เพชรบูรณ์ – สวนลำไยแห่งแรกของอำเภอวังโป่ง ท่ามกลางขุนเขาและสายหมอก อดีตผู้ใหญ่บ้าน หันมาปลูกลำไยแทนปลูกพืชเชิงเดี่ยว สร้างรายได้งาม ผลผลิตดกเต็มต้น มีลูกค้าเดินทางสั่งซื้อสั่งจองถึงหน้าสวน นับเป็นสวนลำไยแห่งแรกของอำเภอวังโป่ง ตั้งอยู่ท่ามกลางขุนเขาและสายหมอก ขายได้วันละไม่ต่ำกว่า 3-4 พันบาท
เมื่อวันที่ 3 กรกฎาคม 2563 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า อดีตผู้ใหญ่บ้าน วัย 69 ปี อาศัยอยู่บ้านเลขที่ 73 หมู่ 1 บ้านวังไทรทอง ต.ซับเปิบ อ.วังโป่ง จ.เพชรบูรณ์ ประกอบอาชีพเกษตรกร ทำไร่ ทำนาดั้งเดิม ได้ผันตัวมาปลูกต้นลำไยเป็นรายแรก แทนการปลูกพืชเชิงเดี่ยว พร้อมทำการเลี้ยงควาย แบบปล่อยให้กินหญ้าภายในสวนควบคู่ไปด้วย จนกระทั่งประสบผลสำเร็จ ลำไยให้ผลผลิตดกเต็มต้น มีประชาชน และนักท่องเที่ยว ต่างเดินทางมาสั่งซื้อ สั่งจองกันถึงในสวน
จึงเดินทางไปยังสวนลำไย ของอดีตผู้ใหญ่บ้าน หรือ นายสำรวย เบิกข่วง อายุ 69 ปี เกษตรกร หมู่ 1 บ้านวังไทรทอง ต.ซับเปิบ อ.วังโป่ง จ.เพชรบูรณ์ ได้เปิดเผยว่า เดิมที พื้นที่ตรงนี้ ราว 9 ไร่เศษ ตนได้ทำการปลูกพืชเชิงเดี่ยว ทำนา สลับ กับทำไร่ กระทั่งเมื่อปี พ.ศ.2537 ตนได้มีโอกาสไปศึกษาดูงานที่จังหวัดกำแพงเพชร และ มีคนแนะนำให้ตนปลูกต้นลำไย เพราะดูแลง่าย ให้ผลผลิตดี และมีรายได้มากกว่าการปลูกข้าว ปลูกข้าวโพด ตนจึงตัดสินใจทำการปรับหน้าดิน และแบ่งพื้นที่ทดลองปลูกต้นลำไยพันธุ์พวงทอง และ พันธ์อีดอ จำนวน 260 ต้น ในราคาต้นละ 50 บาท ปลูกบนเนื้อที่ 9 ไร่เศษ ใช้ระยะระหว่างต้น ระหว่างแถวขนาด 8×8 เมตร ซึ่งขณะเดียวกัน พื้นที่ว่างระหว่างแถว ตนก็ยังทำการปลูกพืชเชิงเดี่ยวควบคู่ไปด้วย เพื่อสร้างรายได้ระหว่างรอไม้ผล แต่เป็นที่น่าเสียดายอย่างมาก หลังจากปลูกได้ไม่นาน ได้เกิดเหตุภัยธรรมชาติ น้ำป่าไหลหลาก พัดเอาต้นลำไยล้มเสียหาย ซึ่งในปัจจุบัน เหลือต้นลำไย เพียง 40 ต้นเท่านั้น
โดยในปีนี้ สภาพอากาศมีความเหมาะสม ฝนตกต้องตามฤดูกาล ทำให้ต้นลำไย ทั้ง 40 ต้น ให้ผลผลิต ออกลูกดกเต็มต้น ผลโต เม็ดเล็ก เนื้อมีรสชาติ หวาน กรอบ ร่อน จนมีชาวบ้านและนักท่องเที่ยวทราบข่าว ต่างพากันเดินทางมาชมสวนลำไย พร้อมกับชิมสดๆ จากต้น และซื้อติดไม้ติดมือ คนละ 5 -10 กก. ในราคาเพียง กิโลกรัมละ 25 บาท เพื่อนำกลับไปฝากคนที่บ้านกันเป็นจำนวนมาก ทำให้มีรายได้จากการขายลำไย เฉลี่ยไม่ต่ำกว่า วันละ 3,000-4,000 บาท เลยทีเดียว
ด้าน นายนาวิน สังฆมาตร นายอำเภอวังโป่ง พร้อมด้วย นางสาวลักขณา พรหมเศรณี เกษตรอำเภอวังโป่ง ก็ได้ลงพื้นที่ดูสวนลำไย ปลอดสารเคมี ที่กำลังให้ผลผลิต ซึ่งนับเป็นสวนแห่งแรกของอำเภอวังโป่ง ที่เริ่มปลูกลำไยมาตั้งแต่ปี พ.ศ.2537 พร้อมทั้งเดินเยี่ยมชมสวน และ ชิมลำไยสดๆ จากต้น ต่างบอกเป็นเสียงเดียวกันว่า มีรสชาติและคุณภาพที่ดีเยี่ยม ไม่แพ้ลำไยจากทางภาคเหนือเลยทีเดียว
เดชา มลามาตย์/มนสิชา คล้ายแก้ว