ข่าวใหม่อัพเดท » นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ย้ำ รัฐบาลพร้อมจัดส่งหน้ากากอนามัย ให้บุคลากรทางการแพทย์ทั่วประเทศ พร้อมควบคุมราคาไข่หน้าฟาร์ม และพ่อค้าคนกลาง ป้องกันขายไข่ราคาแพง

นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ย้ำ รัฐบาลพร้อมจัดส่งหน้ากากอนามัย ให้บุคลากรทางการแพทย์ทั่วประเทศ พร้อมควบคุมราคาไข่หน้าฟาร์ม และพ่อค้าคนกลาง ป้องกันขายไข่ราคาแพง

30 มีนาคม 2020
0

นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ย้ำ รัฐบาลพร้อมจัดส่งหน้ากากอนามัย ให้บุคลากรทางการแพทย์ทั่วประเทศ พร้อมควบคุมราคาไข่หน้าฟาร์ม และพ่อค้าคนกลาง ป้องกันขายไข่ราคาแพง

วันนี้ (30 มี.ค.63) เวลา 12.10 น. ณ ศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) (ศบค.) โถงกลาง ตึกสันติไมตรี ทำเนียบรัฐบาล นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวภายหลังการประชุม ศบค. ว่า ที่ประชุมฯ ได้มีการทบทวนมาตรการต่าง ๆ ตั้งแต่ได้มีการประกาศบังคับใช้พระราชกําหนดฯ เป็นต้นมา ซึ่งการดำเนินมาตรการต่าง ๆ ถือว่าอยู่ในเกณฑ์ที่น่าพอใจ เมื่อเทียบกับตัวเลขผู้ติดเชื้อและตัวเลขผู้ป่วย หรือแม้แต่ตัวเลขผู้เสียชีวิต แต่ก็ยังไม่ถึงขั้นที่จะพอใจเต็มที่ เพราะยังมีกรณีซึ่งแม้จะเป็นส่วนน้อย แต่ก็ทำให้เกิดความเสียหายต่อสังคมหรือส่วนรวมได้ จึงขอให้ประชาสัมพันธ์ให้เข้มงวดกวดขันยิ่งขึ้น ไม่เช่นนั้นอาจจะต้องไปสู่มาตรการบังคับที่รุนแรงได้ โดยเฉพาะให้เข้มงวดมาตรการอยู่กับบ้านอย่างที่ทำกันทั่วโลก โดยขอให้งดเว้นกิจกรรมสังสรรค์ต่าง ๆ เช่น ขณะนี้ได้ส่งสัญญาณขอความร่วมมือไปยังสถานีโทรทัศน์ต่าง ๆ ในช่วงเดือนเมษายน ให้งดการถ่ายทอดการชกมวย โดยเฉพาะมวยที่จัดขึ้นใหม่ เพราะถึงไม่มีคนดูก็จะเป็นความเสี่ยงของผู้ชกมวยเอง และจะทำให้คนมารวมตัวมั่วสุมเชียร์ได้ รวมถึงการแข่งเรือเจ็ทตามแม่น้ำเจ้าพระยา จุดวินมอเตอร์ไซค์รับจ้างต่าง ๆ โดยเฉพาะถ้าผู้ขับขี่และผู้ซ้อนท้ายไม่สวมหน้ากากอนามัย ตลอดจนกิจกรรมการใส่บาตรของชาวอิสานที่ยังใช้มือจกข้าวเหนียวใส่บาตร ซึ่งเป็นจุดที่อันตรายในการแพร่เชื้อโรคได้อย่างน่ากลัว การทำวัตรเช้า วัตรเย็น ของพระ โดยปกติที่นั่งใกล้ชิดกันและมีพระอยู่จำนวนมาก นอกจากนี้ขอให้เพิ่มความระมัดระวังป้องกันในกรณีกองถ่ายละครโทรทัศน์ รายการโทรทัศน์ ที่มีคนไปอยู่ในกองถ่ายจำนวนมากด้วย

รองนายกรัฐมนตรีกล่าวชี้แจงถึงการบริหารจัดการหน้ากากอนามัย และอุปกรณ์เครื่องมือทางการแพทย์ว่า จากที่ก่อนหน้านี้ได้มีการกล่าวถึงจำนวนตัวเลขหน้ากากอนามัยที่อยู่ในสต็อก 200 ล้านชิ้นว่า เพื่อประโยชน์ในการสร้างความเข้าใจแก่ประชาชน ตัวเลขทั้งหมดนั้นผิดพลาด วันนี้จึงได้ประเมินใหม่ และทำแผนการจ่ายหน้ากากใหม่ โดยโรงงานที่ผลิตหน้ากากขณะนี้มีีทั้งหมด 11 โรงงาน ซึ่งในหนึ่งวันสามารถผลิตหน้ากากออกมาได้ประมาณ 2 ล้าน 3 แสนชิ้น โดยมีการจัดทำแผนในการจ่ายหน้ากากวันต่อวัน และสามารถตรวจสอบได้ทุกวันตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป โดยในเวลา 17.00 น. วันนี้ บริษัทไปรษณีย์ไทยจะขนส่งหน้ากากอนามัย (สีฟ้า) จำนวน 40 คัน ไปยังจังหวัดต่าง ๆ ทั่วประเทศ โดยมีผู้รับไปบริหารจัดการ 2 หน่วยงาน คือ 1) กระทรวงสาธารณสุข จำนวน1 ล้าน 3 แสนชิ้น เพื่อส่งไปให้บุคลากรทางการแพทย์ทั่วประเทศ คือ แพทย์ พยาบาล เจ้าหน้าที่แพทย์ (ทำแผนการจ่ายเป็นรายจังหวัด) และ 2) กระทรวงมหาดไทย จำนวน 1 ล้านชิ้น เพื่อจะส่งไปยังผู้ว่าราชการจังหวัด76 จังหวัดทั่วประเทศ และผู้ว่าราชการ กทม. โดยจะแจกจ่ายให้แก่บุคคลซึ่งใกล้ชิดกับผู้ป่วย เช่น อสม. ที่ไปเฝ้าระวังผู้ป่วยในต่างจังหวัด เจ้าหน้าที่ซึ่งมีหน้าที่บริการประชาชน เช่น ศูนย์ดำรงธรรม หรือเจ้าหน้าที่อำเภอศาลากลาง รวมถึงเจ้าหน้าที่ซึ่งบริการประชาชนและมีความเสี่ยง เช่น พนักงานเก็บขนขยะ รวมทั้งตำรวจ ทหารที่ตั้งด่านตรวจอยู่ระหว่างทาง และผู้ที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยงคือ ผู้สูงอายุ 70 ปีขึ้นไป ผู้ป่วย และเด็ก เป็นต้น จากนั้นจะมีการปรับแผนการส่งหน้ากากไปสู่ประชาชนและร้านค้าต่าง ๆ ด้วย

ส่วนกรณีการส่งหน้ากากออกต่างประเทศนั้น รองนายกรัฐมนตรียืนยันโดยหลักการไม่มี เพราะเป็นสินค้าควบคุม เพราะฉะนั้นให้ไปตกลงกัน ถ้าส่งออกและมีสัญญาว่าจ้างหรือสั่งซื้อ เป็นอันยกเลิก ไม่ให้นำออกแม้แต่ชิ้นเดียว แต่อย่างไรก็ตามยังต้องส่งออกด้วยความจำเป็นใน 3 เหตุที่เป็นพันธะทางกฎหมาย คือ 1) ส่งออกเพราะได้รับการส่งเสริมการลงทุนหรือ BOI 2) ส่งออกเพราะเป็นเรื่องทรัพย์สินทางปัญญา และ 3) มีสัญญาหรือFTA (Free Trade Agreement) ระหว่างประเทศต่อกันให้ผลิตและส่งออก แต่ก็จะพยายามไปแบ่งมาใช้ในประเทศให้ได้มากที่สุด ในส่วนของกรณี BOI เพราะในมาตรา 47 ระบุว่าแม้จะส่งออกได้แต่ถ้ารัฐมีมาตรการเพื่อความมั่นคง อาจจะห้ามส่งออกได้ ซึ่งรัฐพร้อมที่จะใช้มาตรานี้ ในการไม่ให้มีการส่งออก หรือแบ่งส่วนหนึ่งเอามาใช้ในประเทศ

ทั้งนี้ สำหรับภาคเอกชนที่ต้องการนำหน้ากากอนามัย เครื่องมือ เวชภัณฑ์ ยา เพื่อใช้ในการป้องกันและรักษาโควิด-19 ในประเทศนั้น ขณะนี้ กรมศุลกากร กระทรวงการคลัง ได้ออกประกาศยกเว้นการเก็บภาษีศุลกากรนำเข้าสำหรับหน้ากากเป็นศูนย์ ตั้งแต่วันที่ 20 มีนาคม 2563 ที่ผ่านมา ส่วนน้ำยา เวชภัณฑ์ ยา เครื่องมือ เครื่องใช้เครื่องตรวจ ก็กำลังจะมีการยกเว้นภาษีเช่นกัน โดยกำลังอยู่ระหว่างจัดทำรายการระหว่างกรมศุลกากรกับกระทรวงสาธารณสุข เพื่อให้สามารถนำเข้าสิ่งเหล่านี้ได้

รองนายกรัฐมนตรีกล่าวถึงสินค้าควบคุมบางชนิด โดยเฉพาะไข่ว่า ขณะนี้ไข่เป็นสินค้าห้ามนำออกนอกประเทศส่วนที่มีข่าวลือกันว่ามีเครื่องบินมาขนไปต่างประเทศนั้น ถ้าของเดิมของเก่าเป็นเรื่องจริง แต่ของใหม่ยืนยันไม่มีการส่งออกได้อีกต่อไป รวมทั้งจะเพิ่มความเข้มงวดในการควบคุมราคาที่ออกจากฟาร์ม และพ่อค้าคนกลางเพื่อไม่ให้ขายในราคาที่แพง โดยจะไม่เข้มงวดกับผู้ค้ารายปลีก พร้อมขอความร่วมมือห้ามพ่อค้ากักตุนไว้จำหน่าย ขณะที่ผู้บริโภคก็อย่าไปกักตุนเอาไว้เช่นกัน ยืนยันไข่ไม่ขาดตลาด เพราะวันหนึ่งมีไข่ออกมาประมาณ41 ล้านฟอง ซึ่งเมื่อไม่มีการส่งออกก็จะหมุนเวียนอยู่ในประเทศ ปริมาณการบริโภคไข่ไก่ทั่วประเทศวันละประมาณ 39 ล้านฟอง จึงยังเหลืออยู่อีกประมาณ 2 ล้านฟอง ทั้งนี้ กระทรวงพาณิชย์คาดการณ์ว่า ในอีกไม่กี่วันจะถึงภาวะที่ไข่ไก่ล้นตลาด เพราะของใหม่ก็ออกมาเรื่อย ๆ รวมกับที่ซื้อไปเก็บไว้คนละหลายทางก็ยังอยู่

รองนายกรัฐมนตรียังกล่าวถึงเรื่องที่เอกชนจะนำเข้าหน้ากากอนามัย หน้ากาก N95 ยา เครื่องมือเครื่องใช้ผลิตภัณฑ์ เครื่องตรวจ ซึ่งเดิมปกติการนำเข้าดังกล่าว อย. หรือกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ใช้เวลาในการตรวจสอบ 1 เดือน แต่ปัจจุบันด้วยสถานการณ์โควิด-19 การตรวจสอบดังกล่าว อย. จะใช้เวลาไม่เกิน 1 วัน และกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ใช้เวลาตรวจอีกไม่เกิน 4 วัน รวมเป็น 5 วัน ก็สามารถปล่อยสิ่งของดังกล่าวออกมาได้

ในตอนท้าย รองนายกรัฐมนตรีย้ำว่าในสถานการณ์โควิด-19 รัฐไม่ต้องการให้คนมามั่วสุมประชุม หรือชุมนุมและทำกิจกรรมกัน ซึ่งในส่วนที่เป็นการประชุม หากสามารถเลื่อนได้ก็ให้เลื่อนออกไปก่อน แต่ถ้าเลื่อนไม่ได้ ก็ส่งเสริมให้มีการประชุมทางไกล หรือประชุมทางไกลเทเลคอนเฟอเรนซ์ ซึ่งคณะรัฐมนตรีก็ได้มีการประชุมเทเลคอนเฟอร์เรนซ์เช่นกัน จึงขอความร่วมมือเอกชนโดยเฉพาะที่จะมีการประชุมสำคัญในเดือนเมษายน คือ การประชุมใหญ่ผู้ถือหุ้นบริษัท ถ้าเลื่อนไม่ได้ก็ขอให้ประชุมทางไกล แต่ถ้าไม่อยากประชุมทางไกลขอให้จัดเว้นระยะที่นั่ง 1 – 2 เมตร พร้อมกับสวมหน้ากากอนามัย และมีมาตรการรักษาความปลอดภัย

ส่วนกรณีของพรรคการเมืองนั้น พรรคการเมือง พรบ. มาตรา 43 ระบุทุกพรรคจะต้องมีการประชุมใหญ่ภายในเดือนเมษายน มิฉะนั้นจะมีความผิดตามมาตรา 91 โดย กกต. อยู่ระหว่างการพิจารณาที่จะประสานไปยังรัฐบาลซึ่งมาตรา 91 มีข้อยกเว้นว่า เว้นแต่มีเหตุจำเป็นที่ไม่สามารถจะเรียกประชุมได้ ซึ่งตรงนี้ กกต. จะได้ถามมายังรัฐบาล ซึ่งก็พร้อมที่จะตอบว่าสถานการณ์โควิด-19 เป็นเหตุจำเป็นที่ไม่ควรให้พรรคการเมืองจัดประชุมในเดือนเมษายน ซึ่งขณะนี้ทางรัฐบาลอยู่ระหว่างรอให้ กกต. ถามมา เพื่อจะได้ตอบไปตามมาตราดังกล่าว

ข้อมูล : กลุ่มประชาสัมพันธ์และเผยแพร่ สำนักโฆษก

error: Content is protected !!