โบอิ้ง 787 หรือ “เจ็ด-แปด-จอด” ? บทเรียนที่การบินไทยต้องจำ !
การบินไทยหมายมั่นที่จะใช้เครื่องบินโบอิ้ง 787-800 สุดยอดไฮเทคของการประหยัดน้ำมัน มาช่วยลดค่าใช้จ่าย สร้างรายได้ แต่สุดท้ายกลับสร้างปัญหาให้ต้องผวามาจนถึงทุกวันนี้
โบอิ้ง 787-800 เป็นเครื่องบินที่ถูกสร้างจากวัสดุที่มีน้ำหนักเบา ทำให้ช่วยลดการใช้น้ำมันได้เป็นอย่างดี เครื่องบินรุ่นนี้ของการบินไทยมีความจุ 256 ที่นั่ง แบ่งเป็นชั้นธุรกิจ 22 ที่นั่ง และชั้นประหยัด 234 ที่นั่ง
โบอิ้ง 787-800 ลำแรกเดินทางมาถึงสนามบินสุวรรณภูมิเมื่อวันที่ 18 กรกฎาคม 2557 แต่การบินไทยได้จัดพิธีต้อนรับอย่างยิ่งใหญ่เมื่อวันที่ 7 สิงหาคม 2557 (หรือ 2014) เพื่อให้ตรงกับเลข 787 นั่นคือวันที่ 7 เดือนสิงหาคมหรือเดือน 8 และปี 2014 ซึ่งรวมกันได้เท่ากับ 7 ถึงเวลานี้การบินไทยได้เช่าโบอิ้ง 787-800 เป็นจำนวนทั้งหมด 6 ลำ
โบอิ้ง 787-800 ถือเป็นนวัตกรรมเครื่องบินที่มีเทคโนโลยีสมัยใหม่ ประหยัดเชื้อเพลิงและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม การบินไทยใช้เครื่องยนต์โรลส์-รอยซ์กับโบอิ้ง 787-800 ทุกลำ แต่ใช้งานได้ไม่นานเครื่องยนต์เกิดขัดข้อง ต้องถอดเครื่องยนต์ออกและส่งไปซ่อมที่ศูนย์ซ่อมโรลส์-รอยซ์ ประเทศสิงคโปร์ เครื่องบินรุ่นนี้ที่ใช้เครื่องยนต์โรลส์-รอยซ์เหมือนกัน มีปัญหาทุกลำและทุกสายการบิน ทำให้ต้องรอคิวเข้าซ่อมนานมาก ระหว่างรอคิวซ่อมจึงต้องจอดเครื่องบินไว้เฉยๆ เป็นเวลานานมาก
ถึงวันนี้การบินไทยมีโบอิ้ง 787-800 ที่จอดรอการซ่อมอยู่ 2 ลำ จอดมานานกว่า 1 ปีแล้ว ลำหนึ่ง (รหัส HS-TQD) ถูกลากไปจอดไว้บริเวณด้านทิศตะวันออกเฉียงเหนือของเทอร์มินัล 1 ใกล้ๆ กับตำแหน่งที่จะสร้างเทอร์มินัล 2 ตัดแปะ ส่วนอีกลำหนึ่ง (รหัส HS-TQC) ถูกลากไปจอดไว้บริเวณด้านทิศตะวันออกเฉียงใต้ของเทอร์มินัล 1 ใกล้ๆ กับอาคารเทียบเครื่องบิน C (Concourse C)
โบอิ้ง 787-800 ทั้ง 6 ลำดังกล่าว การบินไทยเช่ามาเป็นเวลา 12 ปี โดยเสียค่าเช่าเดือนละประมาณ 36 ล้านบาทต่อลำ หรือวันละประมาณ 1.2 ล้านบาทต่อลำ ลองคิดดูว่าถึงวันนี้การบินไทยต้องเสียหายไปมากเท่าไหร่แล้ว
แต่อย่างไรก็ตาม การบินไทยยังไม่เข็ดกับโบอิ้ง 787 เพราะหลังจากนั้นไม่นานการบินไทยได้เช่าโบอิ้ง 787-900 ซึ่งมีความจุมากกว่าโบอิ้ง 787-800 (โบอิ้ง 787-900 มีความจุ 298 ที่นั่ง แบ่งเป็นชั้นธุรกิจ 30 ที่นั่ง และชั้นประหยัด 268 ที่นั่ง) และสามารถบินได้ไกลกว่าโบอิ้ง 787-800 มาเสริมฝูงบินอีก 2 ลำ โดยวางแผนที่จะใช้บินตรงไปสู่ลอสแอนเจลิสหรือซีแอตเทิล ประเทศสหรัฐอเมริกา เนื่องจากคาดว่าจะช่วยทำให้ต้นทุนการบินถูกกว่าการใช้เครื่องบินแอร์บัส A340-500 ที่การบินไทยเคยใช้บินตรงไปสู่นิวยอร์กและลอสแอนเจลิสแล้วขาดทุน จนต้องเลิกบินแล้วจอดเครื่องบินทิ้งไว้ที่สนามบินอู่ตะเภามานานจนถึงทุกวันนี้
การบินไทยรับมอบโบอิ้ง 787-900 ในปี 2560 แต่ก่อนรับมอบ การบินไทยได้ส่งช่างไปฝึกอบรมที่ Boeing Flight Services เมืองซีแอตเทิลในปี 2559 เพื่อเรียนรู้วิธีการซ่อมบำรุงลำตัวอากาศยานซึ่งใช้วัสดุพิเศษ ช่างคนหนึ่งที่ไปฝึกอบรมยังได้บอกกับครูผู้สอนประจำศูนย์ฝึกอบรมด้วยความภูมิใจว่า สายการบินไทยจะกลับมาที่ซีแอตเทิลแล้วนะ แต่สุดท้ายก็ไม่ได้มาทั้งซีแอตเทิลและลอสแอนเจลิสตามที่วางแผนไว้ เพราะผู้บริหารของการบินไทยเปลี่ยนใจเอาโบอิ้ง 787-900 บินไปสู่โอ๊คแลนด์ ประเทศนิวซีแลนด์บ้าง ยุโรปบ้าง ความฝันที่จะไปอเมริกาก็หายวับไปกับสายลม ครูฝรั่งคนนั้นคงนั่งขำพวกช่างเหล่านั้น และไม่รู้ว่าจะคิดอย่างไรกับผู้บริหารของการบินไทยที่ไม่นำเครื่องบินไปใช้ให้คุ้มค่าตามแผนที่วางไว้
การบินไทยใช้โบอิ้ง 787-900 ทั้ง 2 ลำ ได้ไม่นาน ก็ประสบปัญหาเครื่องยนต์ขัดข้องเช่นเดียวกันกับโบอิ้ง 787-800 แต่ได้รับการซ่อมเรียบร้อยแล้ว
ในอดีตโบอิ้ง 787 เคยเป็นความภาคภูมิใจของคนการบินไทย แต่ในปัจจุบันคนการบินไทยบางคนโดยเฉพาะฝ่ายช่างและกัปตันกลับเรียกขานเครื่องบินรุ่นนี้ว่า “เจ็ด-แปด-จอด” เนื่องจากบินได้ไม่นานก็ต้องจอดอยู่กับที่
บทเรียนจากโบอิ้ง 787-800 และโบอิ้ง 787-900 เป็นบทเรียนที่การบินไทยต้องจำ ผมขอฝากบทเรียนนี้ไปยังผู้จัดทำแผนฟื้นฟูกิจการการบินไทยที่จะมีการแต่งตั้งขึ้นในเร็วๆ นี้ เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดข้อผิดพลาดเหล่านี้กับการบินไทยอีก
Cr. ดร.สามารถ ราชพลสิทธิ์
รองหัวหน้าพรรคประขาธิปัตย์