ข่าวใหม่อัพเดท » “ไฮเปอร์ลูป” รถไฟความเร็วสูงในท่อ ทำไมจึงฝ่อก่อนสตาร์ท ?

“ไฮเปอร์ลูป” รถไฟความเร็วสูงในท่อ ทำไมจึงฝ่อก่อนสตาร์ท ?

3 กรกฎาคม 2020
0

“ไฮเปอร์ลูป” รถไฟความเร็วสูงในท่อ
ทำไมจึงฝ่อก่อนสตาร์ท?

ใครที่ฝันว่าจะได้ใช้ไฮเปอร์ลูป (Hyperloop) แทนรถไฟความสูงในอีกไม่นาน เห็นทีจะต้องรออีกนาน รอแล้วรออีกก็ไม่รู้ว่าจะได้ใช้หรือไม่ เพราะจนถึงวันนี้ยังไม่มีเมืองไหนในโลกที่ได้สัมผัสกับสุดยอดเทคโนโลยีของการขนส่งนี้ เป็นเพราะอะไร?

รถไฟความเร็วสูงถูกสร้างขึ้นมาครั้งแรกในโลกโดยวิศวกรชาวญี่ปุ่นบนเส้นทางกรุงโตเกียว-โอซาก้า และเปิดใช้บริการเมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2507 ถึงวันนี้เป็นเวลาเกือบ 56 ปีแล้วที่รถไฟความเร็วสูง หรือ “ชินคันเซ็น” ของญี่ปุ่นให้บริการมาโดยไม่มีอุบัติเหตุที่ทำให้มีผู้เสียชีวิตเลย หลังจากนั้น มีการพัฒนารถไฟความเร็วสูงตลอดมา จนทำให้รถไฟความเร็วสูงสามารถวิ่งได้ด้วยความเร็วสูงสุดที่ใช้งานจริงถึงประมาณ 400 กิโลเมตร/ชั่วโมง

การพัฒนารถไฟความเร็วสูงไม่หยุดนิ่ง มีการคิดค้นต่อยอดเรื่อยมา ถัดจากชินคันเซ็นก็มาถึงแม็กเลฟหรือรถไฟความเร็วสูงแบบแรงแม่เหล็กยก (Magnetic Levitation หรือ Maglev) โดยใช้พลังงานแม่เหล็กยกรถไฟให้ลอยขึ้นเหนือรางและผลักให้วิ่งไปข้างหน้าด้วยความเร็วสูงโดยไม่มีการเสียดสีระหว่างล้อกับราง

มีการวิจัยแม็กเลฟมานานหลายสิบปีแล้ว จนถึงเวลานี้แม็กเลฟสามารถวิ่งบนเส้นทางทดสอบ (Test Track) ได้ด้วยความเร็วสูงสุดถึงประมาณ 600 กิโลเมตร/ชั่วโมง หลักการทำงานของแม็กเลฟไม่ยุ่งยาก โดยมีขดลวดเพื่อรับกระแสไฟฟ้าติดอยู่ที่ราง และมีแม่เหล็กติดอยู่ที่รถไฟ ในขั้นแรกขดลวดจะสร้างสนามแม่เหล็กเพื่อยกรถไฟขึ้นเหนือรางประมาณ 1 เซนติเมตร ต่อจากนั้น ขดลวดอีกชุดหนึ่งจะสร้างสนามแม่เหล็กเพื่อทำให้บริเวณด้านหน้าของรถไฟมีแรงลากรถไฟ และบริเวณด้านหลังมีแรงผลัก แรงทั้งสองนี้จะช่วยกันทำให้แม็กเลฟวิ่งไปข้างหน้าด้วยความเร็วสูง

แม้ว่าได้มีการค้นคว้าและวิจัยแม็กเลฟมานานหลายสิบปีแล้วก็ตาม แต่จนถึงวันนี้มีการนำแม็กเลฟมาใช้งานจริงเพียงเส้นทางเดียวเท่านั้น นั่นคือเส้นทางเชื่อมระหว่างสนามบินผู่ตง (สนามบินเซี่ยงไฮ้) กับย่านหลงหยางชานเมืองเซี่ยงไฮ้ระยะทางประมาณ 30 กิโลเมตร วิ่งด้วยความเร็วสูงสุด 430 กิโลเมตร/ชั่วโมง โดยเปิดใช้งานเมื่อปี 2547

เหตุที่แม็กเลฟไม่เป็นที่นิยมเพราะมีต้นทุนสูง ทำให้ต้องเลือกใช้บนเส้นทางที่คาดว่าจะมีผู้โดยสารหนาแน่นเท่านั้น เพื่อให้ได้ผลตอบแทนที่คุมค่ากับการลงทุน ในปัจจุบันในโลกมีการก่อสร้างแม็กเลฟเพิ่มเติมเพียงเส้นทางเดียวเท่านั้นคือเส้นทางระหว่างกรุงโตเกียว-นาโกย่า ซึ่งคาดว่าจะเปิดให้บริการได้ในปี 2570 วิ่งด้วยความเร็วสูงสุด 505 กิโลเมตร/ชั่วโมง

ต่อจากแม็กเลฟก็มาถึงไฮเปอร์ลูปหรือรถไฟความเร็วสูงวิ่งในท่อ มีการค้นคว้าวิจัยกันอย่างจริงจังเมื่อไม่นานมานี้ คาดหวังว่าจะวิ่งได้ด้วยความเร็วสูงสุดถึง 1,200 กิโลเมตร/ชั่วโมง หรือเร็วกว่าเครื่องบินพาณิชย์ซึ่งมีความเร็วประมาณ 900 กิโลเมตร/ชั่วโมง ไฮเปอร์ลูปเป็นการพัฒนาต่อยอดจากแม็กเลฟ พูดได้ว่าให้แม็กเลฟวิ่งในท่อสุญญากาศ ทำให้ไม่มีแรงเสียดทานที่ยานพาหนะซึ่งมีรูปร่างเหมือนแคปซูลทะยานไปข้างหน้าในท่อสุญญากาศได้ด้วยความเร็วสูง มีการทดสอบไฮเปอร์ลูปวิ่งในท่อแล้วหลายครั้ง พบว่าแคปซูลบรรทุกผู้โดยสารสามารถทำความเร็วสูงสุดได้ไม่เกิน 500 กิโลเมตร/ชั่วโมง จนถึงเวลานี้ยังไม่มีการก่อสร้างไฮเปอร์ลูปเพื่อใช้งานจริง เนื่องจากยังมีข้อสงสัยและปัญหาหลายประการที่จะต้องศึกษาและแก้ไขกันต่อไป เช่น

  1. ต้นทุนค่าก่อสร้างและค่าบริหารจัดการเดินรถรวมทั้งค่าบำรุงรักษาอาจสูงกว่าราคาที่มีการเสนอกันมามาก ในขณะที่มีขีดความสามารถขนผู้โดยสารได้น้อยกว่ารถไฟความเร็วสูงที่ใช้กันอยู่ในปัจจุบัน ทำให้กังวลว่าจะได้ผลตอบแทนไม่คุ้มค่ากับการลงทุน
  2. ท่ออาจทรุดตัวไม่เท่ากัน ซึ่งจะทำให้ท่อร้าวหรือแตกหักได้ ถ้าอากาศไหลเข้าสู่ท่ออะไรจะเกิดขึ้น?
  3. หากมีแรงสั่นสะเทือนในท่อ จะมีผลต่อการทรงตัวของแคปซูลบรรทุกผู้โดยสารหรือไม่?
  4. ในกรณีมีอุบัติเหตุเกิดขึ้น จะอพยพผู้โดยสารออกจากแคปซูลและจากท่อได้อย่างไร?
  5. มีสถานีกลางทางน้อย เนื่องจากต้องวิ่งด้วยความเร็วสูงมาก ทำให้โอกาสในการพัฒนาพื้นที่ข้างทางมีน้อย ส่งผลให้ไม่สามารถกระตุ้นเศรษฐกิจในแนวเส้นทางได้ดีพอ
  6. การเชื่อมต่อกับโครงข่ายรถไฟในปัจจุบันหรือรถไฟความเร็วสูงในอนาคตทำได้ยาก เพราะระบบไม่เหมือนกัน ทำให้ผู้โดยสารไฮเปอร์ลูปไม่ได้รับความสะดวก ซึ่งจะส่งผลต่อปริมาณผู้โดยสารที่อาจมีน้อยกว่าที่คาดการณ์ไว้
  7. ไม่มีห้องน้ำไว้ให้บริการแก่ผู้โดยสาร
  8. ผู้โดยสารไม่สามารถชมวิวทิวทัศน์ข้างทางได้

ด้วยเหตุผลดังกล่าว ในเวลานี้จึงทำให้ไม่มีเมืองใดในโลกลงมือก่อสร้างไฮเปอร์ลูปกันอย่างจริงจังตามที่ได้คุยไว้

ผมสนใจในนวัตกรรมด้านการขนส่งที่สามารถอำนวยความสะดวก รวดเร็ว และปลอดภัยให้ผู้โดยสาร ลดต้นทุนการก่อสร้างและการเดินรถ และที่สำคัญ เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ซึ่งจะช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตของพี่น้องประชาชน ถ้าไฮเปอร์ลูปมีคุณสมบัติดังกล่าวจริงก็ต้องทดสอบให้เห็นเป็นรูปธรรมอย่างสมบูรณ์แบบดัง เช่น แม็กเลฟได้ทำมาแล้ว ถึงเวลานั้นจึงจะบอกได้ว่าไฮเปอร์ลูปเหมาะสมกับประเทศไทยหรือไม่

ทั้งหมดนี้ ผมไม่ต้องการทำให้นวัตกรรมชั้นยอดอย่างไฮเปอร์ลูปต้องฝ่อก่อนสตาร์ต


ดร.สามารถ ราชพลสิทธิ์
รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์

error: Content is protected !!