ปคบ.ร่วม อย. จับผู้กักตุนหน้ากากอนามัย ลักลอบผลิตเจลแอลกอฮอล์ มูลค่า 50 ล้านบาท
วันที่ 7 เม.ย.63 เวลา 10.30 น.ที่ ปคบ.: อย.และ ตำรวจปคบ.แถลงจับกุมผู้กักตุนหน้ากากอนามัย ลักลอบผลิตเจลแอลกอฮอล์ และลักลอบนำชุดตรวจโควิด-19 มาจำหน่ายโดยไม่ได้รับอนุญาต พร้อมตรวจยึดของกลางมูลค่า 50 ล้านบาท ประกอบด้วยหน้ากากอนามัย อุปกรณ์ชุดตรวจโควิด-19 และเจลผสมแอลกอฮอล์จำนวนมาก
พลตำรวจโท เพิ่มพูน ชิดชอบ ผู้ช่วยผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ หัวหน้าคณะทำงานปราบปรามผลิตภัณฑ์และการบริการด้านสุขภาพที่ผิดกฎหมายของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ พร้อมด้วยพลตำรวจตรีณัฐศักดิ์ เชาวนาศัย ผู้บังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภค และสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา กระทรวงสาธารณสุข โดย นายแพทย์ไพศาล ดั่นคุ้ม เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา เภสัชกรหญิงสุภัทรา บุญเสริม รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา ร่วมกันแถลงผลการจับกุมผู้กักตุนหรือขายหน้ากากอนามัยในราคาที่สูงเกินควร รวมถึงลักลอบนำชุดตรวจโควิด-19 และลักลอบผลิตเจลผสมแอลกอฮอล์มาจำหน่ายโดยไม่ได้รับอนุญาตในช่วงวันที่ 22 มีนาคม – 2 เมษายน 2563 พร้อมตรวจยึดของกลางประกอบด้วยหน้ากากอนามัย จำนวน 350,000 ชิ้น อุปกรณ์ชุดตรวจโรคโควิด-19 จำนวน 55,000 ชุด เครื่องวัดอุณหภูมิ แบบอินฟราเรด 1,200 เครื่อง ผลิตภัณฑ์แอลกอฮอล์ 53,000 ลิตร ผลิตภัณฑ์เจลผสมแอลกอฮอล์ 7,896 ชิ้น ผลิตภัณฑ์เครื่องสำอาง 8,271 ชิ้น รวมมูลค่าของกลางที่ตรวจยึดกว่า 50 ล้านบาท โดยมีผลการปฏิบัติที่น่าสนใจ ดังนี้
คดีแรก : “ปคบ.ร่วม อย.ทลายโรงงานเถื่อน ผลิตเจลแอลกอฮอล์ปลอม” เมื่อวันที่ 26 มีนาคม 2563 ได้ตรวจค้นอาคารเลขที่ 168 หมู่ 9 ต.อ้อมน้อย อ.กระทุ่มแบน จ.สมุทรสาคร พร้อมตรวจยึดของกลางประกอบด้วยผลิตภัณฑ์แอลกอฮอล์ จำนวน 15 ถัง ถังละ 200 ลิตร รวม 3,000 ลิตร เครื่องสำอางสำเร็จรูป จำนวน 6,865 ขวด อุปกรณ์การผลิต บรรจุภัณฑ์ และฉลากผลิตภัณฑ์จำนวนมาก ซึ่งการกระทำดังกล่าวเป็นความผิดตามพระราชบัญญัติเครื่องสำอาง พ.ศ.2558 ดังนี้
- ฐาน “ผลิตเครื่องสำอางโดยไม่จดแจ้ง หรือยังไม่ได้รับใบจดแจ้งก่อนผลิต” มีอัตราโทษ จำคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือปรับไม่เกิน 50,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
- ฐาน “ผลิตเพื่อขายเครื่องสำอางปลอมที่ใช้ฉลากแจ้งชื่อผู้ผลิต ผู้นำเข้าหรือแหล่งผลิตที่ไม่ใช่ความจริง” มีอัตราโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
- ฐาน “ผลิตเพื่อขายเครื่องสำอางปลอมที่แสดงว่าเป็นเครื่องสำอางที่ได้จดแจ้งไว้ซึ่งมิใช่ความจริง” มีอัตราโทษ จำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 200,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
คดีที่สอง : ตรวจค้นโกดังพ่อค้าชาวจีน พบหน้ากากอนามัย ชุดตรวจโควิด-19 เถื่อน มูลค่ากว่า 33 ล้านบาท โดยเมื่อวันที่ 1 เมษายน 2563 ได้จับกุมตัว นายเฉิน เหล่ย อายุ 35 ปี สัญชาติจีน นายเหวิน ปินปิน อายุ 24 ปี สัญชาติจีน โดยจับกุมที่บ้านเลขที่ 67 ซอยวชิรธรรมสาธิต 53 แขวงบางจาก เขตพระโขนง กรุงเทพฯ พร้อมตรวจยึดของกลางประกอบด้วย อุปกรณ์ชุดตรวจโรคโควิด-19 จำนวน 45,000 ชุด มูลค่ากว่า 22,500,000 บาท, เครื่องวัดอุณหภูมิแบบอินฟราเรด จำนวน 1,200 เครื่อง มูลค่ากว่า 6,000,000 บาท, หน้ากากอนามัย จำนวน 350,000 ชิ้น มูลค่ากว่า 5,250,000 บาท, รวมมูลค่าของกลางกว่า 33,750,000 บาท โดยการกระทำดังกล่าวเป็นความผิดดังนี้
- สำหรับอุปกรณ์ชุดตรวจ โควิด 19 และเครื่องวัดอุณหภูมิแบบอินฟราเรด ผิดฐาน “นำเข้าเครื่องมือแพทย์โดยไม่จดทะเบียนสถานประกอบการ” ตามพระราชบัญญัติเครื่องมือแพทย์ พ.ศ.2551 มีอัตราโทษ จำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
- สำหรับหน้ากากอนามัยผิดฐาน “เป็นผู้นำเข้าไม่แจ้งปริมาณนำเข้า ปริมาณจำหน่าย ปริมาณคงเหลือ ชื่อและที่อยู่�ของผู้ซื้อ” ตาม พระราชบัญญัติว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ พ.ศ.2542 ,ประกาศคณะกรรมการกลางว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ ฉบับที่ 9 มีอัตราโทษ จำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
คดีที่สาม : “ปคบ.ร่วม อย.ทลายโรงงานผลิตเจลล้างมือเถื่อน” โดยเมื่อวันที่ 1 เมษายน 2563 ได้ตรวจค้น อาคารเลขที่ 97/67 ต.บึงน้ำรักษ์ อ.ธัญบุรี จ.ปทุมธานี พร้อมตรวจยึดของกลางประกอบด้วยผลิตภัณฑ์แอลกอฮอล์ จำนวน 50 ถัง ถังละ 1,000 ลิตร รวม 50,000 ลิตร ผลิตภัณฑ์เจลผสมแอลกอฮอล์ จำนวน 1,180 ขวด ผลิตภัณฑ์เจลผสมแอลกอฮอล์ จำนวน 456 แกลลอน เครื่องสำอางสำเร็จรูป จำนวน 26 แกลลอน อุปกรณ์การผลิต บรรจุภัณฑ์ และฉลากผลิตภัณฑ์ จำนวนมาก โดยการกระทำดังกล่าวเป็นความผิดตามพระราชบัญญัติเครื่องสำอาง พ.ศ.2558 ดังนี้
- ฐาน “ผู้จดแจ้งต้องผลิตหรือนำเข้าเครื่องสำอางให้ตรงตามที่จดแจ้งไว้ ” มีอัตราโทษ ปรับไม่เกิน 20,000 บาท
- ฐาน “ผลิตเพื่อขายเครื่องสำอางปลอม ที่ใช้ฉลากแจ้งชื่อผู้ผลิตผู้นำเข้าหรือแหล่งผลิตที่ไม่ใช่ความจริง” มีอัตราโทษ จำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
- ฐาน “ฉลากเครื่องสำอางมีข้อความที่อาจก่อให้เกิดความเข้าใจผิดในสาระสำคัญ และ ฉลากแสดงที่ตั้งผู้ผลิตไม่ถูกต้อง” มีอัตราโทษ จำคุกไม่เกิน 3 เดือน หรือปรับไม่เกิน 30,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
คดีที่สี่ : ตรวจยึด ชุดตรวจโควิด-19 เถื่อน มูลค่ากว่า 5 ล้านบาท เมื่อวันที่ 2 เมษายน 2563 เหตุเกิดที่ แขวงแสมดำ เขตบางขุนเทียน กรุงเทพฯ ได้ตรวจยึดของกลางดังนี้ อุปกรณ์ชุดตรวจ โรคโควิด-19 จำนวน 10,000 ชุด มูลค่ากว่า 5,000,000 บาท การกระทำดังกล่าวเป็นความผิดฐาน นำเข้าเครื่องมือแพทย์โดยไม่จดทะเบียนสถานประกอบการ ตามพระราชบัญญัติเครื่องมือแพทย์ พ.ศ.2551 มีอัตราโทษ จำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 100,000 บาท �หรือทั้งจำทั้งปรับ
คดีที่ห้า : ปคบ.ร่วม อย.ตรวจสอบโรงงานเถื่อน ผลิตเจลแอลกอฮอล์ปลอม โดยเมื่อวันที่ 2 เมษายน 2563 ได้ตรวจค้น อาคารเลขที่ 42/29 หมู่ที่ 3 ต.บึงน้ำรักษ์ อ.ธัญบุรี จ.ปทุมธานี พร้อมตรวจยึดของกลางดังนี้ ผลิตภัณฑ์เจลผสมแอลกอฮอล์ จำนวน 6,260 หลอด เครื่องสำอางสำเร็จรูป จำนวน 1,380 ขวด ฉลากผลิตภัณฑ์ จำนวน 54,050 แผ่น อุปกรณ์การผลิต และบรรจุภัณฑ์ จำนวนมาก การกระทำดังกล่าวเป็นความผิดตามพระราชบัญญัติเครื่องสำอาง พ.ศ.2558 ดังนี้
- ฐาน “ ผลิตเครื่องสำอางโดยไม่จดแจ้ง หรือยังไม่ได้รับใบจดแจ้งก่อนผลิต” มีอัตราโทษ จำคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือปรับไม่เกิน 50,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
- ฐาน “ ผลิตเพื่อขายเครื่องสำอางปลอมที่ใช้ฉลากแจ้งชื่อผู้ผลิตผู้นำเข้าหรือแหล่งผลิตที่ไม่ใช่ความจริง” มีอัตราโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
- ฐาน “ ผู้จดแจ้งต้องผลิตหรือนำเข้าเครื่องสำอางให้ตรงตามที่จดแจ้งไว้” มีอัตราโทษ ปรับไม่เกิน 20,000 บาท
พลตำรวจโทเพิ่มพูนฯ กล่าวว่า จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ทำให้เกิดการกักตุนหน้ากากอนามัยและถูกนำมาจำหน่ายในราคาที่สูงเกินสมควร อีกทั้งมีการลักลอบนำอุปกรณ์ชุดตรวจโรคโควิด-19 ซึ่งเป็นเครื่องมือแพทย์ และเจลผสมแอลกอฮอล์มาโฆษณาขายผ่านทางสื่อสังคมออนไลน์ โดยไม่ได้รับอนุญาต ซึ่งการกระทำดังกล่าวอาจทำให้เกิดอันตรายแก่พี่น้องประชาชนได้ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ได้ให้ความสำคัญกับเรื่องดังกล่าวเป็นอย่างมาก จึงมีคำสั่งแต่งตั้งคณะทำงานปราบปรามผลิตภัณฑ์และการบริการด้านสุขภาพที่ผิดกฎหมายขึ้นมา โดยเน้นย้ำในการจับกุมผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์สุขภาพให้ครอบคลุมในทุกพื้นที่และประสานการทำงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะ สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา เพื่อเป็นการคุ้มครองความปลอดภัยของพี่น้องประชาชน ซึ่งจากผลการปฏิบัติที่ผ่านมา สามารถจับกุมผู้กระทำผิดพร้อมตรวจยึดของกลางได้จำนวนมาก และขอฝากเตือนไปยังผู้ประกอบการที่ยังลักลอบกระทำความผิดไม่ว่าจะเป็นการผลิต นำเข้า หรือจำหน่ายผลิตภัณฑ์สุขภาพที่ผิดกฎหมาย ให้หยุดการกระทำดังกล่าว หากตรวจพบจะดำเนินคดีตามกฎหมายอย่างถึงที่สุด
ด้านเภสัชกรหญิงสุภัทราฯ กล่าวว่า อย.และสำนักงานตำรวจแห่งชาติ จะผนึกกำลังร่วมมือกันปฏิบัติหน้าที่ เพื่อคุ้มครองความปลอดภัยให้กับผู้บริโภค โดยจะขยายผล เข้าตรวจสอบหาโรงงานที่ลักลอบผลิต นำเข้าและจำหน่าย หากพบผู้รับอนุญาตฯ รายใดมีส่วนเกี่ยวข้องจะดำเนินคดีทั้งทางอาญาและใช้มาตรการทางปกครองทันที และขอเตือนผู้ประกอบการอย่าซ้ำเติมสถานการณ์โควิด-19 ลักลอบนำเข้าอุปกรณ์ชุดตรวจโรคโควิด-19 เครื่องวัดอุณหภูมิอินฟราเรด หรืออุปกรณ์ทางการแพทย์อื่นๆ โดยไม่ได้รับอนุญาตโดยเด็ดขาด สำหรับผู้ผลิตเครื่องสำอางควรเลือกวัตถุดิบแอลกอฮอล์สำหรับผลิตเจลแอลกอฮอล์ให้ดีก่อนซื้อมาผลิต ห้ามใช้เมทิลแอลกอฮอล์โดยเด็ดขาด เพราะจะเกิดอันตรายกับผู้บริโภค แนะให้ซื้อจากแหล่งจำหน่ายวัตถุดิบที่น่าเชื่อถือและขอเอกสารระบุรายละเอียดของวัตถุดิบ (CoA) เพื่อความมั่นใจในคุณภาพ นอกจากนี้ในกรณีที่พบแป้งเปียกผสมสีบรรจุขวด ติดฉลากว่าเป็นเจลแอลกอฮอล์ จัดเป็นเครื่องสำอางปลอม โทษมีทั้งจำคุกหรือปรับ ซึ่ง อย. พร้อมเอาผิดกับผู้ประกอบการที่ไม่เป็นธรรมกับผู้บริโภคทุกกรณี
รองเลขาธิการฯ อย. กล่าวอีกว่า เน้นย้ำสำหรับผู้บริโภคอย่าซื้ออุปกรณ์ชุดตรวจโรคโควิด-19 ทางเว็บเพจหรือสื่อออนไลน์มาใช้โดยเด็ดขาด เพราะในการตรวจวิเคราะห์จะต้องกระทำโดยผู้ประกอบวิชาชีพที่มีความชำนาญในการอ่านและแปลผล หากมีการตรวจด้วยตนเองแล้วเกิดข้อผิดพลาดอาจทำให้เกิดความเข้าใจผิดคิดว่าตนเองไม่ติดเชื้อ จะทำให้เกิดการแพร่กระจายของเชื้อมากขึ้น และอย่าหลงเชื่อโฆษณาขายยาต้านไวรัสทางเว็บเพจอ้างช่วยรักษาโรคไวรัสโคโรนา เพราะการใช้ยาดังกล่าวต้องอยู่ภายใต้การดูแลของแพทย์ การซื้อมาใช้เองอาจทำให้เกิดเชื้อดื้อยา ที่สำคัญกฎหมายไม่อนุญาตให้ขายยาผ่านทางอินเทอร์เน็ต เสี่ยงได้รับยาไม่มีคุณภาพหรือยาปลอม และการเลือกซื้อเครื่องสำอางเจลแอลกอฮอล์ขอให้ตรวจสอบเลขจดแจ้งของผลิตภัณฑ์ก่อนซื้อทุกครั้งโดยสามารถตรวจสอบได้ที่ Oryor Smart Application หรือ อย.ตรวจเลข หรือ Line @ Fdathai เพื่อความปลอดภัยของผู้บริโภค และขอเตือนไปยังร้านจำหน่ายทั่วประเทศ ให้ระมัดระวังในการเลือกสินค้าเข้ามาจำหน่าย ต้องเป็นผลิตภัณฑ์ที่ถูกต้องตามกฎหมายและซื้อจากแหล่งจำหน่ายที่เชื่อถือได้
อีกทั้ง ฝากถึงประชาชนผู้บริโภค ช่วยกันเป็นหูเป็นตา หากพบการลักลอบผลิต นำเข้า จำหน่ายผลิตภัณฑ์สุขภาพที่ผิดกฎหมาย ขอให้แจ้งมาที่สายด่วน อย. 1556 หรือที่ E-mail: 1556@fda.moph.go.th หรือ ตู้ ปณ. 1556 ปณฝ. กระทรวงสาธารณสุข จ.นนทบุรี 11004 หรือที่สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดทุกจังหวัด รวมทั้งสามารถร้องเรียนผ่าน Oryor Smart Application หรือเดินทางมาร้องเรียนด้วยตนเอง ที่ศูนย์จัดการเรื่องร้องเรียนและปราบปรามการกระทำผิดกฎหมายเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์สุขภาพ (ศรป.) ได้ทุกวันในเวลาราชการ หรือสายด่วน 1135 กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภค เพื่อ อย. จะได้ทำการตรวจสอบและดำเนินการทางกฎหมายกับผู้ที่กระทำผิดอย่างเด็ดขาดต่อไป
สุรเชษฐ ศิลานนท์ รายงาน