นายกฯ ชมนวัตกรรมแบบไทยๆ นำมาประยุกต์ใช้เป็นอุปกรณ์ให้บริการประชาชน เลี่ยงการสัมผัส ลดความเสี่ยงในการติดเชื้อไวรัสโควิด 19
วันนี้ (1 เม.ย. 63) เวลา 11.30 น. ณ ศูนย์แถลงข่าวรัฐบาล ไวรัสสายพันธุ์ใหม่ “COVID-19” ณ ทำเนียบรัฐบาล นายแพทย์ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.) ได้เปิดเผยว่า นายกรัฐมนตรีกล่าวขอบคุณทุกภาคส่วนที่ช่วยกันปฏิบัติหน้าที่อย…่างเข้มแข็ง รวมทั้งชื่นชมการประยุกต์ใช้อุปกรณ์ต่างๆ ในการให้บริการประชาชน เพื่อลดอัตราการแพร่กระจายของเชื้อไวรัสโคโรนา (COVID-19) รวมถึงประชาชนที่ให้ความร่วมมือปฏิบัติตนตามคำแนะนำของสาธารณสุขในการป้องกันตนเองจากโรคโควิด-19
โอกาสนี้ โฆษก ศบค. รายงานถึงสถานการณ์การติดเชื้อโรคไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ของโลกและประเทศไทยว่า ตัวเลขผู้ติดเชื้อโควิด-19 ทั่วโลกในวันนี้ มีจำนวนอยู่ที่ 856,910 ราย มีอาการหนักจำนวน 32,297 ราย หายป่วย 177,141 ราย เสียชีวิตรวม 42,107 ราย สหรัฐอเมริกายังมียอดผู้ติดเชื้อไวรัสฯ มากที่สุดที่ 187,340 ราย อิตาลี 105,792 ราย สเปน 95,923 ราย จีน 81,518 ราย เยอรมนี 71,808 ราย ฝรั่งเศส 52,128 ราย อิหร่าน 44,605 ราย สำหรับผู้ติดเชื้อโรคไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ยืนยันผู้ป่วยสะสมของประเทศไทยในวันนี้อยู่ที่ 1,771 ราย เป็นรายใหม่ 120 และเสียชีวิตรวม 12 ราย โดยรายที่เสียชีวิตรายที่ 1 เป็นเพศชาย อายุ 79 ปี อาศัยอยู่ที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ มีโรคประจำตัวเบาหวานและไตวายเรื้อรัง มีประวัติเดินทางไปร่วมงานแต่งงานที่มาเลเซียเมื่อวันที่ 7 มีนาคม 63 ที่ผ่านมา เริ่มมีอาการเจ็บป่วยตั้งแต่วันที่ 20 มีนาคม 63 เข้ารับการรักษาในวันที่ 23 มีนาคม 63 พบว่าไม่ดีขึ้นจึงได้เดินทางเข้ารีบการรักษาอีกครั้งในวันที่ 27 มีนาคม 63 เริ่มมีอาการไข้สูงถึง 39 องศาอาการปวดกล้ามเนื้อ ศีรษะ ภาวะปอดอักเสบร่วมด้วย ได้รักษาตัวในโรงพยาบาลก่อนส่งต่อไปยังโรงพยาบาลประจำจังหวัดจนกระทั่งเสียชีวิตวันที่ 31 มีนาคม 63 ส่วนผู้เสียชีวิตอีกราย อายุ 58 ปี มีอาชีพเป็นนักธุรกิจเดินทางกลับมาจากประเทศอังกฤษ เริ่มมีป่วยวันที่ 12 มีนาคม 63 กลับถึงไทยวันที่ 14 มีนาคม 63 เข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาล วันที่ 15 มีนาคม 63 และเสียชีวิตลงวันที่ 31 มีนาคม 2563
ทั้งนี้ รายงานผู้ที่ติดเชื้อโรคไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ในประเทศไทยยังคงมีแนวโน้มที่สูงขึ้น ผู้ติดเชื้อในกรุงเทพมหานครมีจำนวน 850 ราย ถือว่าเริ่มลดลง แต่ก็ยังสูงกว่าต้นเดือนที่ผ่านมา นนทบุรี 104 ราย สมุทรปราการ 72 ราย ภูเก็ต 71 ราย ชลบุรี 47 ราย ผู้ติดเชื้อรายใหม่จำนวน 120 คน แบ่งเป็น 3 กลุ่ม ได้แก่ 1. ผู้ที่มีการสัมผัสกับผู้ป่วยยืนยัน หรือเกี่ยวข้องกับสถานที่ที่พบผู้ป่วยยืนยันก่อนหน้านี้ 51 ราย 2. ผู้ป่วยกลุ่มอื่นๆ ที่ไม่เกี่ยวข้องกับผู้ป่วยก่อนหน้านี้ 39 ราย และ 3. อยู่ระหว่างการสอบสวนโรค 30 ราย โดยแบ่งตามพื้นที่ คือ กรุงเทพมหานคร มีจำนวนถึง 43 ราย สมุทรปราการ 23 ราย ภูเก็ต 11 ราย และจังหวัดอื่นๆ รวมทั้งสิ้น 120 ราย สำหรับผู้ป่วยที่เดินทางกลับจากต่างประเทศพบว่า มีตัวเลขเพิ่มขึ้น ซึ่งสัปดาห์แรกเป็นกลุ่มที่เดินทางมาจากยุโรป จากอเมริกาและปากีสถาน พบว่าเพิ่มขึ้นในช่วงหลัง แม้ทุกประเทศใช้วิธีการตั้งด่านตรวจคนเข้าเมืองและมาตรการเข้มในการอนุมัติวีซ่าแล้ว ก็ยังไม่สัมฤทธิ์ผล อาจต้องมีมาตรการที่เข้มข้นขึ้นอีก
โฆษก ศบค. กล่าวต่อว่า ตลอดระเวลา 1 เดือนที่ผ่านมายังถือว่าไทยอยู่ในภาวะวิกฤติ โดยตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม 2563 จนถึง 31 มีนาคม 2563 ตัวเลขผู้ติดเชื้อไวรัสเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ขณะนี้พบว่ากระจายไปทั่วประเทศ รัฐบาลจึงได้มีการประกาศใช้ พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน ในวันที่ 26 มีนาคม แต่ตัวเลขก็ยังเพิ่มขึ้นซึ่งเป็นผลมาจากไวรัสมีระยะเวลาการฟักเชื้อ 5 -7 วัน อย่างไรก็ตาม ตัวเลขที่เกิดขึ้นหลังจากนี้ คือ ตั้งแต่ปลายสัปดาห์นี้ถึงสัปดาห์หน้า จะเป็นผลจากมาตรการและการทำงานที่เข้มงวดของทุกคน รวมถึงผลการทำงานของ ศบค. ด้วย หากประชาชนฟังข้อมูลแล้วนำไปปฏิบัติตามมาตรการที่นายกรัฐมนตรีได้เน้นย้ำเชื่อมั่นว่า ตัวเลขจะลดลง จึงต้องขอความร่วมมือทุกคนปฏิบัติตนให้เข้มมากกว่านี้อีก โดยเป้าหมายคนที่ให้ความร่วมมือต้องมากกว่าร้อยละ 90 จึงจะเห็นผล
โฆษก ศบค. ยังแถลงต่อไปอีกว่า ข้อมูลจากกรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุขพบว่า ประชาชนมีความตื่นตัวในการรับรู้ข้อมูลข่าวสารเพิ่มขึ้น หลายคนรับฟังข่าวสารมากกว่า 5 ชั่วโมง 1 ใน 5 ของ คนไทยยังรับฟังข้อมูลข่าวสารเพิ่มขึ้น มีความเชื่อมั่นในมาตรการการดูแลป้องกันของกระทรวงสาธารณสุขอยู่ที่ระดับที่ 39.3 ซึ่งมากขึ้น ขณะที่ผลการสำรวจเกี่ยวกับการติดตามข้อมูลข่าวสารโควิด-19 ของประชาชนส่งผลต่อความเครียดมากน้อยเพียงใดนั้น จาการสำรวจใน 3 สัปดาห์ยังพบว่าสัปดาห์สุดท้ายความเครียดเพิ่มขึ้นมากที่สุดคือร้อยละ 3.7 และพบว่ามีความเครียดปานกลางและเครียดน้อยเป็นส่วนใหญ่ ซึ่งโฆษก ศบค. เห็นว่าระดับความเครียดปานกลางจะดีที่สุด หากเครียดน้อยอาจทำให้คนหย่อนยานต่อการปฏิบัติได้ โอกาสนี้ โฆษก ศบค. ยังย้ำถึงมาตรการขอความร่วมมือพี่น้องประชาชนในพื้นที่จังหวัดต่างๆ ที่ยังคงพบเห็นการรวมกลุ่มกันอยู่ โดยเฉพาะภาพที่ประชาชนสั่งอาหารและยังคงนั่งรับประทานที่ร้านมีการนั่งแบบใกล้ชิดกัน ทำให้มีโอกาสที่จะติดเชื้อจากสารคัดหลั่งที่มีการฟุ้งกระจายได้ จึงเป็นเหตุจำเป็นที่ต้องห้ามรับประทานอาหารที่ร้าน ขอโทษผู้ประกอบการด้วย
จากนั้น พล.ต.ท. ปิยะ อุทาโย โฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ กล่าวว่า ถึงวันนี้สถานการณ์ที่คนไทยทุกคนต้องร่วมมือกัน ตลอดระยะเวลา 4-5 วันที่ผ่านมา มีประชาชนบางส่วนที่ยังฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตามข้อกำหนดหรือตามข้อประกาศ รวมทั้งข้อกฎหมายต่าง ๆ ทั้งๆ ที่ นายกรัฐมนตรี บุคลากรทางการแพทย์และทุกภาคส่วนร่วมต่างทำงานอย่างหนัก กรณีตัวอย่างที่ยังฝ่าฝืน ทำผิดกฎหมายและเจ้าหน้าที่ตำรวจ ฝ่ายปกครอง ทหาร ได้บังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มงวด เช่น การมั่วสุ่ม การตั้งวงสนุกสนาน แม้จะเป็นการกระทำกรรมเดียวแต่ผิดกฎหมายหลายบท คือ ละเมิด พ.ร.บ. ควบคุมโรคติดต่อที่แต่ละจังหวัดออกประกาศ เพิ่มเติมผิด คือ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน นอกจากนี้ วานนี้ เจ้าหน้ายังได้เตือนห้ามกักตุนสินค้า การขายหน้ากากอนามัยและเวชภัณฑ์ผิดกฎหมาย คงมีมิจฉาชีพบางส่วนร่วมมือกับคนต่างชาติกักตุนแอลกอฮอล์ โดยถูกเจ้าหน้าที่รัฐเข้าจับกุมถึง 1,200 แกลลอนในท้องที่กรุงเทพมหานคร ซึ่งผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติได้สั่งการไปยังพนักงานสอบสวนให้ดำเนินคดีอย่างเฉียบขาด ถือเป็นกระทำความผิดโทษรุนแรง จำคุกไม่เกิน 7 ปี ปรับไม่เกิน 140,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับและยึดของกลางอีกด้วย ส่วนกรณีอื่นๆ เช่น มีบุคคลเข้าใช้บริการลิฟท์ในสถานีรถไฟฟ้า แล้วใช้มือป้ายน้ำลายเช็ดไปทั่วลิฟท์ ศาลลงโทษจำคุก 15 วัน ดังนั้น จึงขอเน้นย้ำประชาชนอย่าฝ่าฝืนกฎหมายเพราะเป็นความผิดรุนแรง ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรีได้กำชับไปยังสำนักงานตำรวจแห่งชาติให้บังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มงวดกับผู้ที่ซ้ำเติมความเดือดร้อนของพี่น้องประชาชน อาทิ เด็กแว้น การมั่วสุ่มจัดปาร์ตี้ยาอี เจ้าหน้าที่รัฐจะใช้มาตรการทางกฎหมายอย่างเข้มข้นและถือเป็นคดีเร่งด่วน โดยผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติย้ำตำรวจทุกฝ่ายต้องรีบดำเนินคดี รวบรวมพยานหลักฐานไปยังต้นตอ เสนอสั่งฟ้องทุกข้อหาและให้ลงโทษสถานหนักไม่ต้องรอลงอาญา หากมีของกลางให้ยึดทันที
ทั้งนี้ โฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติเชื่อมั่นว่า นายกรัฐมนตรี บุคลากรทางการแพทย์และเจ้าหน้าที่ทุกคนทำงานกันอย่างหนักและเต็มที่ ขอให้พี่น้องประชาชนอยู่บ้าน รักษาระยะห่างพอสมควร ใส่หน้ากากเมื่อออกบ้านและออกจากบ้านเท่าที่จำเป็น กรณีจังหวัดต่างๆ ที่มีการประกาศห้ามประชาชนออกจากเคหสถานนั้น จะเป็นเวลากลางคืนช่วงเวลาประมาณ 22.00 น.- 05.00 น. ซึ่งไม่ใช่เวลาทำงานตามปกติ สำหรับการขนส่งปัจจัย 4 สินค้าอุปโภค บริโภค ยาเวชภัณฑ์หรืออื่น ๆ ให้ทำเท่าที่จะเป็น ขอเตือนอีกครั้ง อย่าออกไปทำธุระอื่นๆ ที่ไม่จำเป็นเพราะเจ้าหน้าที่ตำรวจจะเข้มงวด เพื่อบ้านเมืองของเรา
ต่อมานายเชิดเกียรติ อัตถากร อธิบดีกรมสารนิเทศและโฆษกกระทรวงการต่างประเทศชี้แจงถึงนักเรียนไทยที่เข้าร่วมโครงการนักเรียนแลกเปลี่ยนในประเทศต่าง ๆ ที่ทยอยเดินทางกลับจากต่างประเทศ โดยเฉพาะประเทศสหรัฐอเมริกา จากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด – 19 ที่คาดว่าจะทยอยเดินทางกลับมาครบภายในเดือนเมษายน 2563 นี้ว่า กระทรวงการต่างประเทศติดตามและประสานงานอย่างใกล้ชิดกับสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงวอชิงตัน สหรัฐอเมริกา มูลนิธิการศึกษาและวัฒนธรรมสัมพันธ์ไทย-นานาชาติ (AFS) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการดูแลการประกันสุขภาพให้กับผู้ที่เดินทางกลับมา รวมทั้งสายการบินพาณิชย์ของสหรัฐอเมริกาที่ยังคงให้บริการ ซึ่งผู้ที่เดินทางกลับมาไทยนั้น จำเป็นต้องมีหนังสือรับรองจากสถานเอกอัครราชทูตและใบรับรองแพทย์ว่ามีสุขภาพเหมาะสมต่อการเดินทาง จากนั้นจะต้องเข้าสู่กระบวนการตรวจคัดกรองโรคอย่างเข้มข้นโดยกระทรวงสาธารณสุขและมาตรการอื่นๆ ด้วย
โอกาสนี้ โฆษก ศบค. ยังชี้แจงเพิ่มเติมอีกว่า นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขเห็นถึงความสำคัญในการเตรียมการรับนักเรียนไทยที่เดินทางกลับมาจากต่างประเทศ โดยจะมีบูรณาการการทำงานร่วมกับทั้งมูลนิธิการศึกษาและวัฒนธรรมสัมพันธ์ไทย-นานาชาติ (AFS) กระทรวงการต่างประเทศ และกระทรวงสาธารณสุข เพื่อยกระดับความปลอดภัยในการตรวจคัดกรองโรคสำหรับผู้ที่เดินทางกลับ รวมทั้งป้องกันบุคลากรทางการแพทย์ด้วย เช่นเดียวกรณีการรับนักเรียนไทยเดินทางกลับมาจากประเทศอิตาลี ซึ่งขณะนี้ได้รับความร่วมมือจากกองทัพอากาศ ที่อนุเคราะห์พื้นที่ค่ายทหารอากาศ โรงเรียนการบิน กำแพงแสนให้ใช้เป็นสถานที่เฝ้าสังเกตอาการตามมาตรการ state quarantine
ขอบคุณข้อมูล : กลุ่มประชาสัมพันธ์และเผยแพร่ สำนักโฆษก ดูเพิ่มเติม