ข่าวใหม่อัพเดท » มาแล้ว ! รถไฟฟ้าสายสีทอง ทำไมต้องไร้คนขับ-ใช้ล้อยาง?

มาแล้ว ! รถไฟฟ้าสายสีทอง ทำไมต้องไร้คนขับ-ใช้ล้อยาง?

18 มิถุนายน 2020
0

มาแล้ว ! รถไฟฟ้าสายสีทอง ทำไมต้องไร้คนขับ-ใช้ล้อยาง ?

รถไฟฟ้าสายสีทองขบวนแรกถูกส่งมาถึงไทยโดยเรือสัญชาติปานามาชื่อ Seacon Victory ขนขบวนรถไฟฟ้ามาจากท่าเรือเซี่ยงไฮ้ ประเทศจีน เมื่อวันที่ 2 มิถุนายน 2563 แวะส่งสินค้าอื่นที่ท่าเรือไฮฟอง ประเทศเวียดนาม เมื่อวันที่ 8 มิถุนายน 2563 ออกจากท่าเรือไฮฟองเมื่อวันที่ 9 มิถุนายน 2563 มุ่งตรงมาถึงท่าเรือแหลมฉบังเมื่อวันที่ 15 มิถุนายน 2563 เวลา 22.00 น. (เร็วกว่ากำหนดการที่ระบุว่าจะมาถึงในวันที่ 16 มิถุนายน 2563 เวลา 03.00 น.)

บนถนนกรุงธนบุรีและถนนเจริญนครที่มีรถไฟฟ้าสายสีทองระยะที่ 1 วิ่งผ่าน มีรถไฟฟ้า 2 แบบ ที่เหมาะสมคือ APM และ Monorail ทั้ง 2 แบบดังกล่าวไร้คนขับและใช้ล้อยาง แต่ทำไม APM จึงถูกเลือก? แล้ว APM สายสีทองกับ APM ในสนามบินสุวรรณภูมิต่างกันอย่างไร?

APM (Automated People Mover) หรือรถไฟฟ้าไร้คนขับ ใช้ล้อยางวิ่งบนพื้นคอนกรีตโดยมีรางเหล็กวางอยู่ตรงกลางระหว่างล้อซ้ายขวาเพื่อช่วยนำทาง เลี้ยววงแคบและไต่ทางลาดชันได้ดี กินพื้นที่น้อยเนื่องจากใช้โครงสร้างขนาดเล็ก APM เป็นที่นิยมใช้ในพื้นที่ที่มีผู้โดยสารไม่มาก โดยเฉพาะในสนามบินเพื่อขนผู้โดยสารเครื่องบินไปมาระหว่างเทอร์มินัลกับเทอร์มินัล หรือระหว่างเทอร์มินัลกับอาคารเทียบเครื่องบินรอง (อาคารรอขึ้นเครื่องบิน) ดังเช่นที่กำลังจะใช้ในสนามบินสุวรรณภูมิ เพื่อขนผู้โดยสารเครื่องบินระหว่างเทอร์มินัล 1 กับอาคารเทียบเครื่องบินรองหลังที่ 1

Monorail หรือรถไฟฟ้ารางเดี่ยว ไม่ใช้คนขับเช่นเดียวกับ APM ใช้ล้อยางวิ่งบนรางคอนกรีตหรือรางเหล็กเพียงรางเดียว เลี้ยววงแคบและไต่ทางลาดชันได้ดี กินพื้นที่น้อยเนื่องจากใช้โครงสร้างขนาดเล็ก Monorail เป็นที่นิยมใช้ในพื้นที่ที่มีผู้โดยสารไม่มากเช่นเดียวกัน แต่มักนิยมใช้ขนผู้โดยสารไปป้อนให้กับรถไฟฟ้าขนาดหนักที่สามารถขนผู้โดยสารได้มากกว่า พูดได้ว่าใช้ Monorail สำหรับรถไฟฟ้าสายรองเพื่อขนผู้โดยสารไปป้อนให้รถไฟฟ้าสายหลัก ดังเช่นรถไฟฟ้าสายสีเหลืองซึ่งเป็น Monorail ที่กำลังก่อสร้างเพื่อขนผู้โดยสารริมถนนลาดพร้าวไปป้อนให้กับรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน (รถไฟฟ้าใต้ดิน MRT) ที่สถานีรัชดาภิเษก

อ่านข้อความข้างบนแล้ว หลายคนคงคิดว่า Monorail น่าจะเหมาะสมกับรถไฟฟ้าสายสีทอง เพราะเป็นรถไฟฟ้าสายรองที่จะขนผู้โดยสารไปป้อนให้กับรถไฟฟ้าสายหลักคือ BTS ที่สถานีกรุงธนบุรี แต่อย่างไรก็ตาม APM ได้รับเลือกแทน Monorail เนื่องจากมีต้นทุนถูกกว่า ทั้งเงินลงทุนซื้อขบวนรถไฟฟ้า และค่าใช้จ่ายในการเดินรถและบำรุงรักษา

หลายคนคงอยากรู้ว่าทั้ง APM และ Monorail ซึ่งไม่ใช้คนขับจะปลอดภัยหรือไม่ และจะดีอย่างไร ขอตอบว่า การไม่ใช้คนขับ แต่ใช้ระบบควบคุมอัติโนมัติจะช่วยลดข้อผิดพลาด หรือข้อบกพร่องที่เกิดจากน้ำมือของมนุษย์ (Human Error) ได้ ทำให้มีความปลอดภัยสูง แต่การไม่ใช้คนขับจะทำให้ต้องลงทุนงานระบบควบคุมเพิ่มขึ้น อย่างไรก็ตาม ในระยะยาวจะช่วยทำให้ค่าใช้จ่ายในการประกอบการเดินรถถูกลง

ทั้ง APM และ Monorail ใช้ล้อยาง ไม่ใช่ล้อเหล็ก เพื่อลดเสียงดังและการสั่นสะเทือนที่สร้างความรำคาญต่อผู้อยู่อาศัยริมทาง มีความนุ่มนวลในการขับขี่ดีกว่า และช่วยให้สามารถเร่งความเร็วหรือเบรกได้อย่างรวดเร็วในระยะทางสั้นๆ ทำให้ขบวนรถไฟฟ้าสามารถวิ่งต่อเนื่องใกล้ๆ กันได้

APM สายสีทองต่างกับ APM ในสนามบินสุวรรณภูมิอย่างไร?

APM สายสีทองวิ่งบนทางยกระดับสูงประมาณ 14-17 เมตร ระยะทาง 1.8 กิโลเมตร รุ่น Bombardier Innovia APM 300 เป็นของแคนาดา แต่ผลิตในจีน ใน 1 ขบวนมี 2 ตู้ ความจุ 137 คน/ตู้ (นั่ง 19 คน ยืน 118 คน) ความเร็วสูงสุด 80 กิโลเมตร/ชั่วโมง เลี้ยววงแคบด้วยรัศมีวงเลี้ยว 22 เมตร ไต่ทางลาดชันได้ 10% ราคารถไฟฟ้าประมาณ 200 ล้านบาท/ขบวน

APM ในสนามบินสุวรรณภูมิวิ่งในอุโมงค์ใต้ดินยาวประมาณ 1 กิโลเมตร รุ่น Siemens Airval เป็นของเยอรมนี แต่ผลิตในออสเตรีย ใน 1 ขบวนมี 2 ตู้ ความจุ 105 คน/ตู้ (นั่ง 8 คน ยืน 97 คน) ความเร็วสูงสุด 80 กิโลเมตร/ชั่วโมง เลี้ยววงแคบด้วยรัศมีวงเลี้ยว 30 เมตร ไต่ทางลาดชันได้ 10-12% ราคารถไฟฟ้า 248 ล้านบาท/ขบวน

จะเห็นได้ว่า APM สายสีทอง และ APM ในสนามบินสุวรรณภูมิมีขีดความสามารถใกล้เคียงกัน

จากนี้ไปจึงต้องติดตามดูกันว่า APM จะช่วยสร้างสีสันให้ระบบรถไฟฟ้าในเมืองไทยได้มากน้อยแค่ไหน


CR. ดร.สามารถ ราชพลสิทธิ์
รองหัวหน้าพรรคประขาธิปัตย์

error: Content is protected !!