณี GRAB, GET!, LINEMAN บริษัทเหล่านี้ที่ได้ให้การบริการและความสะดวกแก่ผู้ใช้ในการรับส่งอาหารถึงหน้าประตูบ้าน โดยยอดการใช้บริการเพิ่มขึ้นสูงเป็นเท่าตัวในช่วงวิกฤตนี้ แต่ทั้ง 3 บริษัทดันไม่ใช่ของคนไทยเลย ภาษีก็ไม่ได้เข้าเต็มเม็ดเต็มหน่วย
เรื่องนี้จะมีทางออก 2 ทาง คือ ผลักดันให้มีการจัดเก็บภาษีโดยผ่านระบบ(อาจใช้เวลานาน) หรือส่งเสริมคนไทย ภาครัฐลงทุนร่วมกับภาคเอกชนของไทยให้เกิดขึ้น เพื่อจะเกิดการแข่งขันและมีรายได้เข้ารัฐมากกว่าที่ควรจะเป็น และโดยเฉพาะข้อมูลส่วนบุคคลและพฤติกรรม เราก็ไม่เคยจะมีข้อมูล (DATA) ที่เป็นของคนไทยเองเลย มีแต่ให้ต่างชาติมาเก็บข้อมูลของคนในประเทศเรามากกว่า
เพราะอนาคตสิ่งที่มีค่าเสมือนน้ำมันที่จะกลายเป็นอดีต มันก็คือ “DATA” หรือข้อมูล ซึ่งมันคือข้อมูลและการรู้พฤติกรรมของคนในประเทศมาประมวลผลผ่านกระบวนการการใช้เทคโนโลยี AI หรือที่เรียกว่า ปัญญาประดิษฐ์ มาวิเคราะห์เพื่อรู้ว่าคนนี้ต้องการอะไร เมื่อไหร่ สิ่งไหน รู้มากกว่าที่ตัวเราเองจะรู้ซะอีก
โดย ดร.ธเนษฐ เศรษฐาวาณิช