ข่าวใหม่อัพเดท » “รมช.ธรรมนัส” กำชับฝนหลวงฯ เร่งทำฝน ช่วยคลี่คลายภัยแล้ง-พายุลูกเห็บ-หมอกควันไฟป่า​ พร้อมให้กำลังใจเจ้าหน้าที่ปฏิบัติภารกิจอย่างเต็มกำลังความสามารถ

“รมช.ธรรมนัส” กำชับฝนหลวงฯ เร่งทำฝน ช่วยคลี่คลายภัยแล้ง-พายุลูกเห็บ-หมอกควันไฟป่า​ พร้อมให้กำลังใจเจ้าหน้าที่ปฏิบัติภารกิจอย่างเต็มกำลังความสามารถ

2 เมษายน 2020
0

“รมช.ธรรมนัส” กำชับฝนหลวงฯ เร่งทำฝนช่วยคลี่คลายภัยแล้ง-พายุลูกเห็บ-หมอกควันไฟป่า​ พร้อมให้กำลังใจเจ้าหน้าที่ปฏิบัติภารกิจอย่างเต็มกำลังความสามารถ

วันที่ 2 เมษายน 2563 เวลา 13.30 น.ณ ห้องประชุมเทวกุล กรมฝนหลวงและการบินเกษตร​ : ร้อยเอก ธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นประธานการประชุม (VDO Conference)​ ติดตามสถานการณ์ภัยแล้งและการปฏิบัติการฝนหลวง โดยมีผู้บริหารและเจ้าหน้าที่ของกรมฝนหลวงและการบินเกษตร ในส่วนกลางและส่วนภูมิภาคจากหน่วยปฏิบัติการฝนหลวง 11 หน่วยฯ ทั่วประเทศเข้าร่วมด้วย

รมช.ธรรมนัสฯ​ เปิดเผยว่า ตามที่ขณะนี้ประเทศไทยอยู่ในช่วงฤดูร้อน​ และจากประกาศของกรมอุตุนิยมวิทยา แจ้งว่าบริเวณประเทศไทยตอนบนจะมีพายุ ฤดูร้อนเกิดขึ้น โดยมีลักษณะเกิดพายุฝนฟ้าคะนอง ลมกระโชกแรง อาจมีฟ้าผ่าเกิดขึ้นได้ และมีลูกเห็บตกบางพื้นที่ ในภาคเหนือ,ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ,ภาคตะวันออก และภาคกลาง ซึ่งจะส่งผลให้เกิดความเสียหายต่อพี่น้องประชาชน เกษตรกร พื้นที่การเกษตร และผลผลิตทางการเกษตรได้นั้น จึงได้สั่งการให้กรมฝนหลวงและการบินเกษตร และหน่วยปฏิบัติการฝนหลวงที่รับผิดชอบบริเวณพื้นที่ดังกล่าว

ติดตามสภาพอากาศ วางแผนปฏิบัติการฝนหลวงช่วยเหลือพี่น้องเกษตรกรและประชาชนให้ได้รับผลกระทบน้อยที่สุด สำหรับพื้นที่การเกษตรที่ประสบปัญหาภัยแล้ง มีความต้องการน้ำ รวมถึงพื้นที่ลุ่มรับน้ำที่มีปริมาณน้ำใช้การไม่เพียงพอ ให้เร่งปฏิบัติการฝนหลวงตามข้อมูลที่มีการติดตามสถานการณ์เป็นประจำทุกวัน และข้อมูลการขอรับบริการฝนหลวง ส่วนปัญหาหมอกควันที่เกิดจากการเผาพื้นที่การเกษตร พื้นที่ไฟไหม้ป่า ให้ดำเนินการประสานงานกับพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบ และติดตามเฝ้าระวังสถานการณ์อย่างต่อเนื่อง หากสภาพอากาศเอื้ออำนวย ให้ปฏิบัติการฝนหลวงหรือสนับสนุนเฮลิคอปเตอร์ตักน้ำดับไฟป่าทันที ทั้งนี้ ขอให้เจ้าหน้าที่ดูแลและระมัดระวังตนเองในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา (COVID-19) โดยปฏิบัติตามมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของรัฐบาล กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และกรมฯ และขอให้กำลังใจเจ้าหน้าที่ปฏิบัติภารกิจ เพื่อพี่น้องเกษตรกร​ และประชาชนอย่างเต็มกำลังความสามารถ

ด้านนายสุรสีห์ กิตติมณฑล อธิบดีกรมฝนหลวงและการบินเกษตร กล่าวเพิ่มเติมว่า ในส่วนของการปฏิบัติการฝนหลวงของหน่วยปฏิบัติการฯ 11 หน่วยทั่วประเทศ ในขณะนี้มีการปรับฐานปฏิบัติการเพื่อดูแลพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบให้ครอบคลุมมากยิ่งขึ้น ซึ่งประกอบด้วย ภาคเหนือ ตั้งหน่วยปฏิบัติการที่ จ.เชียงใหม่ และพิษณุโลก ภาคกลาง ย้ายจากหน่วยฯ จ.นครสวรรค์ ไปประจำการที่ จ.ลพบุรี และย้ายจากหน่วยฯ จ.กาญจนบุรี ไปประจำการที่สนามบินชั่วคราว จ.ราชบุรี ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ตั้งหน่วยฯ ที่ จ.ขอนแก่น อุดรธานี บุรีรัมย์ และย้ายจากหน่วยฯ จ.อุบลราชธานี ไปประจำการที่​จ.นครราชสีมา ภาคตะวันออก ย้ายจากหน่วยฯ จ.ระยอง ไปประจำการที่ จ.จันทบุรี และภาคใต้ ยังคงตั้งหน่วยฯ ที่ จ.สุราษฎร์ธานี และ อ.หัวหิน จ.ประจวบคีรีขันธ์ ซึ่งทั้ง 11 หน่วยฯ จะมีการติดตามสภาพอากาศเป็นประจำ ทุกวันเพื่อวางแผนปฏิบัติการฝนหลวงช่วยเหลือพื้นที่การเกษตร พื้นที่เขื่อน อ่างเก็บน้ำ และแม่น้ำลำคลอง ช่วยเหลือพื้นที่​ ที่ได้รับผลกระทบจากปัญหาไฟป่า หมอกควัน ช่วยบรรเทาความรุนแรงของพายุลูกเห็บจากสถานการณ์พายุฤดูร้อนที่กำลังจะเกิดขึ้น ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากกองทัพอากาศและกองทัพบก ในการร่วมกันปฏิบัติภารกิจดังกล่าวทั้งหมดด้วย

อย่างไรก็ตาม สำหรับการปฏิบัติงานในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา (COVID-19) กรมฝนหลวงและการบินเกษตร ได้มีมาตรการป้องกันการแพร่ระบาด โดยให้บุคลากรส่วนกลาง วัดอุณหภูมิร่างกาย ณ จุดคัดครองภายในบริเวณที่หน่วยงานกำหนด ปรับเวลาการปฏิบัติงานเพื่อลดการแออัดจากการเดินทางและการรวมกลุ่มในสถานที่ทำงาน ส่วนทางภูมิภาคกำชับให้บุคลากรทุกฝ่าย อาทิ นักวิทยาศาสตร์ นักบิน ช่างเครื่องบิน ปฏิบัติตามมาตรการที่ทางราชการกำหนด และงดการเดินทางข้ามพื้นที่จังหวัดโดยไม่ได้รับอนุญาตในช่วงระหว่างวันที่ 1–30 เมษายน 2563 เพื่อให้ความร่วมมือตามนโยบายของรัฐบาล

ทั้งนี้ กรมฝนหลวงและการบินเกษตร ได้รับการสนับสนุนอุปกรณ์เวชภัณฑ์จาก ร้อยเอก ธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้แก่ เครื่องวัดอุณหภูมิ หน้ากากอนามัย แอลกอฮอล์ แอลกอฮอล์เจล ถุงมือ สำลี และขวดสเปรย์ สำหรับให้บุคลากรนำไปใช้ ในการป้องกันเชื้อไวรัสโคโรนา (COVID-19) นายสุรสีห์ กล่าวทิ้งท้าย


Cr.กรมฝนหลวงและการบินเกษตร สุรเชษฐ​ ศิลา​นนท์​ รายงาน​

error: Content is protected !!