ลิ้นจี่ นพ.1 นับเป็นพืชเศรษฐกิจที่สำคัญของจังหวัดนครพนม ที่ได้รับการขึ้นทะเบียนสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์กับกรมทรัพย์สินทางปัญญา โดยได้ตราสัญลักษณ์ GI ไทย เพื่อรับรองถึงแหล่งที่มาของผลิตภัณฑ์ ด้วยมีความโดดเด่นเป็นพิเศษ คือ มีผลขนาดใหญ่ เปลือกสีแดงอมชมพู รูปทรงเหมือนไข่ เนื้อผลแห้งสีขาวขุ่น รสชาติหวานอมเปรี้ยว ไม่มีรสฝาด จึงทำให้เป็นที่ต้องการของตลาดผลไม้ ทั้งในและต่างประเทศมากยิ่งขึ้น
นายร่มไม้ นวลตา เกษตรจังหวัดนครพนม เปิดเผยว่า สำนักงานเกษตรจังหวัดนครพนม ได้มีการส่งเสริมและพัฒนาองค์ความรู้ให้กับกลุ่มเกษตรกรที่ปลูกลิ้นจี่ นพ.1 มาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งจำเป็นที่จะต้องส่งเสริมและพัฒนาในด้านการผลิตเพราะนับว่าเป็นพืชเศรษฐกิจที่มีความสำคัญของจังหวัดนครพนม และยังมีการปลูกในปริมาณที่ไม่มากนัก ผลผลิตมีไม่เพียงพอกับความต้องการของตลาดที่มีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้น จึงจำเป็นที่จะต้องส่งเสริมให้เกษตรกรในพื้นที่จังหวัดนครพนม เกิดการรวมกลุ่มกันผลิตลิ้นจี่ พันธุ์ นพ.1 เพื่อการส่งออก โดยเน้นการผลิตที่ปลอดภัยได้มาตรฐาน GAP เกิดการลดต้นทุนการผลิต และการเพิ่มศักยภาพการผลิต มีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างเกษตรกร นักวิชาการ พ่อค้า องค์กร หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐและเอกชนสร้างช่องทางการตลาด การแปรรูปผลิตภัณฑ์มีการส่งเสริมให้เกษตรกรรวมกลุ่มกันเป็นชุมชนผู้ผลิตที่เข้มแข็งเพิ่มมูลค่าของสินค้า และยกระดับรายได้ให้แก่เกษตรกรในจังหวัดนครพนมเพิ่มขึ้น
เกษตรจังหวัดนครพนม เปิดเผยเพิ่มเติมว่า เกษตรกรที่ผ่านการอบรมครบตามหลักสูตรแล้วจะได้รับการสนับสนุนกิ่งพันธุ์ต้นลิ้นจี่ นพ.1 ไปปลูกในพื้นที่ตนเอง พร้อมปุ๋ยอินทรีย์สนับสนุน ซึ่งทางสำนักงานเกษตรจังหวัดนครพนมจะส่งเจ้าหน้าที่ลงพื้นที่ถ่ายทอดความรู้ ติดตาม และให้คำแนะนำเพิ่มเติม ด้านการปลูก และการดูแลรักษา สำหรับการปลูกลิ้นจี่นั้น มีกระจายอยู่ในทั่วทุกภาคของประเทศไทย จังหวัดนครพนมเป็นอีกหนึ่งพื้นที่ที่มีความเหมาะสมในการปลูกลิ้นจี่ ซึ่งนิยมปลูก เป็นลิ้นจี่พันธุ์เบา คือ ลิ้นจี่ นพ.1 มีความต้องการอากาศที่หนาวเย็นในการกระตุ้นการออกดอก มีขนาดผลใหญ่ จำนวน 32 – 36 ผล ต่อกิโลกรัม รสชาติหวานอมเปรี้ยว ไม่มีรสฝาด เนื้อหนา 0.98 เซนติเมตร ความหวาน 18 – 20 องศาบริกซ์ และให้ผล ผลิต 65 – 180 กิโลกรัม ต่อต้น เมื่ออายุ 8 -10 ปี ช่วยสร้างรายได้ให้กับเกษตรกรชาวสวนลิ้นจี่ปีละหลายหมื่นบาท ทำให้เกษตรกรให้ความสนใจที่จะปลูกลิ้นจี่พัน นพ.1 เพิ่มมากขึ้น และสำหรับเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการในครั้งนี้ จะได้รับถ่ายทอดองค์ความรู้ด้านการผลิตลิ้นจี่ นพ.1 ในทุกๆด้าน โดยแบ่งออกเป็น 2 รุ่นๆละ 150 ราย เพื่อให้เกษตรกรได้รับความรู้ในการผลิตลิ้นจี่ น.พ.1 ที่ถูกต้อง ส่งผลให้ได้ผลผลิตที่มีมาตรฐานมากยิ่งขึ้น เป็นที่ต้องการของตลาด และก้าวสู่ตลาดอาเซียนได้อย่างยั่งยืน
ภาพ/ข่าว : กลุ่มยุทธศาสตร์และสารสนเทศ
สำนักงานเกษตรจังหวัดนครพนม
เทพพนม/รายงาน