ข่าวใหม่อัพเดท » นายกรัฐมนตรี แจง “หัวใจการทำงาน คือ การส่งผ่านข้อมูลไปยังพี่น้องประชาชน” ขณะที่ โฆษก ศบค. ย้ำรัฐบาลเน้นแนวทางป้องกันโควิด-19 ทุกระดับ ตั้งแต่ประเทศ จังหวัด ตำบล หมู่บ้าน ครอบครัว และบุคคล

นายกรัฐมนตรี แจง “หัวใจการทำงาน คือ การส่งผ่านข้อมูลไปยังพี่น้องประชาชน” ขณะที่ โฆษก ศบค. ย้ำรัฐบาลเน้นแนวทางป้องกันโควิด-19 ทุกระดับ ตั้งแต่ประเทศ จังหวัด ตำบล หมู่บ้าน ครอบครัว และบุคคล

30 มีนาคม 2020
0

นายกรัฐมนตรี แจง “หัวใจการทำงาน คือ การส่งผ่านข้อมูลไปยังพี่น้องประชาชน” ขณะที่ โฆษก ศบค. ย้ำรัฐบาลเน้นแนวทางป้องกันโควิด-19 ทุกระดับ ตั้งแต่ประเทศ จังหวัด ตำบล หมู่บ้าน ครอบครัว และบุคคล

วันนี้ (30 มี.ค. 63) เวลา 11.00 น. ณ ศูนย์แถลงข่าวรัฐบาล ไวรัสสายพันธุ์ใหม่ “COVID-19” ณ ทำเนียบรัฐบาล นายแพทย์ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.) แถลงความคืบหน้าการดำเนินงานของ ศบค. และข้อสั่งการของพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ประธานศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ว่า นายกรัฐมนตรีย้ำหัวใจของการทำงานที่สำคัญ คือการสื่อสาร ส่งผ่านข้อมูลไปยังพี่น้องประชาชน โดยการใช้เทคโนโลยีแอปพลิเคชันที่ทันสมัย เพื่อให้ข้อมูลที่เจ้าหน้าที่ได้ดำเนินการ ถูกส่งต่อไปยังพี่น้องประชาชน พร้อมขอความร่วมมือจากประชาชนต้องยึดถือปฏิบัติตามมาตรการเว้นระยะห่างทางสังคม (Social Distancing) จนกว่าจะผ่านพ้นสถานการณ์วิกฤตนี้ไปได้ พร้อมทั้ง ย้ำรัฐบาลมีแนวทางการป้องกันประชาชนจากเชื้อไวรัสโควิด 19 ตั้งแต่ระดับประเทศ จังหวัด ตำบล หมู่บ้าน ครอบครัว บุคคล ควบคู่ไปกับมาตรการควบคุมตนเองในบ้าน หรือ home quarantine เพื่อลดอัตราการแพร่กระจาย ทั้งนี้ คณะกรรมการชุดนี้ยังทำงานเสริมสิ่งต่างๆ เพื่อช่วยเหลือประชาชน ทั้งข้อมูล เชื่อมโยงการทำงาน โดยหารือร่วมกันในทุกส่วนราชการก่อนออกมาตรการต่างๆ เพื่อให้การปฏิบัตินั้นส่งผลในด้านดีต่อพี่น้องประชาชนมากที่สุด

โฆษก ศบค. ยังรายงานสถานการณ์ผู้ติดเชื้อรายใหม่วันนี้เพิ่มขึ้นอีก 136 ราย ผู้ป่วยยืนยันสะสม 1,524 ราย ถือว่าแนวโน้มของตัวเลขที่เพิ่มขั้นยังคงที่ โดยพื้นที่กรุงเทพมหานครและนนทบุรียังมีตัวเลขที่สูง และพบว่าพื้นที่ต่างจังหวัดยังมีการติดเชื้อรายใหม่เพิ่มขึ้นมากกว่าพื้นที่กรุงเทพมหานคร ขณะที่การกระจายตัวของผู้ป่วยในพื้นที่ต่างจังหวัดช่วง 7 วันล่าสุดระหว่างวันที่ 23 – 29 มี.ค. 63 ได้แก่ ภูเก็ต 32 ราย ปัตตานี 23 ราย ยะลา 22 ราย ชลบุรี 17 ราย สระแก้ว 8 ราย อุบลราชธานี 7 ราย กระบี่ 8 ราย ซึ่งมีประวัติสัมผัสกับผู้ป่วยจากสนามมวย ส่วนตัวเลขการเดินทางผ่านท่าอากาศยานในระยะเวลา 1 สัปดาห์ที่ผ่านมา มีจำนวนถึง 3,000 กว่าราย โดยประมาณ อย่างไรก็ตาม แนวโน้มผู้ป่วยสะสมในประเทศไทยเมื่อเปรียบเทียบกับสหรัฐอเมริกา อิตาลี จีน อิหร่าน ซึ่งเป็นประเทศที่มีการระบาดมากนั้น ภาพรวมของประเทศไทยยังถือว่ามีความคงที่ สำหรับภายในกลุ่มอาเซียนพบว่า หลายประเทศมีจำนวนผู้ป่วยเพิ่มขึ้น ดังนั้น ทุกคนจึงต้องร่วมมือกันอย่างเข้มแข็งเพื่อไม่ให้ตัวเลขสะสมโดยรวมสูงไปกว่านี้

ทั้งนี้ ระหว่างการประชุม ปลัดกระทรวงมหาดไทย ได้เสนอการดำเนินมาตรการเข้มข้นของจังหวัดภูเก็ต ยะลา ปัตตานี นราธิวาส ในการป้องปรามไม่ให้บุคคลเคลื่อนย้าย ในพื้นที่จังหวัดภูเก็ตได้มีการทำ home quarantine 298 ราย ปิดสถานที่เสี่ยง 2,532 แห่ง ประชาชนออกพื้นที่ชายหาดทุกแห่ง รวมทั้งสวนสัตว์ ถนนสายบางลา (Walking Street) ในอำเภอกะทู้ โดยขอความร่วมมือกับประชาชนและนักท่องเที่ยวงดออกจากเคหะสถานและที่พัก ตั้งแต่เวลา 20.00 น. ถึง 03.00 น. ของวันถัดไป ขณะเดียว มีการเตรียมโรงพยาบาลต่าง ๆ ในพื้นที่ในการรองรับ ทั้งนี้ ผู้บัญชาการทหารสูงสุดยังรายงานข้อมูลเปรียบเทียบการสัญจรภายหลังจากการประกาศ พ.ร.ก. ฉุกเฉิน พบว่า จำนวนตัวเลขสัญจรทางถนนโดยรถประจำทาง ลดลงร้อยละ 45.58 รถส่วนบุคคล ลดลงร้อยละ 41.33 รถไฟฟ้าลดลงร้อยละ 58.63 รถไฟระหว่างเมืองลดลงร้อยละ 64.67 และทางน้ำลดลงร้อยละ 40 ต้องขอความร่วมมือจากประชาชนให้มากขึ้นเพื่อให้ได้ถึงร้อยละ 90 ซึ่งจะเกิดผลดีมากยิ่งขึ้น

จากนั้น ปลัดกระทรวงสาธารณสุขกล่าว จากการสำรวจของกระทรวงสาธารณสุขในช่วงวันที่ 27 – 28 มีนาคมพบว่า พฤติกรรมของคนไทยมีการเปลี่ยนแปลง มีการหลีกเลี่ยงไปพื้นที่แออัด เลี่ยงการอยู่ใกล้ชิด รวมทั้งอยู่ห่างกันเกิน 2 เมตร ประชาชนร้อยละ 71 ทำเป็นนิสัยเป็นประจำทุกวัน อยู่ห่างกันในระยะ 2 เมตรร้อยละ 67.9 ปฏิบัติบ่อยรวมแล้วประมาณร้อยละ 95 จึงอยากเน้นให้ประชาชนร่วมกันให้มากขึ้นเพื่อโรคนี้ลดลงได้ซึ่งจะส่งผลถึงการรักษาพยาบาล

ทั้งนี้ รัฐบาลได้วางแผนบริหารหน้ากากอนามัยซึ่งผลิตในประเทศทั้ง 11 โรงงานในประเทศ โดยในช่วง 21 วันตั้งแต่วันที่ 7-28 มี.ค. ได้จัดสรรทั้งหมด 19 ล้าน แบ่งเป็นโรงพยาบาลในสังกัดสาธารณสุข 10 ล้านกว่าชิ้น โรงพยาบาลนอกสังกัดกระทรวงสาธารณสุข เช่น สภากาชาดไทยและหน่วยต่างๆ ประมาณ 8 แสนชิ้น โรงพยาบาลมหาวิทยาลัย 2.5 ล้าน โรงพยาบาลเอกชน 4 ล้านกว่าชิ้น โรงพยาบาลสังกัดกรุงเทพมหานคร 1.1 ล้านชิ้น วันนี้ ผู้ป่วยเพิ่มขึ้นความต้องการเพิ่มขึ้น สธ.ได้รบจัดสรร 1.3 ล้านชิ้นต่อวัน ซึ่งจะปรับกระจายทั่วประเทศเพิ่มสูงขึ้น ตามแผนการกระจายไปยังโรงพยาบาลในสังกัดสธ. 8 แสน โรงพยาบาลนอกสังกัดสธ. 1 แสน โรงพยาบาลมหาวิทยาลัย 1.5 แสน โรงพยาบาลเอกชน 1.5 แสน โรงพยาบาลสังกัด กทม. 1 แสน โดยร่วมกับบริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด จัดส่งไปยังโรงพยาบาลจังหวัดทุกแห่งเพื่อกระจายไปภายในจังหวัดนั้นๆ ซึ่งจะมีการบันทึกติดตามและจะรายงานตลอดเวลา

สำหรับหน้ากากอนามัย N 95 นั้น ไทยเคยสั่งซื้อกับบริษัท 3 M เป็นการนำเข้าจากประเทศสหรัฐอเมริกา ขณะที่บริษัท สยามโคเค็น จำกัด มีการผลิตในประเทศเพื่อการส่งออกเท่านั้น ที่ผ่านตามระบบปกติการจัดสรรหน้ากากอนามัย N 95 เป็นโครงการเฉพาะสำหรับผู้ป่วยโควิด-19 ไม่เกี่ยวข้องกับการใช้ทั่วไปของโรงพยาบาล ดังนั้น รัฐบาลจึงได้จัดหามาเพิ่มเติมเพื่อจ่ายทดแทน โดยกำหนดว่าผู้ป่วย 1 คนต้องใช้หน้ากากอนามัย N 95 จำนวน 15 ชิ้น และผู้ป่วยสังเกตการณ์ต้องใช้จำนวน 5 ชิ้นต่อวัน ขณะนี้ได้กระจายไปแล้วตั้งแต่ 7- 28 มีนาคม จำนวน 183,910 ชิ้น ตามยอดผู้ป่วยโควิด-19 ของแต่ละโรงพยาบาลที่ได้แจ้งเท่านั้น ทั้งนี้ มีการประเมินหากมีผู้ป่วย 10,000 คน จากยอดสะสมในหนึ่งเดือนใช้ 500,00 ชิ้นต่อเดือน อาจต้องการใช้หน้ากาก N 95 จำนวน 17,000 ชิ้นต่อวัน ทำให้รัฐบาลมีแผนการจัดหานำเข้าหน้ากากของ 3 M เพื่อขอซื้อจำนวน 200,000 ชิ้น กำหนดส่งต้นเมษายนซึ่งขณะนี้ยังได้ไม่ครบทยอยได้แค่หลักหมื่น สถานการณ์อเมริกาอาจมีปัญหาการจัดส่ง หน้ากาก N 95 จากการพูดคุยเบื้องต้นกับบริษัท สยามโคเค็น จำกัด ยินดีขายให้ได้ใช้เดือนละประมาณ 100,000 ชิ้น ทั้งหมดนี้เป็นความพยายามจัดหาของรัฐบาล นอกจากนี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขยังเจรจากับรัฐบาลจีนจัดซื้ออุปกรณ์ทางการแพทย์แบบรัฐต่อ โดยให้งบประมาณองค์การเภสัชกรรมจำนวน 1,500 ล้านบาท ซึ่งได้ตอบรับว่าจะขายให้ทางไทย 1 ล้าน 3 แสนชิ้น จากบอร์ด GPO พร้อมนำเข้าทันที 400,000 เบื้องต้นวางแผนจะจ่ายให้เฉพาะผู้ป่วยโควิด -19 เท่านั้น แต่คนไข้อื่นอาจจำเป็นต้องใช้ ก็จะมีการแบ่งส่วนบางส่วนให้แก่การดำเนินการปกติของโรงพยาบาลเหล่านี้ ส่วนเตียงผู้ป่วยมีจำนวน 1,600 เตียง มีผู้ป่วยเพียงร้อยละ 50 ยังสามารถรองรับได้อีก 700 กว่าเตียง

สำหรับการจัดสรรของที่ได้รับบริจาคจากรัฐบาลจีนทั้ง Surgical Mask จำนวน 100,000 ชิ้น ได้กระจายไปยังโรงพยาบาลต่างจังหวัดที่มีจำนวนคนไข้เพิ่ม ชุดทดสอบ Testing Kits จำนวน 20,000 ชิ้น มอบให้กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ตรวจมาตรฐานคุณภาพและนำส่งต่อ หน้ากากอนามัย N95 จำนวน 10,000 ชิ้นกระจายไปยังผู้ป่วยในต่างจังหวัดที่เพิ่มขึ้นประมาณร้อยละ 50 และชุด PPE จำนวน 2,000 ชิ้น จะกระจายไปทั่วประเทศภายในวันที่ 31 มี.ค. นี้ ในส่วนการบริจาคจาก Alibaba มอบหน้ากากกันฝุ่นซึ่งจะส่งไปยังภาคเหนือที่มีปัญหาฝุ่นละอองมาก ส่วนชุดป้องกันต่างๆ กระจายไปตามโรงเรียนแพทย์และ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ หน้ากากอนามัยอื่นๆประมาณ 300,000 ชุดจะจัดส่งไปยังภาคใต้ซึ่งได้มีการระบาดมาก การกระจายจะจบสิ้นภายในอาทิตย์นี้ สำหรับแผนกระจายยา Favipiravir ได้มาจำนวน 24,000 เม็ด กระจายทั่วไป 21,000 เม็ด เก็บที่ส่วนกลาง 2,000 กว่าเม็ด โดยจะให้ผู้ป่วยที่มีความเหมาะสม โดยผู้ป่วยที่มีอาการน้อยไม่จำเป็นต้องทานยา ยืนยันว่าไทยมียาเพียงพอ

โอกาสนี้ นายบุณยฤทธิ์ กัลยาณมิตร ปลัดกระทรวงพาณิชย์ ชี้แจงถึงสถานการณ์หน้ากากอนามัยในประเทศไทย ตามที่กระทรวงพาณิชย์ เคยได้หารือกับผู้ผลิตหน้ากากอนามัยทั้งหมด 11 รายด้วยกันนั้นและทราบถึงกำลังการผลิตโดยมีจำนวนประมาณ 1 ล้าน 2 แสนชิ้น ต่อวัน หรือ 36 ล้านชิ้นต่อเดือน รวมถึงการขาดแคลนวัตถุดิบในการผลิตหน้ากากอนามัยที่จำเป็น ซึ่งต้องนำเข้าจากประเทศจีน จึงเป็นเหตุให้เกิดการขาดแคลนหน้ากากอนามัยในสถานพยาบาล ทั้งยังมีหน้ากากอนามัยในท้องตลาดที่มีราคาสูงกว่าปกติ ว่า กระทรวงพาณิชย์ได้จัดทำแผนการจัดสรรหน้ากากอนามัย โดยขอความร่วมมือผู้ผลิตหน้ากากอนามัยส่งมอบหน้ากากอนามัยทั้งหมดตามกำลังการผลิตให้แก่กระทรวงพาณิชย์ เพื่อจัดสรรให้แก่บุคคลที่มีความจำเป็นจะต้องใช้ โดยเฉพาะบุคลากรทางการแพทย์ในสถานพยาบาล และอีกจำนวนหนึ่งจัดจำหน่ายให้แก่ประชาชนทั่วไป ซึ่งวันนี้ขอชี้แจงเพิ่มเติมว่า กำลังการผลิตหน้ากากอนามัยของไทยเพิ่มขึ้นได้ถึง 2 ล้าน 3 แสนชิ้นต่อวัน และบูรณาการร่วมกับกระทรวงมหาดไทย จัดสรรหน้ากากอนามัยให้แก่ผู้ที่ความจำเป็นต้องใช้หรือผู้ที่มีกลุ่มเสี่ยงก่อน เช่น แพทย์ พยาบาล ตามสถานพยาบาล อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน เจ้าหน้าที่ที่ต้องใกล้ชิดกับผู้ที่มีความเสี่ยงในการติดเชื้อไวรัสโควิด – 19 หรือบุคคลที่อยู่ในระหว่างการเฝ้าสังเกตอาการ 14 วัน รวมถึงจะจำหน่ายให้แก่ประชาชนทั่วไปด้วยเช่นกัน วันนี้ ตั้งแต่เวลา 17.00 น. เป็นต้นไป ก็จะมีการกระจายหน้ากากอนามัยไปทุกภูมิภาคทั่วประเทศไทย โดยกรุงเทพมหานครได้รับการจัดสรรหน้ากากอนามัย 1 แสนชิ้น และ อีก 9 แสนชิ้นจะเป็นการกระจายไปสู่ศาลากลางจังหวัดตามภูมิภาคนั้น ๆ

ข้อมูล : กลุ่มประชาสัมพันธ์และเผยแพร่ สำนักโฆษก

error: Content is protected !!