โฆษก ศบค.ยืนยัน ไม่มีการประกาศเคอร์ฟิว 24 ชม. เตือนสื่อมวลชน อย่าเสนอข่าวไม่เป็นจริง อาจมีโทษตาม พ.ร.ก. สถานการณ์ฉุกเฉิน
วันนี้ (6 เม.ย.63) เวลา 11.30 น. ณ ศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) (ศบค.) โถงกลาง ตึกสันติไมตรี ทำเนียบรัฐบาล นายแพทย์ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษก ศบค. ตอบคำถามสื่อมวลชนผ่านโซเซียลมีเดียช่วงการแถลงข่าวของศูนย์ข่าวโควิด-19 สรุปสาระสำคัญ ดังนี้
โฆษก ศบค. ชี้แจงกรณีที่มีการแชร์เอกสารราชการที่จะมีการคุมเข้มการระบาดของโควิด-19 โดยมีการตีความว่าจะนำไปสู่การประกาศเคอร์ฟิว 24 ชั่วโมง รวมทั้งสื่อมวลชนบางสำนัก ได้เสนอข่าวระบุวันว่าจะเริ่มตั้งแต่ 10 เม.ย.63 ว่า ศูนย์ฯ มีความห่วงใยจึงต้องจัดแถลงข่าวรายวันทุกวัน เพื่อแจ้งข้อเท็จจริง ย้ำยังไม่มีการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินหรือเคอร์ฟิว 24 ชั่วโมง เพราะตอนนี้เพิ่งประกาศเคอร์ฟิวเพียง 6 ชั่วโมงคือ ช่วงเวลา 22.00 น.- 04.00 น. ของทุกวัน หากตัวเลขของการติดเชื้อใหม่ลดลง ไม่ต้องมีมาตรการอื่น ๆ หากตัวเลขนี้ยังเพิ่มขึ้น แสดงว่ามาตรการที่มีอยู่ไม่เพียงพอ ถึงตรงนั้นอาจจะมีการปรับเพิ่ม แต่ ณ วันนี้ยังไม่มีเคอร์ฟิว 24 ชั่วโมง การแชร์ข่าวคงเชื่อมโยงกันกับประกาศของปลัดกระทรวงมหาดไทย ซึ่งเจตนาของเอกสาร คือ การสื่อสารไปยังผู้ว่าราชการจังหวัด ฝ่ายปกครองในพื้นที่ ต้องแปลงนโยบายนำไปสู่การปฏิบัติ ใช้คำว่าเตรียมการเพื่อยกระดับ ยังไม่ได้บอกว่ายกระดับ เป็นการเตรียมการเพื่อยกระดับเป็นการใช้คำที่ถูกต้อง ทั้งการเตรียมคนที่จะเข้าพื้นที่ ต้องมี State Quarantine และ Local Quarantine อาทิ ภาคใต้จะต้องใช้พื้นที่รองรับ 111 คนที่จะเข้ามา ต้องจัดหาสถานที่ มีการทำแผนเผชิญเหตุ ต้องมีการควบคุมการกักตุนสินค้า วางแผนระบบโลจิสติกส์ เครื่องอุปโภคบริโภคต่าง ๆ และให้มีระบบรายงาน
โฆษก ศบค. ยังเตือนสื่อไม่ว่าจะสื่อบุคคล สื่อสำนัก หรือสื่อต่าง ๆ พออ่านเอกสารของทางราชการไม่ออก ก็เป็นตุเป็นตะขึ้นมา ทำให้เกิดผลกระทบ คนจะไปกักตุนสินค้า เพราะกลัวว่าจะออกจากบ้านไม่ได้ เกิดความตื่นตระหนกกันไป ซึ่งไม่เหมาะไม่ควรอย่างนี้ในเวลาขณะนี้เราอยู่ในการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน การแชร์ข้อมูลที่ไม่ได้เป็นจริง มีโทษ และต้องมีการเข้มงวดกันมากขึ้นเรื่อย ๆ ขอให้ฟังช่วงการแถลงข่าวสดของศูนย์ฯ หากมีอะไรเพิ่มเติมในฐานะโฆษก ศบค. จะทำหน้าที่เป็นผู้ประกาศแจ้งในเวลา 11.30 น. และในวันที่มีการประชุม หลังเสร็จสิ้นการประชุม ศบค. ในเวลาประมาณ 12.30 น. โดยจะนำทุกเรื่องมารายงานต่อพี่น้องประชาชนโดยเร็ว
สำหรับคำถามของสื่อมวลชนที่ว่าในปัจจุบันนั้น มีองค์กรในหลายภาคส่วนมีความประสงค์ที่จะจัดหาหน้ากากอนามัยทางการแพทย์และหน้ากากอนามัยชนิด N95 เพื่อนำไปบริจาคให้บุคลากรทางการแพทย์ในสถานพยาบาลต่าง ๆ แต่มีความกังวลว่าอาจจะได้หน้ากากอนามัยที่ไม่ได้มาตรฐาน และจะมีปัญหาเกิดขึ้นเมื่อมีการนำไปใช้นั้น โฆษก ศบค. ชี้แจงว่า ได้รับรายงานการหลอกขายหน้ากากอนามัยปลอม เช่น หน้ากากอนามัยที่บาง ไม่มีตัวกรองหรือฟิลเตอร์ เนื่องจากความต้องการซื้อมาก รวมถึงหลายองค์กรที่ต้องการซื้อเพื่อนำไปบริจาคให้แก่สถานพยาบาล แต่บุคคลทั่วไปไม่มีความสามารถในการตรวจสอบว่าเป็นหน้ากากที่ได้มาตรฐานหรือไม่ โดยเฉพาะหน้ากากอนามัยชนิด N95 ซึ่งมีราคาสูง มีคุณสมบัติในการกันเชื้อโรค แต่มีการหลอกขายหน้ากากอนามัยชนิด N95 ที่สามารถกันได้แค่ละอองฝุ่น ดังนั้น องค์การอาหารและยา แนะนำไม่ซื้อหน้ากากอนามัยที่ไม่แน่ใจว่าได้มาตรฐาน เพราะหากมีการนำไปบริจาคแก่โรงพยาบาลจะไม่สามารถใช้ได้ ก็จะกลายเป็นหน้ากากที่ไม่มีคุณค่าทางการแพทย์และถูกวางทิ้ง หากประชาชนมีความประสงค์ที่จะบริจาคหรือซื้อ ขอให้ติดต่อกับสถานพยาบาลโดยตรงเพื่อตรวจสอบว่าหน้ากากอนามัยนั้นถูกต้องตามมาตรฐาน ทั้งนี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขและปลัดกระทรวงสาธารณสุข ได้รับคำสั่งจากนายกรัฐมนตรีในการจัดหาหน้ากากอนามัยชนิด N95 โดยได้รับการจัดสรรจากงบประมาณกลาง โดยประมาณการใช้ราววันละ 60,000 ชิ้น ในขณะนี้ผู้ผลิตหน้ากากอนามัยรายใหญ่ที่อยู่ในประเทศจีน จะมีการนำเข้าเพื่อกระจายให้แก่บุคลากรทางการแพทย์ ขอย้ำให้เชื่อมั่นในการทำงานของรัฐบาล รวมถึงไม่ควรสนับสนุนผู้ที่นำหน้ากากอนามัยปลอมมาขายที่มีการแพร่ระบาดอยู่จำนวนมาก เพราะหากบุคลากรทางการแพทย์ได้รับหน้ากากอนามัยที่ไม่ได้มาตรฐานไปใช้นั้นอาจก่อให้เกิดการติดเชื้อได้
จากนั้น โฆษก ศบค. ตอบคำถามจากเฟซบุ๊กไลฟ์ กรณีมีผู้ลงทะเบียนรับเงินเยียวยา 5,000 บาทในเว็บไซต์ www.เราไม่ทิ้งกันhttp://xn--q3c.com/ โดยกล่าวว่า ยอดตัวเลขผู้ลงทะเบียนรับเงินเยียวยาดังกล่าวสูงถึง 24.2 ล้านคน โดยต้องขอบคุณพี่น้องประชาชนที่ให้ความสำคัญ แต่พบว่ามีจำนวนมากกว่าที่ตั้งโจทย์ไว้ประมาณ 3 ล้านคน หากนำงบประมาณมาใช้ด้านนี้ด้านเดียว การรักษาพยาบาล และด้านอื่น ๆ คงจะต้องมีปัญหาแน่นอน ขอขอบคุณหลายคนที่ได้แสดงความรับผิดชอบ มีตัวเลขคนที่ยกเลิก 3 แสนคน ลดภาระงานกับส่วนต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง หากผู้ที่ได้ลงทะเบียนไปแล้วพบว่าตนเองมีคุณสมบัติที่ไม่ตรงตามเกณฑ์ ขอให้ไปถอนชื่อออก เพราะการให้ข้อมูลข่าวสารที่เป็นเท็จมีความผิดตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ อีกทั้งทำให้เกิดกระบวนการการจัดการที่ยุ่งยาก หากมีผู้ถอนชื่อออกเป็นจำนวนล้านคน จะส่งผลให้ภาระงานของเจ้าหน้าที่กระทรวงการคลังลดน้อยลง การช่วยเหลือเยียวยาผู้ที่มีผลกระทบโดยตรงจะได้เร็วขึ้น เพราะมาตรการนี้ต้องการช่วยเหลือคนที่มีผลกระทบโดยตรงมากที่สุด เพราะเงิน 5,000 บาทมีคุณค่ากับทุกคน หากไม่เข้าเงื่อนไขขอให้ถอนชื่อออกจากระบบออนไลน์โดยทันที
โฆษก ศบค. ยังตอบคำถามถึงความชัดเจนของรัฐบาล และแนวทางของศูนย์ฯ ในการให้ความช่วยเหลือคนไทยที่ยังอยู่ในต่างประเทศ เช่น กรณีคนไทยในอินเดีย ซึ่งมีทั้งนักเรียนและคนไปทำงานไม่น้อยกว่า 400 คน ที่จะเดินทางกลับหรือขอรับความช่วยเหลือว่า รัฐบาลมีความห่วงใยทุกคน เป็นหน้าที่เป็นสิทธิ์ของผู้ที่ต้องการจะกลับบ้านสามารถกลับมาได้ เพียงขอให้ไปรายงานตัวที่สถานเอกอัครราชทูตประจำอินเดีย ซึ่งจะช่วยอำนวยความสะดวก ต้องมีใบรับรองแพทย์และทำตามกติกาที่วางไว้ เพราะเมื่อกลับมาแล้วก็จะมีบุคคลที่ต้องเตรียมภาระงานที่จะเกิดขึ้นจำนวนมาก ได้แก่ เจ้าหน้าที่บริการอาหาร แพทย์ และบุคลากรทางการแพทย์ รวมทั้งฝ่ายความมั่นคง ตำรวจ ทหาร มีโรงแรมหนึ่งแห่งที่สามารถรองรับคนได้ 100 ห้อง ขอให้รับทราบว่ามีผู้ที่เกี่ยวข้องที่ต้องเตรียมความพร้อมให้ท่านด้วย ดังนั้น ขอให้ผู้ที่ต้องการเดินทางกลับมาได้ไปรายงานตัวแจ้งความประสงค์ และวางแผนการเดินทางให้สอดคล้องด้วย จากการประชุมของ ศบค. พบว่ามีความสามารถในการรองรับคนไทยที่จะกลับเข้ามาในประเทศ ประมาณวันละ 200 คน จึงขอให้ทยอยกันกลับเข้ามา เพื่อจะได้รับการดูแลเป็นอย่างดี
พร้อมกันนี้ โฆษก ศบค. ตอบคำถามกรณีที่ว่า พลาสม่าของผู้ป่วยที่หายป่วยจากโควิด-19 จะสามารถนำมารักษาผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรงได้อย่างไร มีการวิจัยถึงขั้นตอนใด แพทย์จะติดต่อผู้ป่วยที่หายจากโควิด-19 แล้วได้อย่างไร ว่า โรคนี้เป็นโรคอุบัติใหม่ เพิ่งจะเกิดขึ้นมา ยังไม่มียารักษาโดยตรง ถึงแม้จะมียาบางตัวที่มาจากจีน ญี่ปุ่น และวัคซีนก็ยังไม่เกิดขึ้น ฉะนั้น การค้นหาวิธีการในการรักษา แพทย์และนักวิทยาศาสตร์ทางการแพทย์ ล้วนแต่มีความต้องการที่จะหาหนทางช่วยเหลือคนไข้ ซึ่งการใช้พลาสม่าที่เป็นสารประกอบอยู่ในเลือด คนที่ติดเชื้อและหายแล้วจะมีภูมิคุ้มกันโดยหลักฐานทางวิชาการ เหมือนกรณีผู้ที่ติดเชื้อหัด จะมีภูมิคุ้มกันโรคหัดขึ้น ฉะนั้นน้ำเหลืองหรือพลาสม่า หรือสารประกอบเลือด ก็จะมีตรงนี้เกิดขึ้น โดยประโยชน์ของการมีภูมิคุ้มกันนี้จะนำไปใช้ช่วยยับยั้งเชื้อ ฆ่าเชื้อ หรือป้องกันการติดเชื้อของคนที่ป่วยอยู่ในตอนนี้ ที่ร่างกายไม่ไหว สู้ไม่ได้ ก็จะมีการให้พลาสม่ากับรายที่ป่วยอยู่ ซึ่งบางรายก็ประสบความสำเร็จ บางรายยังต้องใช้ประกอบกับการรักษาอื่น ๆ ซึ่งสภากาชาดไทย ผู้บริหาร แพทย์ นักวิชาการ และนักปฏิบัติการต่าง ๆ พยายามที่จะช่วยเหลืออยู่ หากผู้ที่หายป่วยแล้วจะให้ความร่วมมือก็จะเป็นเรื่องที่ดี โดยจะอยู่ในความดูแลของแพทย์ และวิวัฒนาการหรือความรู้ในเรื่องนี้ จะถูกรวบรวมเข้ามา และนำไปสู่การหาหนทางที่ประสบความสำเร็จของคนไทย ในการเป็นชุดข้อมูลที่อาจจะมีความสำคัญถึงขั้นที่จะไปชี้นำคนอื่น ๆ ได้ด้วย ทั้งนี้ ต้องขอขอบคุณทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ขอให้ช่วยกัน
โฆษก ศบค. ยังตอบคำถามถึงความชัดเจนของการประกาศยกเว้นกรณีบางอาชีพที่ต้องทำงานในช่วงเวลาเคอร์ฟิว และระหว่างนี้ กลุ่มที่ประกอบอาชีพ เช่น ผู้กรีดยาง ประมง ขนส่งผักในตลาด จะมีแนวทางปฏิบัติอย่างไร ว่า เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ได้มาชี้แจงแล้ว โดยหลักการของข้อกำหนด พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ คือต้องการให้มีการออกมาจากนอกบ้านน้อยที่สุด คนที่จำเป็นจริง ๆ เท่านั้น ซึ่งก็ปรากฏอยู่แล้วว่ามีหลายสาขาวิชาชีพ หลายกลุ่มอาชีพ ถ้าหากท่านเห็นว่ามีความสำคัญจำเป็น หรือเจ็บป่วย ต้องไปโรงพยาบาล ขอให้ไปขออนุญาตเพิ่มเติมได้ ให้ถามเจ้าหน้าที่ตำรวจในพื้นที่ ที่จุดตรวจ หรือที่สถานีตำรวจ โดยถ้ามีเหตุผล ความจำเป็นสำคัญจริง ๆ เจ้าหน้าที่ตำรวจก็มีหน้าที่บริการประชาชนอยู่แล้ว แต่ถ้าไม่จำเป็นจริง ๆ ขอให้อยู่บ้านดีที่สุด
ช่วงท้าย โฆษก ศบค. ได้ตอบคำถามเกี่ยวกับการจัดสรรอุปกรณ์ทางการแพทย์ โดยเฉพาะหน้ากากอนามัยชนิด N95 ให้แก่เจ้าหน้าที่กู้ภัย เนื่องจากเป็นด่านแรกที่ปฏิบัติงานใกล้ชิดกับผู้ป่วยที่มีความเสี่ยงติดเชื้อไวรัสโควิด – 19 นั้น โดยชี้แจงว่า ขณะนี้มีการจัดสรรหน้ากากอนามัยทางการแพทย์เช่นเดียวกับสถานพยาบาลให้แก่เจ้าหน้าที่กู้ภัย ซึ่งอยู่ในอัตราการจัดสรรอยู่แล้ว หน้ากากอนามัยชนิด N95 เป็นหน้ากากอนามัยที่มีประสิทธิภาพในการกรองเชื้อโรค ราคาแพงกว่า รวมทั้งยังขาดแคลนหน้ากากชนิดนี้ทั่วโลก ซึ่งทุกคนนั้นล้วนสำคัญทั้งสิ้น แต่จะต้องเรียงลำดับตามความจำเป็นและความเสี่ยงที่จะต้องใช้ ดังนั้นกระทรวงสาธารณสุขจะดูแลมาตรการในการจัดสรรหน้ากากอนามัยให้แก่กลุ่มตามลำดับความเสี่ยง ร่วมกับกระทรวงมหาดไทย จะออกมาตรการรองรับในการจัดสรรหน้ากากอนามัยชิด N95 ให้แก่ผู้ที่มีความจำเป็นในการใช้ เพื่อให้มีการกระจายถึงเจ้าหน้าที่กู้ภัยในลำดับต่อไป
ขอบคุณ : กลุ่มประชาสัมพันธ์และเผยแพร่ สำนักโฆษก