นายกรัฐมนตรี ซาบซึ้งน้ำใจคนไทยร่วมสร้างปรากฏการณ์ “ปรบมือให้กำลังใจแพทย์และบุคคลากรสาธารณสุข” พร้อมขอบคุณสื่อโซเชียลมีเดียและอินฟลูเอนเซอร์ต่าง ๆ ออกมาปรามอย่านำ การติดเชื้อโควิด-19 มาโกหกเล่นในวัน “April Fool’s Day (เอพริลฟูลเดย์)”
ณ ศูนย์แถลงข่าวรัฐบาล ไวรัสสายพันธุ์ใหม่ “COVID-19” ณ ทำเนียบรัฐบาล นายแพทย์ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.) ได้เปิดเผยว่า วันนี้นายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรี ได้การประชุมคณะรัฐมนตรีผ่านระบบ Video Conference เป็นไปตามมาตรการของรัฐบาลในเรื่องของการเว้นระยะห่างทางสังคม (Social distancing) เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19)
โอกาสนี้ นายกรัฐมนตรี ได้ขอบคุณประชาชนในการสร้างปรากฏการณ์ปรบมือ ซึ่งเกิดขึ้นในวันอาทิตย์ที่ผ่านมา เพื่อให้กำลังใจ แพทย์ พยาบาล และเจ้าหน้าที่สาธารณสุขทั่วประเทศ เป็นปรากฏการณ์ในการให้กำลังใจซึ่งกันและกันของคนไทย ซึ่งมีความสำคัญเป็นอย่างยิ่งกับบุคลากรทางการแพทย์ทุกคนที่ต้องทำงานหนักอย่างมากเพื่อประชาชนในขณะนี้ ทั้งยังจะนำข้อมูลและข้อความต่าง ๆ มาประเมินเพื่อนำมาสู่มาตรการบริหารจัดการเรื่องต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นอุปกรณ์ทางการแพทย์ที่จะมีการนำส่งให้ถึงมือแพทย์และบุคลากรอื่น ๆ โดยเร็ว
โฆษก ศบค. ยังรายงานถึงสำหรับสถานการณ์การติดเชื้อโรคไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ของโลกและประเทศไทยว่า ตัวเลขผู้ติดเชื้อโควิด-19 ทั่วโลก อยู่ที่ 784,381 คน มีอาการหนักจำนวน 29,597 คน หายป่วย 165,035 คน สหรัฐอเมริกายังมียอดผู้ติดเชื้อไวรัสฯ มากที่สุด ตามด้วย อิตาลี สเปน จีน เยอรมนี ฝรั่งเศส อิหร่าน อังกฤษ สวิสเซอร์แลนด์ เบลเยี่ยม และอีกหลายประเทศ ส่วนตัวเลขการติดเชื้อโรคไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด -19) สะสมของประเทศไทยอยู่ที่ 1,651 ราย รายใหม่ 127 และเสียชีวิต 10 คน โดยรายที่เสียชีวิต เป็นผู้ป่วยชายไทยอายุ 48 ปี อาชีพนักดนตรี ทำงานอยู่ที่กรุงเทพฯ มีประวัติส่วนตัวคือป่วยเป็นโรคเบาหวานและมะเร็ง ได้เริ่มป่วยตั้งแต่วันที่ 20 มีนาคม 2563 ด้วยอาการไอ มีไข้ เดินทางออกจากกรุงเทพฯ กลับไปต่างจังหวัด มีอาการจึงไปที่โรงพยาบาลอำเภอก่อนถูกส่งต่อไปโรงพยาบาลประจำจังหวัดพบว่ามีปอดอักเสบและอาการรุนแรงขึ้นจนกระทั่งระบบหายใจล้มเหลวและมีการติดเชื้อในกระแสเลือดที่รุนแรง เสียชีวิตวันที่ 30 มีนาคม 2563 จึงขอแสดงความเสียใจกับญาติพี่น้องของผู้เสียชีวิตด้วย
สำหรับรายงานผู้ที่ติดเชื้อโรคไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด -19) ในประเทศไทย แบ่งเป็น สัญชาติไทย 1,478 คน สัญชาติอื่น ๆ 244 คน กรุงเทพฯยังคงมีผู้ติดเชื้อฯ อันดับสูงสุดที่ 869 คน ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 77 คน ภาคเหนือ 55 คน ภาคกลาง 172 คน และภาคใต้ 206 คน โดยเป็นกลุ่มวัยทำงานติดเชื้อมากที่สุด อายุระหว่าง 20 – 29 ปี (เป็นหญิงมาก กว่าชาย) อายุระหว่าง 30 – 39 ปี (ชายมากกว่าหญิง) อายุ 40 – 49 ปี (ชายมากกว่าหญิง) อายุ 50-59 ปี (ชายมากกว่าหญิง) อายุน้อยที่สุด 6 เดือน และอายุสูงสุดที่ 84 ปี อายุเฉลี่ย 39 ปี ทั้งนี้ ย้ำว่าวัยทำงานซึ่งต้องเดินทางคนที่ต้องออกนอกบ้านคือคนที่สามารถเป็นพาหะนำเชื้อไปติดเชื้อคนในบ้านคนที่เป็นคนสูงอายุ จึงขอให้ทุกคนต้องเฝ้าระวังดูแลตนเองด้วย
โฆษก ศบค. ยังกล่าวถึงแนวโน้มคนวัยทำงานที่ติดเชื้อฯ ทำให้ตัวเลขขณะนี้อยู่ที่ 1,651 คน และรายใหม่ 127 คนว่า ส่วนใหญ่มาจากสนามมวย สถานบันเทิง ผู้สัมผัสกับผู้ป่วยยืนยันรายก่อนหน้านี้ (จำนวน 62 คน) ผู้ป่วยอื่นๆ 49 คน เป็นคนไทยที่เดินทางกลับจากต่างประเทศ และคนต่างชาติเดินทางมาจากต่างประเทศ อาชีพเสี่ยง และเป็นบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุข (จำนวน 3 คน) รอสอบสวนโรคอีก 16 คน เมื่อประชาชนทุกคนร่วมมือ การติดเชื้อใหม่ควรจะลดลง ซึ่งนายกรัฐมนตรีได้ย้ำถึงการดำเนินมาตรการของรัฐบาลจะเริ่มจากเบาไปหาหนัก นายกรัฐมนตรีพึงพอใจระดับหนึ่งจากผลการดำเนินการตามมาตรการของรัฐบาลแต่ไม่นิ่งนอนใจ ยังต้องติดตามตัวเลขอย่างใกล้ชิด โดยสั่งการให้ปลัดกระทรวงสาธารณสุขรายงานให้รับทราบอย่างต่อเนื่อง
กรณีที่บุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขที่ติดเชื้อไวรัสนั้น รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขสั่งให้เจาะลึกว่าเกี่ยวโยงกับการปฏิบัติหน้าที่กับผู้ป่วยหรือไม่ ซึ่งในส่วนของบุคลากรทางการแพทย์ทั้ง 3 คนดังกล่าวมีความเชื่อมโยงกันกับการดูแลผู้ป่วย กระทรวงสาธารณสุขต้องมีการหามาตรการป้องกันในต่อไป นอกจากนี้ ปลัดกระทรวงสาธารณสุขยังกำชับเจ้าหน้าที่และบุคลากรที่ทำงานทางด้านนี้ ให้ใช้อุปกรณ์ทางการแพทย์เพื่อป้องกันเต็มที่ เพราะถือเป็นด้านหน้า พร้อมย้ำประชาชนให้ความร่วมมือ การออกเดินทางไปยังที่ต่าง ๆ อาจเป็นพาหะนำโรคได้ ขอให้ออกจากบ้านน้อยที่สุด ต่างจังหวัดก็อย่าได้นิ่งนอนใจแม้ตัวเลขผู้ติดเชื้อจะยังทรงตัว ขอประชาชนคนทุกปฏิบัติตามมาตรการต่าง ๆ ของรัฐบาลด้วย
ทั้งนี้ การติดเชื้อของ Generation ที่1 2 และ 3 มีความสำคัญเพราะไม่ได้จะอ้างอิงว่าผู้ที่มาจากสนามมวยแล้วแต่กลายเป็นว่าคนที่ติดจากสนามมวยกลับไปอยู่ที่บ้านก็กลายเป็นกลุ่มที่ 1 คือ กลุ่มที่สัมผัสกับคนใกล้ชิดที่ติดมาก่อนหน้านี้ ซึ่งตรงนี้ถือเป็นความเสี่ยงไปแล้ว ส่วนคนไทยที่เดินทางกลับจากต่างประเทศตัวเลขก็มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ถ้ามีลูกหลาน ญาติ เดินทางกลับมาจากต่างประเทศขอให้ความร่วมมือปฏิบัติตามมาตรการของรัฐบาลด้วย เพื่อป้องกันเป็นแหล่งเพาะเชื้อใหม่ รวมถึงขอความร่วมมือสถานบันเทิง ขอให้งดเว้นเลยไม่ให้มีการร่วมสังสรรค์ บันเทิงใด ๆ ทั้งสิ้น
โฆษก ศบค. วอนประชาชนเว้นระยะห่างทางสังคม (Social distancing) ลดตัวเลขผู้ติดเชื้อให้ลดน้อยลง ขณะที่รองนายกรัฐมนตรี (นายวิษณุ เครืองาม) ขอความร่วมมือให้หยุดกิจกรรมการรวมกลุ่มบุคคล ขอให้งดถ่ายทอดการชกมวย รวมถึงกิจกรรมกองถ่ายภาพยนตร์ การแข่งเรือเจ็ตสกี ส่วนกรณี ผู้ขับขี่มอเตอร์ไซค์รับจ้าง การตักบาตร เป็นการขอความร่วมมือในการที่ป้องกันและลดความเสี่ยงจากการที่จะติดเชื้อฯ ด้วย
ส่วนที่มีความเป็นกังวลเกี่ยวกับการใช้จ่ายงบกลาง ซึ่งเป็นเงินงบประมาณที่ใช้ในการฉุกเฉินวิกฤตนั้น นายกรัฐมนตรีให้ความสำคัญอย่างมาก โดยจัดสรรงบกลางเพื่อเพิ่มค่าตอบแทนบุคลากรทางการแพทย์ ค่าเสี่ยงภัย ตลอดจนค่าทำงานล่วงเวลา เป็นต้น ซึ่งกระทรวงสาธารณสุข ได้รับที่จะไปดำเนินการแล้ว รวมไปถึงการจัดซื้ออุปกรณ์ทางการแพทย์ และเตรียมโรงพยาบาลสนาม ฯลฯ นอกจากนี้ยังได้มีการผ่อนปรนปลดล็อกการนำเข้ายาและอุปกรณ์ทางการแพทย์ อีกด้วย
ในช่วงท้าย นายกรัฐมนตรียังชื่นชมสื่อโซเชียลมีเดียและอินฟลูเอนเซอร์ต่าง ๆ ที่ร่วมมือชี้แจงให้ข้อมูลต่าง ๆ ที่เป็นประโยชน์ เช่น การออกมาเตือนว่าขณะนี้อยู่ในช่วงของ พ.ร.ก. สถานการณ์ฉุกเฉิน อย่านำเรื่องการติดเชื้อโควิด-19 มาโกหกเล่นในวัน “April Fool’s Day (เอพริลฟูลเดย์)” ตรงกับวันที่ 1 เมษายน ของทุกปี ซึ่งขอขอบคุณทุกคนที่ได้ช่วยกัน
ขอบคุณข้อมูล : กลุ่มประชาสัมพันธ์และเผยแพร่ สำนักโฆษก