ข่าวใหม่อัพเดท » ศบภ.นครพนม บูรณาการหน่วยงานซ้อม 3 แผนป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยทางน้ำ

ศบภ.นครพนม บูรณาการหน่วยงานซ้อม 3 แผนป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยทางน้ำ

14 กรกฎาคม 2020
0

ศบภ.นครพนม บูรณการหน่วยงานซ้อม 3 แผนป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยทางน้ำ

วันที่ 14 กรกฎาคม 2563 ที่บริเวณห้วยฮ่องฮอ บ้านภูเขาทอง หมู่ที่ 3 ตำบลหนองญาติ อำเภอเมือง จังหวัดนครพนม พลตรี สามารถ จินตสมิทธิ์ ผู้บัญชาการมณฑลทหารบกที่ 210 เป็นประธานนำคณะหัวหน้าส่วนราชการ เจ้าหน้าที่ ตลอดจนประชาชนทั่วไปร่วมรับชมการสาธิตการฝึกการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจากอุทกภัย ปี 2563 ที่ศูนย์บัญชาการเหตุการณ์อุทกภัยจังหวัดนครพนม โดยสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดนครพนม ร่วมกับ ศูนย์บรรเทาสาธารณภัยมณฑลทหารบกที่ 210, ศูนย์บรรเทาสาธารณภัยหน่วยเรือรักษาความสงบเรียบร้อยตามลำแม่น้ำโขง, ศูนย์บรรเทาสาธารณภัยหน่วยพัฒนาการทหารเคลื่อนที่ นพค. 22 ตำรวจน้ำ, ตำรวจภูธรจังหวัดนครพนม, สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดนครพนม, หน่วยกู้ภัยสว่างนาวาธาตุพนม และหน่วยงานด้านสาธารณภัยต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง ร่วมกันฝึกเพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมในการบูรณาการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยจากอุทกภัยในสถานการณ์ต่าง ๆ

พลตรี สามารถ จินตสมิทธิ์ ผู้บัญชาการมณฑลทหารบกที่ 210 เปิดเผยว่า การฝึกซ้อมในครั้งนี้มีการจำลองสถานการณ์ออกเป็น 3 สถานการณ์ คือ

  • สถานการณ์ให้ความช่วยเหลือชาวบ้าน 2 คนที่ประสบเหตุเรือหาปลาพลิกคว่ำกลางลำน้ำ โดยคนที่ 1 สามารถช่วยเหลือตนเองได้ขณะที่อีกคนศีรษะโดนกระแทกและปวดที่บริเวณต้นคอ ซึ่งทั้ง 2 กรณีจะมีลำดับขั้นตอนวิธีการช่วยเหลือที่แตกต่างกันออกไปเพื่อให้เกิดความปลอดภัยสูงสุดต่อทั้งคู่
  • ตามมาด้วยสถานการณ์ที่ 2 คือการจำลองเหตุน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลากและพัดบ้านเรือนเสียหายมีประชาชนได้รับบาดเจ็บและติดอยู่ภายในบ้านหรือเกาะกลางน้ำที่เราสามารถนำเรือเข้าไปให้การช่วยเหลือได้
  • และสุดท้ายคือการจำลองสถานการณ์ให้ความช่วยเหลือประชาชนที่บาดเจ็บติดอยู่ภาย ในบ้านหรือเกาะกลางน้ำและเรือไม่สามารถเข้าถึง ซึ่งต้องปรับเปลี่ยนวิธีช่วยเหลือด้วยการลำเลียงคนเจ็บด้วยวิธีการชักรอกข้ามแม่น้ำแทน

โดยทั้ง 3 สถานการณ์เป็นการจำลองสถานการณ์ที่มีโอกาสเกิดขึ้นกับคนนครพนม ได้มาให้เจ้าหน้าที่แต่ละหน่วยได้ฝึกทักษะ ความสามารถ แลกเปลี่ยนประสบการณ์ แนวความคิด วิธีดำเนินการ ทั้งการประสานงาน การใช้เครื่องมือ อุปกรณ์ การจัดวางตำแหน่งหน้าที่ของแต่ละตัวบุคคล ตั้งแต่การรับเหตุ มาสู่การประสานงาน การเตรียมเครื่องมืออุกรณ์ การเข้าช่วยเหลือ การประสานงานระหว่างการปฏิบัติหน้าที่ และการส่งต่อผู้ประสบเหตุ ก่อนที่แต่ละหน่วยจะมาสรุปผลร่วมกันเพื่อหาจุดบกพร่อง และนำไปปรับปรุงแก้ไข โดยหลังจากนี้ทุกหน่วยที่ร่วมฝึกในครั้งนี้จะมีการบูรณาการณ์ให้ความช่วยเหลือประชาชนร่วมกัน โดยสามารถปรับเปลี่ยนยุทธวิธีว่าหน่วยไหนจะเป็นหน่วยหลัก หน่วยไหนจะเป็นหน่วยรองตามสถานการณ์ที่เกิดขึ้น


ภาพ/ข่าว อ๊อด ปชส. เทพพนม รายงาน

error: Content is protected !!