ผช.ผบ.ตร.แถลง ปคบ. ร่วม อย. ตรวจยึดถุงมือทางการแพทย์ที่ไม่ได้มาตรฐานมูลค่ากว่า 50 ล้านบาท
วันที่ 18 มิ.ย. 63 เวลา 15.00 น. ที่ บก.ปคบ. : พล.ต.ท.เพิ่มพูน ชิดชอบ ผู้ช่วย ผบ.ตร.พร้อมด้วย พ.ต.อ.ศรีศักดิ์ คัมภีรญาณ รอง ผบก.ปคบ., พ.ต.อ.เชษฐ์พันธ์ กิติเจริญศักดิ์ ผกก.1 บก.ปคบ. และ เภสัชกรหญิงสุภัทรา บุญเสริม รองเลขาธิการ อย. ร่วมแถลงผลการตรวจยึด “ถุงมือทางการแพทย์ที่ไม่ได้มาตรฐาน” และสินค้าไม่ได้คุณภาพตามมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (มอก.) มูลค่าความเสียหายกว่า 52 ล้านบาท
พล.ต.ท.เพิ่มพูนฯ กล่าวว่า ปัจจุบันสถานการณ์การแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 เกิดขึ้นทั่วโลกและต่อเนื่อง ทำให้มีความต้องการอุปกรณ์ทางการแพทย์เป็นจำนวนมาก โดยผู้ประกอบการผลิตบางรายไม่คำนึงถึงคุณภาพตาม มอก. ซึ่งอาจก่อให้เกิดอันตรายได้ โดย ปคบ. ได้รับการร้องเรียนจากผู้บริโภคว่ามีโกดัง 2 แห่ง นำถุงมือทางการแพทย์ที่ใช้แล้วจากประเทศเพื่อนบ้านมาหลอกขายในราคาสินค้าใหม่แกะกล่อง ซึ่งสินค้าดังกล่าวผู้ร้องเรียนจะต้องนำไปใช้ เพื่อป้องกันโรครวมทั้งป้องกันการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 จึงทำให้เกิดอัตราเสี่ยงต่อการติดเชื้อ
พล.ต.ท.เพิ่มพูนฯ กล่าวอีกว่า กระทั่งวันที่ 13 มิ.ย.63 ที่ผ่านมา ตำรวจ ปคบ. สนธิกำลังกับ จนท.อย. ขออนุมัติหมายค้นจากศาล เข้าตรวจ 2 จุด ได้แก่บริษัทแห่งหนึ่ง ตั้งอยู่เลขที่ 79 หมู่ที่ 2 ต.บึงชำอ้อ อ.หนองเสือ จ.ปทุมธานี ขณะเข้าทำการตรวจคัน พบว่ากำลังผลิตบรรจุถุงมือลงกล่อง เพื่อเตรียมจัดส่งให้กับลูกค้า และพบถุงมือบรรจุในกระสอบเป็นจำนวนมาก และ 2.บริษัท ย่านพระราม 2 ตั้งอยู่ เลขที่ 396 ถ.พะราม 2 ซอย 44 แขวงแสมดำ เขตบาง ขุนเทียน กรุงเทพฯ ซึ่งมีลักษณะเป็นโกดังเก็บสินค้า ผลการตรวจค้นพบถุงมือบรรจุในกระ สอบ เป็นจำนวนมากจึงได้ทำการตรวจยึดและอายัด ของกลาง ดังนี้
- กระสอบสีขาว บรรจุถุงมือยาง จำนวน 1,945 กระสอบ รวม 10,835,000 ชิ้น
- ลังบรรจุกล่องกระดาษสีขาวฟ้า บรรจุ Examination Glove จำนวน 656 ลัง รวม 656,000 ชิ้น
- ลังบรรจุถุงมือยาง จำนวน 95 ลัง รวม 9,500 ชิ้น
- กล่องเปล่าสำหรับบรรจุผลิตภัณฑ์ จำนวน 500 กล่อง
- คอมพิวเตอร์รวมถึงอุปกรณ์ รวมของกลางมูลค่ากว่า 50 ล้านบาท
ผู้ช่วย ผบ.ตร.กล่าวต่อ จากการสอบสวนเบื้องต้น เข้าข่ายความผิดฐานขายสินค้าที่ควบคุมฉลาก ตาม พ.ร.บ.คุ้มครองผู้บริโภค และ ความผิดฐานไม่จดทะเบียนสถานประกอบการผลิตเครื่องมือแพทย์ ผลิตเครื่องมือแพทย์ปลอม ขายเครื่องมือแพทย์ที่ลวงให้เข้าใจผิด เรื่องชื่อ ส่วนประกอบ คุณภาพ ชื่อผู้ผลิต สถานที่ผลิต ผลิตเครื่องมือแพทย์ที่ไม่ปลอดภัยในการใช้ ขายเครื่องมือแพทย์ที่ไม่ปลอดภัย โดยไม่ถูกสุขลักษณะ ตาม พ.ร.บ.เครื่องมือแพทย์
ด้าน เภสัชกรหญิงสุภัทราฯ กล่าวว่า สำหรับถุงมือทางการแพทย์นั้นบุคลากรทางการแพทย์จะสวมใส่เพื่อป้องกันการติดต่อเชื้อโรคจากผู้ป่วย จึงต้องมีมาตรฐาน แต่ผู้ประกอบการบางส่วนกลับฉวยโอกาสหลอกขายสินค้าไม่ได้คุณภาพ ทั้งนี้ หากพบถุงมือทางการแพทย์ยี่ห้อไม่น่าเชื่อถือไม่ควรนำมาใช้เพราะไม่สามารถป้องกันความปลอดภัยได้
ด้าน พ.ต.อ.ศรีศักดิ์ฯ กล่าวว่า นอกจากนี้ ช่วงวิกฤตโควิด-19 ประชาชนได้สั่งซื้อสินค้าออนไลน์จำนวนมาก โดยตำรวจ บก.ปคบ. เข้าตรวจค้นสถานที่แหล่งผลิต นำเข้า และจําหน่ายสินค้าประเภทต่างๆ ที่อาจไม่เป็นไปตามข้อกําหนดบังคับมาตรฐานอุตสาหกรรม (มอก.) ในช่วงระหว่างวันที่ 1-16 มิ.ย.63 จำนวน 10 แห่ง ในเขตกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด รวมทั้งสิ้น 16,721 รายการ ทั้ง ชุดปลั๊กพ่วง, เตารีดไฟฟ้า, หม้อชาบู, ฝักบัวอาบน้ำ, หลอดไฟแอลอีดี, ของเล่นเด็ก, เตาปิ้งย่าง, กระทะไฟฟ้า, เครื่องหนีบผมและไดร์เป่าผมไฟฟ้า รวมมูลค่ากว่า 2.6 ล้านบาท ซึ่งเข้าข่ายความผิด ตาม พ.ร.บ.มาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม
สุรเชษฐ ศิลานนท์ รายงาน