ศบค. วอนประชาชน ไม่มั่วสุมดื่มสุรา งดออกจากเคหะสถานในช่วงเวลาเคอร์ฟิว พร้อมจัดสรรแพทย์และบุคคลากรสาธารณสุขลงไปในจังหวัดที่มีผู้ป่วยมาก
ณ ศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) (ศบค.) โถงกลาง ตึกสันติไมตรี ทำเนียบรัฐบาล นายแพทย์ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน ในนามโฆษก ศบค. ตอบคำถามสื่อมวลชนเกี่ยวกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 อาทิ การสอบสวนโรคกรณีอุบัติเหตุ การกระจายกำลังแพทย์และเวชภัณฑ์ในพื้นที่ภาคใต้ ดังนี้
โฆษก ศบค. ตอบคำถามสื่อมวลชนกรณี 11 จังหวัดที่ประกาศงดการจำหน่ายสุรา แต่ยังพบประชาชนบางส่วนซื้อกักตุนเอาไว้ ซึ่งอาจมีการสังสรรค์ในช่วงเทศกาลสงกรานต์ในที่ชุมชนและก่อให้เกิดการแพร่กระจายของเชื้อไวรัสโควิด – 19 ได้ว่า รัฐบาลและศบค.ขอความร่วมมือให้ประชาชนทุกคนปฏิบัติตามมาตรการ เนื่องจากกลุ่มเสี่ยงส่วนใหญ่เป็นวัยรุ่น วัยทำงาน ที่มักจะดื่มสุราสังสรรค์กันและเสียงดัง ซึ่งเจ้าหน้าที่ตำรวจสามารถดำเนินคดีได้ภายใต้ พ.ร.ก. ฉุกเฉิน ประกอบกับข้อมูลของกระทรวงสาธารณสุขพบว่า กลุ่มเสี่ยงจะติดเชื้อไวรัสโควิด – 19 มักจะมาจากกลุ่มคนเล็ก ๆ ย่อย ๆ ที่มั่วสุมเพื่อดื่มสุรากันตามร้านเล็ก ๆ แม้ไม่สามารถนั่งดื่มที่ร้าน แต่ยังพบเห็นการยืนเกาะกลุ่มกัน ซึ่งสามารถเป็นพาหะนำโรคและนำเชื้อไวรัส – 19 ไปแพร่กระจายต่อผู้สูงอายุที่บ้านและเสียชีวิต โฆษก ศบค. ยังได้ขอความร่วมมือให้ประชาชนทุกคนปฏิบัติตามมาตรการ ควบคู่ไปกับการทำงานของรัฐบาล เพื่อทำให้จำนวนตัวเลขผู้ติดเชื้อลดลง หลีกเลี่ยงการชุมนุม มั่วสุมกัน
กรณีการคัดกรองและสืบสวนโรคผู้ที่ประสบอุบัติเหตุบนท้องถนน เช่น กรณีคนเมาแล้วขับว่าเป็นกลุ่มเสี่ยงที่ติดเชื้อไวรัสโควิด – 19 นั้นอาจทำได้ยาก รวมทั้งจะทำให้บุคลากรทางการแพทย์มีความเสี่ยงในการทำงานมากขึ้น นั้น โฆษก ศบค. ได้ชี้แจงว่า บุคลากรทางการแพทย์มีความเสี่ยงในการปฏิบัติงานอยู่เสมอ แม้จะมีการตั้งด่านและมีการคัดกรองโรคในระดับเบื้องต้น หากประชาชนไม่ปฏิบัติตามมาตรการ เช่น เมาแล้วขับ จะยิ่งก่อให้เกิดความเสี่ยงมากขึ้น ดังนั้นจึงขอความร่วมมือช่วยกันไม่ออกไปไหนในช่วงเวลาเคอร์ฟิวหากไม่มีความจำเป็นจริง ๆ จะดีที่สุด
โฆษก ศบค. กล่าวถึงแนวทางบริหารจัดการผู้โดยสารขาเข้าประเทศในช่วงก่อนวันที่ 18 เม.ย. และภายหลังวันที่ 18 เม.ย.นี้ว่า ที่ประชุมใหญ่ของศูนย์ฯ ให้ความสำคัญเป็นอย่างมากจากตัวเลขที่ได้ระบุไว้ในช่วงก่อนวันที่ 18 จำนวน 200 รายนั้น เป็นการคำนึงถึงความสามารถในการรองรับคนไทยที่จะกลับเข้ามา ทั้งสถานที่กักกันตัวรวมถึงบุคลากรทางการแพทย์ที่มีจำนวนจำกัด และภายหลังจากวันที่ 18 จะต้องติดตามจำนวนตัวเลขของผู้ติดเชื้อทั้งในประเทศและต่างประเทศอีกครั้งว่า มีจำนวนมากขึ้นหรือน้อยลงอย่างไร คนไทยส่วนใหญ่ที่ต้องการเดินทางกลับเข้ามาเป็นผู้ที่ไปทำงานในประเทศเขตชายแดนเป็นส่วนใหญ่ เช่น มาเลเซีย อินโดนีเซีย และเมื่อมีประกาศปิดประเทศ จึงได้รับผลกระทบจากการปิดเมือง ว่างงาน ทำให้ต้องกลับมายังประเทศไทย โดยขอความช่วยเหลือให้ทยอยเดินทางมากกว่ากลับเข้ามาพร้อมกันเป็นกลุ่มใหญ่ เพราะอาจจะทำให้เกิดการแพร่ระบาดของโรคมากขึ้น และหากสามารถหาพื้นที่รองรับได้เพิ่มขึ้น ก็จะสามารถให้ความช่วยเหลือในการเดินทางกลับมายังประเทศไทยได้มากขึ้นอีก
โฆษก ศบค. ชี้แจงแนวทางความช่วยเหลือคนไทยในต่างประเทศว่า ยังเป็นเพียงแนวความคิดจากที่ประชุม ศบค. วานนี้ ยืนยันคนไทยมีสิทธิเดินทางกลับเข้าประเทศได้ อีกด้านหนึ่งก็ต้องปกป้องคุ้มครองคนที่อยู่ภายในประเทศ ไม่ให้เกิดการติดเชื้อด้วยเช่นกัน ซึ่งต้องจัดสมดุลระหว่างคน 2 กลุ่มให้ดีให้มีความเท่าเทียมกัน กรณีบางคนที่อาจมีที่พักพิงในต่างประเทศอยู่แล้ว จึงเป็นที่มาของแนวคิดเรื่องการดูแลส่งค่าใช้จ่ายให้เขาสามารถดำรงชีวิตอยู่ได้ในต่างประเทศ เพื่อให้เกิดการเคลื่อนย้ายน้อยที่สุด และลดอัตราการแพร่ระบาด โดยเป็นแนวคิดที่จะต้องนำไปพิจารณากันต่อไป
โฆษก ศบค. ยังตอบข้อสงสัยถึงกรณีบุคลากรทางการแพทย์ในพื้นที่ภาคใต้ที่มีจำนวนน้อย แต่ในระยะหลังนี้พบอัตราส่วนการติดเชื้อ จากคนที่เดินทางกลับมาจากมาเลเซีย อินโดนีเซีย เพิ่มมากขึ้น โดยชี้แจงว่า กระทรวงสาธารณสุขแบ่งเขตตรวจราชการทั้งประเทศเป็น 12 เขต ใน 3 จังหวัดชายแดนรวมกับภาคใต้ประมาณ 7-8 จังหวัด ดูแลโดยผู้ตรวจราชการและสาธารณสุขนิเทศซึ่งสามารถถ่ายโอนทรัพยากรและบุคลากรภายในเขต เพื่อผ่อนแรงบุคลากรซึ่งจังหวัดที่มีผู้ป่วยน้อยก็ส่งคน ส่งกำลังเสริม ไปช่วยจังหวัดที่มีผู้ป่วยมากรวมทั้งเวชภัณฑ์ เช่น หน้ากากอนามัย N95 ยา ก็กระจายลงไปยังพื้นที่ที่มีความต้องการสูงหรือพื้นที่ที่เป็นปัญหาเป็นรายจังหวัดอีกด้วย
ข้อมูล : กลุ่มประชาสัมพันธ์และเผยแพร่ สำนักโฆษก