ข่าวใหม่อัพเดท » เลขาธิการ กช.ประชุมร่วม สปส. ชี้แจง การรับเงินทดแทนช่วยเหลือครูเอกชน กรณีที่ได้รับผล กระทบ COVID 19

เลขาธิการ กช.ประชุมร่วม สปส. ชี้แจง การรับเงินทดแทนช่วยเหลือครูเอกชน กรณีที่ได้รับผล กระทบ COVID 19

29 เมษายน 2020
0

เลขาธิการ กช.ประชุมร่วม สปส. ชี้แจงการรับเงินทดแทนช่วยเหลือครูเอกชนกรณีที่ได้รับผลกระทบ COVID 19

วันที่​ 28 เมษายน 2563​ : ดร.อรรถพล ตรึกตรอง เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (เลขาธิการ กช.) ร่วมประชุมชี้แจงทำความเข้าใจเกี่ยวกับการขอรับเงินทดแทนในส่วนของลูกจ้างซึ่งเป็นผู้ประกันตนตามมาตรา 33 ของสำนักงานประกันสังคม โดยมี ดร.ดวงฤทธิ์ เบ็ญจาธิกุล ชัยรุ่งเรือง ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงแรงงานเป็นประธานการประชุม พร้อมด้วยผู้บริหารสำนักงานประกันสังคม ผู้บริหาร สช. และผู้แทนสมาคมโรงเรียนเอกชน โดยได้ถ่ายทอดการประชุมไปยังเครือข่ายโรงเรียนเอกชนทั่วประเทศ ผ่านโปรแกรม Zoom Meeting และถ่ายทอดสดการประชุมผ่าน Facebook live ณ ห้องประชุมชั้น 2 อาคารอำนวยการ สำนักงานประกันสังคม

ดร.อรรถพล ตรึกตรอง กล่าวว่า จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรค COVID 19 ส่งผลให้ประชาชนจำนวนมากได้รับผลกระทบในการทำงาน ขาดรายได้ รวมถึงครู หรือลูกจ้างโรงเรียนเอกชน ที่ได้รับผลกระทบในเรื่องนี้ด้วย อีกทั้งยังเป็นผู้ประกันตนตามมาตรา 33 ที่ได้รับผลกระทบจากกรณีที่มีการสั่งปิดโรงเรียน และโรงเรียนงดจ่ายเงินเดือนค่าจ้าง ซึ่งกรณีดังกล่าวตามตามกฎกระทรวง การได้รับประโยชน์ทดแทนในกรณีว่างงาน เนื่องจากมีเหตุสุดวิสัย อันเกิดจากการระบาดของโรคติดต่ออันตรายตามกฎหมายว่าด้วยโรคติดต่อ พ.ศ. 2563 ถือเป็นเหตุสุดวิสัย ทำให้ไม่สามารถทำงานได้ หรือนายจ้างไม่สามารถประกอบกิจการได้ตามปกติ ส่งผลให้ ครู หรือลูกจ้างได้รับความเดือดร้อน ดร.กนกวรรณ วิลาวัลย์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (รมช.ศธ.) จึงได้มอบหมายให้ สช. ไปหาแนวทางในการช่วยเหลือทั้งครู ลูกจ้างหรือบุคลากรโรงเรียนเอกชนให้สามารถผ่านพ้นช่วงวิกฤตินี้ไปได้

ดร.อรรถพล ตรึกตรอง กล่าวเพิ่มเติมว่า โรงเรียนเอกชนมีครู และบุคลากรทางการศึกษาทั้งในระบบและนอกระบบอยู่ประมาณ 200,000 กว่าคน โดย 1 แสนกว่าคน เป็นสมาชิก กองทุนสงเคราะห์ อีก 1 แสนกว่าคนเป็นผู้ประกันตนตามมาตรา 33 ของสำนักงานประกันสังคม ต่อมาเกิดผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรค COVID 19 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ได้ออกประกาศให้โรงเรียนทั้งในระบบและนอกระบบ รวมทั้งโรงเรียนนานาชาติให้ปิดเรียนด้วยเหตุพิเศษ และให้มีกำหนดเปิดเรียนในวันที่ 1 กรกฎาคม 2563 ส่งผลให้โรงเรียนต้องหยุดกิจการชั่วคราว โรงเรียนก็งดจ่ายค่าจ้างให้แก่ครู เนื่องจากปกติแล้วช่วงนี้จะเป็นช่วงที่โรงเรียนมีรายได้ แต่สภาวะเช่นนี้โรงเรียนกลับไม่มีรายได้ ทำให้ครู และบุคลากรทางการศึกษาซึ่งเป็นผู้ประกันตนตามมาตรา 33 ประมาณ 1 แสนคน เป็นบุคคลที่อยู่ในข่ายได้รับเงินทดแทนจากกองทุนประกันสังคม 62% ของค่าจ้าง

ในส่วนของกระบวนการการรับเงินทดแทน จำเป็นต้องทำพร้อมกันทั้งนายจ้างและลูกจ้างสำนักงานประกันสังคมจึงจะสามารถจ่ายเงินให้ได้ วันนี้จึงได้จัดประชุมชี้แจง เพื่อให้เข้าใจว่าให้นายจ้างออกหนังสือรับรองให้แก่ลูกจ้างกรณีที่ไม่ได้จ่ายเงินค่าจ้าง ประกันสังคมรับผิดชอบจ่ายให้ 90 วัน หรือ 3 เดือน แต่ต้องดำเนินการให้แล้วเสร็จ ในช่วงระยะเวลาที่เบิกเงินได้คือต้องมีการงดการจ่ายค่าจ้างตั้งแต่เดือน 1 มีนาคม 2563 – 31 สิงหาคม 2563 ถ้ากรณีโรงเรียนใดที่นายจ้างงดจ่าย 1 เดือน ก็ขอรับจากประกันสังคมได้ 1 เดือน หรือนายจ้างจะงดจ่ายกี่เดือนก็แล้วแต่ แต่ประกันสังคมจะรับผิดชอบจ่ายเงินให้ไม่เกิน 3 เดือน

ดังนั้นวันนี้จึงต้องการให้ผู้รับใบอนุญาตในฐานะผู้ประกอบการและลูกจ้างที่เป็นครู และบุคลากรในฐานะลูกจ้างผู้ประกันตน ได้เข้าใจวิธีการยื่นคำขอรับเงินทดแทน และคิดว่าจากการชี้แจงในวันนี้แล้ว จะทำให้ทั้งนายจ้างและลูกจ้างนั้นจะเข้าใจถึงการดำเนินการขอรับเงินทดแทนนี้ได้อย่างถูกต้องมากขึ้น และทำให้สำนักงานประกันสังคมสามารถทำงานได้สะดวก ครูเอกชน หรือลูกจ้างที่เป็นผู้ประกันตนก็จะได้รับเงินทดแทนได้เร็วขึ้นด้วย ต้องขอบคุณ ดร.ดวงฤทธิ์ เบ็ญจาธิกุล ชัยรุ่งเรือง ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงแรงงาน และสำนักงานประกันสังคมที่นอกจากจะต้องรับภาระในการดำเนินการในการจ่ายเงินทดแทนให้แก่ลูกจ้างนับล้านคนแล้ว ยังให้คำแนะนำในส่วนของลูกจ้างของโรงเรียนเอกชนให้ได้รับความช่วยเหลือนี้ไปพร้อมกันด้วย ดร.อรรถพล ตรึกตรอง กล่าวทิ้งท้าย


สุรเชษฐ​ ศิลา​นนท์​ รายงาน​

error: Content is protected !!