ข่าวใหม่อัพเดท » อุ้มการบินไทย ใครรับผิดชอบ?

อุ้มการบินไทย ใครรับผิดชอบ?

6 พฤษภาคม 2020
0

อุ้มการบินไทย ใครรับผิดชอบ?

ช่วงนี้มีข่าวเกรียวกราวว่า คณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (คนร.) ซึ่งมีพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีเป็นประธาน ได้มีมติเห็นชอบแผนฟื้นฟูธุรกิจของบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) หรือ บกท. ที่ผ่านการพิจารณาของกระทรวงคมนาคมและกระทรวงการคลังมาแล้ว ขณะนี้แผนดังกล่าวกำลังจ่อเข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรี (ครม.) ในเร็วๆ นี้

เหตุที่ต้องฟื้นฟู บกท. ก็เพราะการดำเนินงานของ บกท.ขาดทุนมาอย่างต่อเนื่องหลายปี ยกตัวอย่างในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา คือตั้งแต่ปี 2558-2562 บกท.ขาดทุนทุกปียกเว้นปี 2559 เพียงปีเดียวที่มีกำไรเพียง 47 ล้านบาทเท่านั้น ส่วนปีอื่นขาดทุนทั้งหมด ปีที่แล้ว (2562) ขาดทุนไป 12,017 ล้านบาท มาถึงปีนี้ (2563) ที่มีการแพร่ระบาดของโควิด-19 เข้ามาถาโถมทำให้ธุรกิจการบินทรุดหนักทั่วโลก บกท.คาดการณ์ว่าจะขาดทุนถึงเกือบ 60,000 ล้านบาท (ในกรณีต้องหยุดบินถึงเดือนมิถุนายน 2563)

ทำไม บกท.จึงขาดทุน? เป็นคำถามที่หลายคนอยากถาม เกิดจากทุจริต? บริหารผิดพลาด? หรือผู้มีอำนาจแทรกแซง? คน บกท.บางคนมองว่าเขาไม่ได้ทำให้ขาดทุน แต่เป็นเพราะผู้มีอำนาจเข้ามาแทรกแซงแสวงหาผลประโยชน์ต่างหาก เช่น มีการสั่งให้ซื้อเครื่องบินขนาดใหญ่หลายลำที่กินน้ำมันมากให้บินเส้นทางไกล ทำให้ขาดทุน สุดท้ายต้องจอดเครื่องบินเหล่านั้นทิ้งไว้เฉยๆ เป็นต้น ในขณะที่คนภายนอกบางคนมองว่าเป็นเพราะมีการทุจริตในการจัดซื้อจัดจ้างที่มีการล็อกสเปก ไม่เว้นแม้แต่การประมูลเล็กๆ ก็ตาม ทำให้ บกท.ต้องสูญเสียเงินไปจำนวนมาก

แนวทางการแก้ปัญหาของ บกท.ที่ได้รับความเห็นชอบจาก คนร.ประกอบด้วย (1) กู้เงินประมาณ 54,700 ล้านบาท ภายในปี 2563 โดยมีกระทรวงการคลังค้ำประกันเงินกู้ เพื่อเสริมสร้างสภาพคล่อง ไม่ให้ บกท. ล้มละลาย และ (2) เพิ่มทุนประมาณ 83,400 ล้านบาท ภายในปี 2563 เพื่อจ่ายคืนเงินกู้ตามข้อ (1) และเพื่อการลงทุนตามแผนฟื้นฟู ซึ่งแผนฟื้นฟูมีแนวทางอะไรบ้างนั้นยังไม่เปิดเผย แต่รู้ว่ามี 10 แนวทาง

ถ้าย้อนดูแผนฟื้นฟูในอดีต เช่นในปี 2558 ซึ่ง บกท.ใช้เพื่อเพิ่มโอกาสการแข่งขันพบว่ามีหลายแนวทาง เช่น (1) ยกเลิกการขายตั๋วผ่านเอเยนต์ซึ่งทำให้ บกท.สูญเสียรายได้จำนวนมาก (2) ลดจำนวนแบบเครื่องบินและเครื่องยนต์ที่มีหลายแบบทำให้มีต้นทุนการซ่อมบำรุงรักษาสูง (3) ปรับขนาดองค์กรให้เล็กลงเพื่อลดรายจ่ายค่าจ้างหรือเงินเดือน และ (4) เปลี่ยนหน่วยธุรกิจ (Business Unit) เช่น ฝ่ายซ่อมบำรุง ฝ่ายครัวการบิน และฝ่ายคลังสินค้า เป็นบริษัท เพื่อให้เกิดความคล่องตัวในการบริหารจัดการ และลดภาระการสนับสนุนจากรัฐบาล เป็นต้น ทั้งนี้ ตามแผนฟื้นฟูปี 2558 บกท.ตั้งความหวังไว้ว่าในปี 2560 จะทำให้ บกท.โตแบบก้าวกระโดดให้ได้ แต่สุดท้าย บกท.ก็ไม่สามารถทำได้ตามเป้าหมายที่กำหนดไว้ ส่งผลให้ บกท.ต้องแบกภาระหนี้สินสะสมเพิ่มขึ้น

ด้วยเหตุนี้ จึงเป็นที่น่ากังวลว่าแผนฟื้นฟูฉบับใหม่ที่คาดว่าคงจะมีแนวทางคล้ายๆ กับแผนฟื้นฟูปี 2558 นั้น บกท.จะสามารถดำเนินการตามแผนได้ประสบผลสำเร็จหรือไม่ โดยเฉพาะในภาวะที่ธุรกิจการบินทั่วโลกได้รับผลกระทบอย่างหนักจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ยากที่จะคาดการณ์ได้ว่าต่อจากนี้อุตสาหกรรมการบินจะแปรเปลี่ยนไปอย่างไร หรือไม่ ที่สำคัญ เป็นที่รู้กันดีว่าถึงแม้แผนฟื้นฟูจะดีสวยหรูเพียงใดก็ตาม แต่ถ้าผู้ปฏิบัติไม่สามารถทำตามแผนได้ก็ไร้ความหมาย กลายเป็นการผลาญเงินภาษีของพวกเราไปโดยไม่เกิดประโยชน์

แต่อย่างไรก็ตาม ในอดีตที่ผ่านมาเหตุที่ บกท.ไม่สามารถดำเนินการตามแผนให้ประสบผลสำเร็จได้นั้น อาจจะเกิดจากความไม่เป็นอิสระในการดำเนินงาน โดยอาจถูกแทรกแซงจากผู้มีอำนาจด้วยวิธีการใดวิธีหนึ่ง เป็นผลให้นโยบายบิดเบี้ยว ดังนั้น เราควรให้โอกาสแก่ บกท. อีกครั้ง ถึงเวลาแล้วที่ผู้บริหารและพนักงาน บกท.ทุกคนจะต้องผนึกกำลังให้เป็นหนึ่งเดียว ร่วมแรงร่วมใจกันขับเคลื่อนสายการบินไทยที่เป็น “สายการบินแห่งชาติ” และเคยเป็นความภาคภูมิใจของคนไทยให้กลับมาผงาดทะยานขึ้นสู่ท้องฟ้าในฐานะสายการบินชั้นนำของโลกให้ได้

เพื่อให้ บกท.ได้มีโอกาสแสดงฝีมืออย่างจริงจัง ปราศจากการแทรกแซง หรือชี้นำจากผู้มีอำนาจ และเพื่อให้ผู้เกี่ยวข้องในการดำเนินงานตามแผนฟื้นฟูจะต้องรับผิดชอบในกรณีไม่สามารถดำเนินงานตามแผนได้ประสบผลสำเร็จ ผมขอเสนอแนวทางดังนี้

1. แต่งตั้งคณะกรรมการ บกท. (บอร์ด) ใหม่ รวมทั้งกรรมการผู้อำนวยการใหญ่โดยจะต้องเป็นผู้ที่มีความรู้ ความสามารถด้านธุรกิจการบินอย่างแท้จริง เลิกวัฒนธรรมการแต่งตั้งบุคคลที่เป็นการตอบแทนทางการเมือง หรือบุคคลที่สั่งได้เสียที

2. แต่งตั้ง “กรรมการภาคประชาชน” ในฐานะที่เป็นผู้เสียภาษีให้มีอำนาจหน้าที่ในการติดตามและประเมินผลการดำเนินงานของบอร์ดและฝ่ายบริหารของ บกท.ในการนำแผนฟื้นฟูไปสู่การปฏิบัติ ถ้าทำไม่ได้ตามแผนจะต้องมีผู้รับผิดชอบ ไม่มีแผนฟื้นฟูฉบับใหม่อีกแล้ว พอกันที

3. ขอเรียกร้องให้ผู้เชี่ยวชาญ นักวิชาการ และองค์กรวิชาชีพด้านการบิน เกาะติดการดำเนินงานตามแผนฟื้นฟูของ บกท.อย่างใกล้ชิด เช่นเดียวกับที่ได้มีการติดตามโครงการก่อสร้างเทอร์มินัล 2 ตัดแปะ ในสนามบินสุวรรณภูมิ เพื่อป้องกันไม่ให้การดำเนินงานตามแผนฟื้นฟูล้มเหลว

ทั้งหมดนี้ ด้วย “ความรักเท่าฟ้า” ที่มีต่อ บกท.ครับ


CR. ดร.สามารถ ราชพลสิทธิ์
รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์

error: Content is protected !!