เพชรบูรณ์ หอยเชอรี่ ศัตรูร้ายในนาข้าว กลายมาเป็นสัตว์เลี้ยงเศรษฐกิจ สร้างรายได้เสริม
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หากพูดถึง “หอยเชอรี่” เกษตรกรมักรู้จักกันเป็นอย่างดี เพราะถือเป็นศัตรูตัวฉกาจ ที่ชาวนาต่างพากันหวาดกลัวเป็นอย่างมาก เนื่องจากว่าในช่วงฤดูกาลทำนาทุกปี จะพบ”หอยเชอรี่”เข้าไปกัดกินทำลายต้นข้าวจนเสียหาย ส่งผลให้ชาวนา ต้องหาทางกำจัดหอยเชอรี่ เพื่อป้องกันไม่ให้กัดกินต้นข้าว และแพร่ระบาดไปยังพื้นที่ต่างๆ
เช่นเดียวกับ เกษตรกรชาวนา ที่บ้านวังสมบัติ หมู่ 2 ตำบลวังหิน อำเภอวังโป่ง จังหวัดเพชรบูรณ์ กลับมองว่า “หอยเชอรี่” ไม่ได้สร้างปัญหาให้แก่เกษตรกรเพียงอย่างเดียว แต่กลับสร้างรายได้เสริม ควบคู่กับทำเกษตรเป็นอย่างดี โดยการนำหอยเหล่านี้ ที่มีอยู่ตามท้องทุ่งนา มาโยนใส่ในสระ พร้อมทั้งให้อาหารเป็นประจำ เมื่อตัวโตได้ขนาดที่ต้องการ ก็สามารถจับขาย สร้างรายได้ เฉลี่ยเดือนละ 3,000 – 5,000 บาทเลยทีเดียว
สอบถาม นางบัวไร ล้อมแพน อายุ 63 ปี อยู่บ้านเลขที่ 75 บ้านวังสมบัติ หมู่2 ตำบลวังหิน อำเภอวังโป่ง จังหวัดเพชรบูรณ์ เปิดเผยว่า เมื่อถึงฤดูทำนาทุกปี จะต้องประสบปัญหา “หอยเชอรี่” ระบาดกัดกินต้นข้าวจนได้รับความเสีย จึงพยายามหาวิธีทำลายและป้องกันด้วยวิธีธรรมชาติ แรกเริ่มได้ทดลองเก็บหอยเชอรี่มาเป็นวัตถุดิบสำหรับทำน้ำหมักชีวภาพ เพื่อใช้ฉีดพ่นในนา ในสวน และพืชผักสวนครัว ต่อมาได้มีผู้มาติดต่อขอซื้อหอยเชอรี่ เพื่อนำไปประกอบอาหารบริโภค เลยทำให้ตนเกิดไอเดียใหม่ขึ้นมา อยากเลี้ยงหอยเชอรี่เพื่อจำหน่าย จึงทำการขุดสระน้ำขนาดเล็ก จำนวน 3 ลูก ในพื้นที่ประมาณ 1 งาน เพื่อป้องกันไม่ให้หอยหนีออกไป และป้องกันน้ำท่วม พร้อมทำที่ระบายน้ำ ให้น้ำไหลตามธรรมชาติ จากนั้นก็ได้เก็บหอยเชอรี่ตามท้องทุ่งนาในธรรมชาติ มาโยนลงในสระน้ำที่เตรียมไว้ พร้อมทั้ง นำผักตบชวามาปล่อย และนำไม้ไผ่มาปักลงตามข้างสระ เพื่อให้หอยเชอรี่ขึ้นมาวางไข่ สามารถขยายพันธุ์ได้เป็นจำนวนมาก
นางบัวไร ล้อมแพน อายุ 63 ปี กล่าวต่อว่า ในแต่ละวัน จะนำเศษใบไม้ ใบปอสา หรือบางครั้ง ก็นำเศษผัก เศษผลไม้ตามสวน โยนลงไปในสระ เพื่อให้เป็นแหล่งอาหารหอยเชอรี่ เมื่อเลี้ยงได้ขนาดตัวโตตามที่ต้องการ ก็จะจับขึ้นมาขายในราคา กิโลกรัมละ 30 บาท ซึ่งเดือนนึง จะสามารถจับหอยเชอรี่ ขายได้ไม่ต่ำกว่า 150 กิโลกรัม ทำให้มีรายได้เสริมจากจุดนี้ ประมาณเดือนละ 4,500 – 5,000 บาท โดยลูกค้าส่วนใหญ่ ก็จะเป็นชาวบ้านในชุมชน และ เป็นกลุ่มแม่ค้าขายส้มตำ ขายอาหาร จะติดต่อขอซื้อหอยเชอรี่ เพื่อนำไปเป็นวัตถุดิบเป็นประจำ
ด้านนางสาวลักขณา พรหมเศรณี เกษตรอำเภอวังโป่ง เผยว่า “หอยเชอรี่” เป็นปัญหาใหญ่ของชาวนา เนื่องจาก หอยเชอรี่ กัดกินต้นข้าวในระยะกล้าที่ปักดำใหม่ๆ ไปจนถึงระยะแตกกอเต็มที่จนหมดต้น แนวทางการควบคุมนอกจากจะเก็บมาหมักทำเป็นปุ๋ยอินทรีย์น้ำหมักเพื่อใช้ในนาข้าวแล้ว หอยเชอรี่ยังสามารถนำมาบริโภคเป็นอาหารได้หากเป็นหอยที่อยู่ในน้ำที่สะอาด และต้องทำให้สุกก่อนการนำมาบริโภค เพื่อป้องกันจุลินทรีย์และพยาธิที่อาจเป็นอันตรายต่อสุขภาพ พบว่า หอยเชอรี่ สามารถนำไปทำอาหารได้หลากหลาย ทั้ง ต้ม ผัด แกง ทอด ยำ ลวก เช่น ก้อยหอยเชอรี่ ยำหอยเชอรี่ ผัดหอยเชอรี่ ส้มตำหอยเชอรี่ ฯลฯ เป็นต้น
เดชา มลามาตย์/มนสิชา คล้ายแก้ว