รัฐบาลย้ำสินค้าอุปโภคบริโภคเพียงพอ วอนประชาชนอย่าตื่นตระหนกปฏิบัติตนตามคำแนะนำของกระทรวงสาธารณสุข
เมื่อวันที่ (18 มี.ค. 2563) เวลา 14.00 น. ณ ศูนย์แถลงข่าวรัฐบาล COVID-19 ตึกนารีสโมสร ทำเนียบรัฐบาล นายเทวัญ ลิปตพัลลภ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์ข้อมูลมาตรการแก้ไขปัญหาจากโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19 รองศาสตราจารย์จักษ์ พันธ์ชูเพชร ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ศาสตรา…จารย์ นฤมล ภิณโยสินวัฒน์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี พล.ต.ท. โสภณ พิสุทธิวงษ์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดกรุงเทพมหานคร และนายแพทย์รุ่งเรือง กิจผาติ โฆษกกระทรวงสาธารณสุข แถลงสถานการณ์และมาตรการเฝ้าระวังการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19
รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรียืนยันว่า 6 มาตรการควบคุมการระบาดของไวรัสโคโรนา 2019 ไม่ใช่มาตรการปิดกรุงเทพมหานคร ปิดเมืองหรือปิดประเทศ แต่เน้นมาตรการป้องกันและสกัดกั้นการนำเชื้อเข้าสู่ประเทศไทย ชะลอการระบาดในประเทศ เพื่อสกัดกั้นการแพร่กระจายในประเทศให้ได้มากที่สุด หากชาวต่างชาติที่เดินทางเข้ามายังประเทศไทยต้องมีใบรับรองแพทย์อายุไม่เกิน 3 วัน ประกันสุขภาพ ยินยอมใช้ Application ติดตามของรัฐ โดยใช้กับการเข้าเมืองทุกช่องทางทั้งทางบก-น้ำ-อากาศ ซึ่งมาตรการต่าง ๆ อาจส่งผลกระทบต่อชีวิตประจำวันของประชาชนโดยตรง เมื่อสถานการณ์โรคบรรเทาลงแล้ว สามารถจะกลับมาใช้ชีวิตตามปกติ ทั้งนี้ ขอให้ติดตามศูนย์แถลงข่าวรัฐบาล COVID-19 ซึ่งจะนำผลการดำเนินงานมาตรการต่าง ๆ มารายงานให้กับประชาชนรับทราบอย่างต่อเนื่อง
โอกาสนี้ นายแพทย์รุ่งเรือง กิจผาติ โฆษกกระทรวงสาธารณสุขรายงานสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด – 19 ทั่วโลกว่า มี 161 ประเทศที่มีการแพร่ระบาด จำนวนผู้ติดเชื้อทั้งหมด 198,152 ราย มีแนวโน้มการเพิ่มขึ้นอย่างคงตัว จำนวนผู้ป่วยอาการหนักอยู่เพียงร้อยละ 3.4 เท่านั้น ขณะนี้จำนวนผู้ป่วยของประเทศจีนลดลงอย่างต่อเนื่อง สำหรับประเทศไทยวันนี้พบมีจำนวนผู้ป่วยเพิ่มขึ้น 35 ราย แบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม คือ กลุ่มแรก ผู้ป่วยที่ใกล้สัมผัส ชิดกับผู้ป่วยเดิมจำนวน 29 ราย และ กลุ่มสอง คือ กลุ่มผู้ป่วยใหม่ 7 คน โดยหนึ่งในนั้นเป็นผู้ป่วยที่เพิ่งเดินทางกลับจากต่างประเทศ ทั้งนี้ ไทยมีระบบการคัดกรองโรคที่เข้มข้นทั้งทางบก ทางน้ำ ทางอากาศ รวมถึงเพิ่มความรัดกุมในการคัดกรองที่สนามบิน โรงพยาบาล และในชุมชนอีกด้วย ดังนั้น จึงขอให้ประชาชนทุกคนเสียสละเพื่อส่วนร่วม หากพบว่าตนเองมีอาการสุ่มเสี่ยงให้สังเกตอาการตัวเองอยู่ที่บ้านเป็นเวลา 14 วัน หลีกเลี่ยงที่ชุมชนเพื่อลดการแพร่ระบาดในวงกว้าง เปลี่ยนความกลัวเป็นความรู้ และพฤติกรรมที่ดี ร่วมกันรับผิดชอบต่อสังคม ซึ่งรัฐบาลพร้อมยกระดับมาตรการให้สอดคล้องกับสถานการณ์อยู่เสมอ
พล.ต.ท.โสภณ พิสุทธิวงษ์ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครแถลงถึงมาตรการลดความรุนแรงของการแพร่ระบาดในกรุงเทพมหานครและปริมณฑล โดยได้ดำเนินการปิดสถานที่เสี่ยงเป็นเวลา 14 วัน (ตั้งแต่ 18 – 31 มีนาคม 2563) ได้แก่ 1.) สถานประกอบกิจการอาบ อบ นวด เว้นแต่การให้บริการดังกล่าวในสถานพยาบาล 2.) สถานประกอบกิจการอาบน้ำ อบไอน้ำ อบสมุนไพร (ซาวน่า) 3.) สถานประกอบกิจการมหรสพ (โรงภาพยนตร์ โรงละคร) 4.) ฟิตเนส 5.) สถานบริการและสถานประกอบการที่คล้ายสถานบริการ เช่น สถานที่จำหน่ายอาหารและสุรา มีการแสดงดนตรี เป็นต้น สำหรับร้านอาหารทั่วไปยังเปิดได้ตามปกติ 6.) สนามมวย 7.) สนามกีฬา ส่วนที่เป็นที่โล่งแจ้งไม่มีการแออัดใกล้ชิดของผู้คนสามารถออกกำลังกายได้ตามปกติ โดยขอให้ปิดสนามกีฬาในร่มเพื่อลดโอกาสในการแพร่กระจายของสารคัดหลั่ง และ 8.) สนามม้า จากนี้ กรุงเทพมหานครจะได้มีมาตรการเยียวยาช่วยเหลือบรรเทาผลกระทบให้กับพี่น้องที่ทำงานภาคบริการต่าง ๆ อาทิ การปรับลดค่าเช่าในตลาดลงร้อยละ 25 เป็นเวลา 4 เดือน และการยืดเวลาทรัพย์หลุดจำนำให้เป็นเวลา 8 เดือน
จากนั้น โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวย้ำมาตรการ 6 ด้านที่นายกรัฐมนตรีได้แถลงไปเมื่อวานนี้ ทั้งติดตามสถานการณ์ทั้งในประเทศและต่างประเทศอย่างต่อเนื่องและเข้มงวด งดหรือเลื่อน การจัดคอนเสิร์ต การแข่งขันกีฬา หรือกิจกรรมทางศาสนา หากจำเป็นต้องจัดให้เป็นไปตามมาตรฐานของกระทรวงสาธารณสุข และให้เลื่อนวันหยุดยาวเทศกาลสงกรานต์ เพื่อลดการแพร่กระจายของโรคออกสู่ต่างจังหวัด เนื่องจากขณะนี้การค้นพบผู้ติดเชื้อส่วนใหญ่ยังอยู่ในกรุงเทพฯ และปริมณฑล ขอให้ประชาชน ภาคเอกชน หรือหน่วยงานต่าง ๆ งดการเคลื่อนย้ายคนจำนวนมาก ออกจากกรุงเทพฯ และปริมณฑล เพื่อจะได้สามารถควบคุมการกระจายของโรคได้ ยืนยันยังไม่มีการปิดกรุงเทพฯ รัฐบาลมีความพร้อมในการยกระดับแต่ก็คำนึงถึงผู้ที่จะได้รับผลกระทบด้วย โดยจะดูแลให้ครบถ้วนมีมาตรการรองรับต่อไป เพราะนายกรัฐมนตรีห่วงใยและย้ำอยู่เสมอว่าความปลอดภัยของพี่น้องประชาชนต้องมาเป็นหัวใจสำคัญ
จากนั้น รศ.ดร. จักษ์ พันธ์ชูเพชร ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน กล่าวถึงสถานการณ์การแพร่ระบาดเชื้อไวรัสโควิด 19 ที่เกิดขึ้น ส่งผลให้แรงงานและนายจ้างเดินทางไปต่อใบอนุญาตการทำงานที่ศูนย์บริการเบ็ดเสร็จเป็นจำนวนมาก เพื่อลดการแพร่กระจายของเชื้อไวรัสโควิด 19 กระทรวงแรงงานได้มีการปรับปรุงรูปแบบการให้บริการในการต่อใบอนุญาตทำงาน ศูนย์บริการเบ็ดเสร็จ (One Stop Service : OSS) ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร จากเดิม 4 แห่ง คือ 1. ห้างสรรพสินค้า ไอที สแควร์ 2. ห้างสรรพสินค้ายู อมูเลทพลาซ่าเพชรเกษมฯ ถนนเพชรเกษม 3. ห้างสรรพสินค้านัมเบอร์วัน พลาซ่า บางนา และ 4. ตลาดสดสี่แยกหนองจอก โดยได้มีการแบ่งกลุ่มแรงงานออกเป็น 3 กลุ่ม คือ 1. กลุ่มผู้ที่ดำเนินการเรียบร้อยแล้ว 2. กลุ่มที่ได้มีการยื่นรายชื่อแล้ว ให้นายจ้างนำลูกจ้างไปลงตราวีซ่าได้ที่สำนักงานตรวจคนเข้าเมืองของ ตม. ซึ่งศูนย์ให้บริการแรงงานต่างด้าว 3 สัญชาติ 3 แห่ง ได้แก่ 1. ห้างสรรพสินค้า อิมพีเรียลเวิลด์ ลาดพร้าว 2. ห้างสรรพสินค้า บิ๊กซี สาขาดอนเมือง (สะพานใหม่) 3. ห้างสรรพสินค้าบิ๊กซี สาขาราษฎร์บูรณะ โดยไม่ต้องเดินทางไปยังศูนย์บริการเบ็ดเสร็จ โดยขอรับใบอนุญาตทำงาน ณ สำนักงานจัดหางานกรุงเทพมหานคร พื้นที่ 1-10 และเข้ารับบริการทำบัตรประจำตัวคนซึ่งไม่มีสัญชาติไทย (บัตรสีชมพู) ได้ที่สำนักงานเขต ของกรุงเทพมหานคร ทั้ง 50 เขต โดยให้ดำเนินการตั้งแต่วันที่ 1 พฤษภาคม – 30 มิถุนายน และ 3. กลุ่มที่ยังไม่มีการดำเนินการ ให้นายจ้างทำการยื่นบัญชีรายชื่อผ่านออนไลน์ หรือสามารถเดินทางไปยื่นที่ศูนย์บริการเบ็ดเสร็จ ทั้ง 4 แห่ง โดยไม่ต้องพาลูกจ้างไปด้วย โดยสามารถดำเนินการได้ตั้งแต่วันที่ 19 มีนาคม ไปจนถึง วันที่ 31 มีนาคม และในกรณีที่ทำการยื่นรายชื่อแล้ว แต่งานยังไม่เสร็จสิ้น จะมีการผ่อนผันสำหรับกลุ่มที่ยื่นรายชื่อ ให้สามารถมาดำเนินการได้ถึงวันที่ 30 มิถุนายน ส่วนศูนย์บริการเบ็ดเสร็จ (One Stop Service : OSS) ภูมิภาค ผู้ว่าราชการจังหวัดสามารถพิจารณาปรับรูปแบบได้ตามความเหมาะสมต่อไป
ช่วงท้าย รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีวอนประชาชนอย่าตื่นตกใจ เร่งซื้อสินค้าเพื่อกักตุนเกินความจำเป็น ซึ่งผู้ผลิตได้ยืนยังถึงกำลังการผลิตที่มีอย่างเพียงพอ เพราะประเทศไทยเป็นแหล่งผลิตสินค้าอาหาร ดังนั้น ของกินจะไม่มีวันขาดแคลน
ขอบคุณ : กลุ่มประชาสัมพันธ์และเผยแพร่ สำนักโฆษก ดูเพิ่มเติม