ข่าวใหม่อัพเดท » สภากรุงเทพมหานครกับการบริหารสถานการณ์โควิด-19 ในทุกมิติ

สภากรุงเทพมหานครกับการบริหารสถานการณ์โควิด-19 ในทุกมิติ

30 พฤษภาคม 2020
0

ภายหลังเหตุการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ทางสภากรุงเทพมหานครได้ผลักดันมาตรการอย่างจริงจัง และเด็ดขาด เพื่อรับมือกับสถานการณ์การแพร่ระบาดดังกล่าว โดยมีการใช้ พระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน ร่วมกับพระราชบัญญัติโรคติดต่อ พ.ศ. 2558 ของรัฐบาล ส่งผลให้จำนวนผู้ติดเชื้อในพื้นที่กรุงเทพมหานครนั้นมีจำนวนลดลงอย่างต่อเนื่อง

ปัจจุบันสถานการณ์เริ่มมีความคลี่คลายลงไปมาก หลายกิจกรรมและธุรกิจบางประเภทสามารถกลับมาเปิดให้บริการ อย่างไรก็ตามทางสภากรุงเทพมหานครยังคงยึดหลัก การป้องกันการแพร่ระบาด 3 เรื่อง ได้แก่ (1)การรักษาระยะห่างทางสังคมสำหรับร้านค้าอย่างเคร่งครัด โดยมีเจ้าหน้าที่รัฐและประชาชนคอยเป็นหูเป็นตา, (2)การกำหนดพื้นที่เสี่ยง เพื่อหลีกเลี่ยงไม่ให้ประชาชนเข้าไปในพื้นที่ ดังกล่าว, (3)การกักตัวของผู้มีความเสี่ยงอย่างเข้มงวด เพื่อป้องกันไม่ให้เชื้อกลับมาแพร่ระบาดอีกครั้ง

พลตำรวจตรี ประสพโชค พร้อมมูล สมาชิกสภากรุงเทพมหานคร อธิบายถึงแนวคิดระบบบริหารสถานการณ์โควิด-19 ว่า เป็นระบบที่นำเอาเทคโนโลยีที่มีความทันสมัยเข้ามาประยุกต์ใช้ เรียกว่า Anti Covid-19 Model (3T Model) ประกอบไปด้วย

Team หมายถึง มีศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด โดยภาครัฐและภาคเอกชนจะมีการบูรณาการการทำงานเข้าด้วยกัน เรียกว่าทีมงานปันสุข ซึ่งจะทำงานร่วมกับศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ ศบค. ของรัฐบาล

Tools หมายถึง ระบบบริหารจัดการที่มีประสิทธิภาพ เช่น การสืบค้น การหาตัวผู้ติดเชื้อ สถานที่กักกัน รวมถึงการทำสิ่งอื่นที่เกี่ยวข้องกับ การบริหารสถานการณ์ โดยจะทำหน้าที่ในการแจ้งผลมายังหน่วยงานภาครัฐ รวมทั้งประชาชนแบบ 24 ชั่วโมง ทำให้เจ้าหน้าที่สามารถปฏิบัติงานได้อย่างทันท่วงที

และสุดท้าย Training หมายถึง ในการทำงานของภาครัฐต้องให้องค์ความรู้ และประชา สัมพันธ์ให้ประชาชนรับทราบข้อมูลที่สำคัญ ไม่ว่าจะเป็นการป้องกันการติดเชื้อ การป้องกัน การแพร่ระบาดของเชื้อ รวมถึงแนวทาง การปฏิบัติตัวของประชาชนท่ามกลางสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส โดยโมเดลดังกล่าวเมื่อดำเนินการอย่าง ต่อเนื่องจะช่วยป้องกันการแพร่ระบาด และเป็นการสร้างความมั่นใจให้กับประชาชน รวมถึงนักท่องเที่ยวต่างชาติ

สำหรับการบริหารจัดการสถานการณ์ สิ่งที่ภาครัฐ ภาคเอกชน รวมถึงประชาชนต้องคำนึงถึง พลตำรวจตรี ประสพโชค กล่าวว่า ท่ามกลางสถานการณ์ที่ทั่วโลกกำลังประสบปัญหาจากไวรัสโควิด-19 มีสิ่งที่ต้องคำนึง 4 ด้าน ที่นำไปสู่การ ขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ คือ

  1. ด้านการเกษตร เรื่องที่ทำกิน ปุ๋ย ยาฆ่าแมลง รวมถึงการจัดหาแหล่งจำหน่ายให้กับประชาชน
  2. ด้านการท่องเที่ยว โดยการ เพิ่มระบบสาธารณสุขเข้าไปในธุรกิจโรงแรม ทั้งแพทย์แผนปัจจุบัน และแพทย์แผนไทย เพื่อสร้างจุดขายให้กับนักท่องเที่ยว
  3. ด้านอาหาร ส่งเสริมการทำ Clean food, Good taste ครัวไทยไปสู่ครัวโลกให้มี รูปธรรมมากขึ้น เพื่อนำรายได้กลับมาพัฒนาประเทศ
  4. ด้านสาธารณสุข แพทย์แผนปัจจุบัน และแพทย์แผนไทย ให้สามารถโชว์ศักยภาพสำหรับการเสริมสร้างสุขภาพ การรักษา การเยียวยา และการฟื้นฟู ให้เป็นที่ประจักษ์แก่สายตานักท่องเที่ยว

“ด้วยสถานการณ์โควิด-19 ที่เป็นวิกฤตอยู่ในขณะนี้ ประเทศไทยถือเป็นประเทศที่มีความเอื้ออาทรต่อกัน สิ่งนี้เป็นเสน่ห์ และ เป็นความงดงาม ทางกรุงเทพมหานครและเอกชนเป็นเหมือนสะพานที่เชื่อมโยงระหว่างประชาชนกับหน่วยงานภาครัฐ เพื่อทำให้ประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น และสามารถนำพาประเทศสู่ความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืนต่อไป” พลตำรวจตรี ประสพโชคกล่าวปิดท้าย


error: Content is protected !!