#พังงา “ศรชล.ภาค 3 เปิดปฏิบัติการอากาศยานไร้คนขับ(UAV) ปกป้องผลประโยชน์ทางท้องทะเลอันดามัน”
ที่สนามบินชั่วคราวริมทะเลหาดท้ายเหมือง จ.พังงา พล.ร.ท.เชิงชาย ชมเชิงแพทย์ ผอ.ศูนย์อำนวยการรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเลภาค 3 พร้อมด้วย พล.ร.ต.ชาญชัยยศ อัฑฒ์สุวีร์ รองผอ.ศูนย์อำนวยการรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเล ภาค3 และ พล.ร.ต.สมพงษ์ นาคทอง ผบ.ฐานทัพเรือพังงา ร่วมตรวจเยี่ยมการปฏิบัติงานชุดเคลื่อนที่เร็ว ปฏิบัติการบินระบบอากาศยานไร้คนขับ(UAV) แบบ Orbiter 3B โดยมีผู้แทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการทำการประมงพาณิชย์ในพื้นที่ทะเลอันดามัน เข้าร่วมฟังการบรรยายสรุปและตอบข้อซักถาม และร่วมชมการปล่อยอากาศยานไร้คนขับออกลาดตระเวนจริงในทะเล ซึ่งพบว่าผลการปฏิบัติงานเป็นไปตามแผนที่วางไว้ มีการบินเข้าถ่ายภาพเรือประมงต้องสงสัยพร้อมประสานเรือหลวงศรีราชาเข้าทำการตรวจค้นไม่พบการกระทำผิดกฎหมาย โดยใช้เวลาในการบินลาดตระเวน 3 ชั่วโมง ก่อนจะบินกลับมาจุดพิกัดที่กำหนดเอาไว้ได้อย่างเรียบร้อย
พล.ร.ท.เชิงชาย ชมเชิงแพทย์ เปิดเผยว่า ศูนย์อำนวยการรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเลภาค 3 ได้นำอากาศยานไร้คนขับ(UAV) แบบ Orbiter 3B มาใช้ในภารกิจสนับสนุนการแก้ไขปัญหาการทำประมงผิดกฎหมาย หรือIUU Fishing พื้นที่อาณาเขตทางทะเลของไทยฝั่งทะเลอันดามัน โดยปฏิบัติการบินตรวจสอบเป้าเรือประมงต้องสงสัย ที่อาจกระทำผิดตามที่ศูนย์ปฏิบัติการเฝ้าระวังการทำการประมง (FMC : Fisheries Monitoring Center) ของกรมประมงร้องขอ และการบินลาดตระเวนตรวจการณ์ทางทะเลตามแผน เพื่อตรวจสอบเรือประมงตามพื้นที่เสี่ยงต่างๆ รวมถึงการทวนสอบตำบลที่กับระบบติดตามเรือประมงๆ หรือระบบ VMS (Vessel Monitoring System)
ทั้งนี้การปฏิบัติการบินดังกล่าวจะพร้อมปฏิบัติทั้งเวลากลางวันและกลางคืน สามารถส่งข้อมูลเรือประมงในทะเลได้ทั้งภาพนิ่ง ภาพเคลื่อนไหวของเรือ วันเวลาพิกัด ให้ศูนย์FMC เพื่อตรวจสอบความสอดคล้องของพิกัดตำบลที่ของเรือประมงกับพิกัดในระบบ VMS รวมถึงการรวบรวมข้อมูล เรือประมงที่เป็นเป้าหมายจากศูนย์ FMC เพื่อส่งข้อมูลกลับไปให้ศูนย์ FMC พิจารณากำหนดประเภทของเรือประมงเป้าหมายในการตรวจสอบการทำการประมงผิดกฎหมาย
ซึ่งขีดความสามารถของ UAV แบบ Orbiter 3B มีระยะปฏิบัติการประมาณ 50 ไมล์ทะเลปฏิบัติการได้คราวละ 4 ชั่วโมง สามารถปฏิบัติงานได้ทั้งกลางวันและกลางคืน มีความแม่นยำในการระบุตำบลที่ของเป้าผิวน้ำด้วยระบบการค้นหาเป้าตำบลที่กำหนด สามารถพิสูจน์ทราบเรือประมงด้วยการมองเห็น visual( identification) เครื่องหมายประจำเรือ หรือชื่อเรือ หรือลักษณะเรือ เช่น สีเก๋งเรือ อุปกรณ์เครื่องมือประมง บนเรือได้อย่างชัดเจน ซึ่งจะทำให้การแก้ไขปัญหาการทำการประมงผิดกฎหมายฝั่งทะเลอันดามันมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น-
ภาพ/ข่าว : ธนอรรถ ฐาเก้วเจริญ
สำนักข่าวความมั่นคง /ศูนย์ข่าวภาคใต้ จ.พังงา