(วช.) จัดงาน “มหกรรมงานวิจัยแห่งชาติ 2563” รูปแบบใหม่ New Normal
วันที่ 16 กรกฎาคม 2563 เวลา 13.30 น. ณ โรงแรมเซ็นทาราแกรนด์ และบางกอกคอนเวนชันเซ็นเตอร์ : สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ร่วมกับหน่วยงานเครือข่ายในระบบวิจัยทั่วประเทศ แถลงข่าวการจัดงาน “มหกรรมงานวิจัยแห่งชาติ 2563 (Thailand Research Expo 2020)” ครั้งที่ 15
การจัดงานดังกล่าวกำหนดจัดขึ้นระหว่างวันที่ 2-6 สิงหาคม 2563 ณ โรงแรมเซ็นทาราแกรนด์ และบางกอกคอนเวนชันเซ็นเตอร์ เซ็นทรัลเวิลด์ ภายใต้แนวคิด “วิจัยเพื่อพัฒนาประเทศสู่ความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน” เพื่อเป็นการนำเสนอผลงานของหน่วยงานในเครือข่ายระบบวิจัยทั่วประเทศ และภาคส่วนที่เกี่ยวข้องในรูปแบบ New Normal และเนื่องจากเกิดสถานการณ์โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) จึงจำเป็นต้องมีมาตรการ ในการคัดกรองผู้เข้าร่วมงานและนิทรรศการอย่างเข้มงวดเพื่อให้เป็นไปตามข้อกำหนดของทางกระทรวงสาธารณสุข ซึ่งผู้เข้าร่วมงานสามารถลงทะเบียนร่วมงานได้ใน 2 รูปแบบ ได้แก่
- รูปแบบ Online คือการเข้าร่วมประชุมสัมมนาและชมนิทรรศการในรูปแบบออนไลน์ผ่านซ่องทางต่างๆ ที่ผู้จัดงานจัดทำขึ้นเพื่อรองรับการรับชมจากสถานที่ต่างๆ
- รูปแบบ Onsite คือ การเข้าร่วมสัมมนาและชมนิทรรศการ ณ สถานที่จัดงาน ผ่านทางเว็บไซต์ www.researchexpo.nrct.go.th และ www.nrct.go.th ได้ตั้งแต่บัดนี้ ถึงวันที่ 31 กรกฎาคม 2563 โดยไม่เสียค่าใช้จ่ายใดๆ ทั้งสิ้น
ทั้งนี้ ในการจัดงานมีความจำเป็นในการจำกัดจำนวนผู้เข้าร่วมกิจกรรมประเภท Onsite หากแต่ไม่จำกัดจำนวนประเภท Online และของดการลงทะเบียนหน้างาน และ Walk in ในทุกกรณี
ศาสตราจารย์ นายแพทย์สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล เลขาธิการคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ ทำหน้าที่ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ กล่าวว่า การจัดงาน “มหกรรมงานวิจัยแห่งชาติ 2563 (Thailand Research Expo 2020)” เป็นเวทีระดับชาติที่นำเสนอผลงานวิจัย เทคโนโลยี และนวัตกรรมที่มีคุณภาพ กว่า 300 ผลงาน โดยมุ่งเน้น เชื่อมโยงบูรณาการองค์ความรู้ไปสู่การใช้ประโยชน์ในการพัฒนาประเทศ ทั้งในมิติเชิงวิชาการ นโยบาย สังคม/ชุมชน และพาณิชย์/อุตสาหกรรม ซึ่งแบ่งออกเป็น 5 กลุ่มงานวิจัย ได้แก่ งานวิจัยและนวัตกรรมเพื่อพัฒนากำลังคนและสถาบันความรู้ งานวิจัยและนวัตกรรมเพื่อตอบโจทย์ท้าทายของสังคม งานวิจัยและนวัตกรรมเพื่อเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขัน งานวิจัยและนวัตกรรมเพื่อพัฒนาเชิงพื้นที่และลดความเหลื่อมล้ำ และงานวิจัยและนวัตกรรมเพื่อขับเคลื่อน BCG Economy Model
และในปีนี้ ได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินทรงเป็นประธานเปิดงาน ในวันอังคารที่ 4 สิงหาคม 2563 เวลา 10.00 น.
ทั้งนี้ภายในงานฯ ประกอบด้วย ภาคนิทรรศการ ได้แก่ นิทรรศการเฉลิมพระเกียรติ เพื่อน้อมรำลึกถึง พระมหากรุณาธิคุณ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมราถบพิตร รัชกาลที่ 9ผู้ทรงเป็น “พระบิดาแห่งการวิจัยไทย” และเฉลิม พระเกียรติพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 10 และพระบรมวงศานุวงศ์ ที่ทรงพระมหากรุณาธิคุณต่องานวิจัยไทย นิทรรศการนวัตกรรมตอบโจทย์โรคอุบัติใหม่ นิทรรศการชุมชนเข้มแข็งด้วยวิจัยและนวัตกรรม และนิทรรศการผลงานนวัตกรรมสายอุดมศึกษา ส่วนภาคการประชุมและสัมมนามีมากกว่า 100 เรื่อง
นอกจากนี้ ยังมีกิจกรรมอื่นๆ เช่น กิจกรรม Highlight Stage เพื่อนำเสนอผลงานวิจัยและสิ่งประดิษฐ์ที่มีความพร้อมใช้ประโยชน์ทั้งในระดับชุมชน/องค์กร/พาณิชย์ กิจกรรม Thailand Research Symposium 2020 เป็นการส่งเสริมและสนับสนุนนักวิจัยในสาขาวิชาการต่างๆ ได้มีโอกาสนำเสนอผลงานวิจัยที่มีคุณภาพต่อผู้สนใจและผู้ใช้ประโยชน์ การแลกเปลี่ยนองค์ความรู้และพัฒนาศักยภาพของการเรียนรู้ในศาสตร์สาขาวิชาการในประเด็นสำคัญอื่น ๆ กิจกรรมประกวดผลงานนวัตกรรมสายอุดมศึกษา 2563 การมอบรางวัล Thailand Research Expo 2020 Award ให้แก่หน่วยงานที่นำเสนอนิทรรศการผลงานวิจัยภายในงานได้อย่างมีความโดดเด่นและมีคุณภาพ กิจกรรม Research Clinic เป็นการให้คำปรึกษาในเรื่องของการวิจัย และการจัดแสดงและจำหน่ายผลิตภัณฑ์จากภาคเอกชนและภูมิปัญญาท้องถิ่น ซึ่งเป็นพื้นที่เพื่อการแสดงและจำหน่ายผลิตภัณฑ์ที่ได้จากโครงการในพระราชดำริ ผลงานวิจัยและภูมิปัญญาท้องถิ่น
โดย MASCOT ในปีนี้ ได้แก่ “น้องแกล้งดิน” ซึ่งได้แนวความคิดจากการที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ทรงพระราชทานพระราชดำรัสหลักปรัชญา “เศรษฐกิจพอเพียง” และ “ทฤษฎีแกล้งดิน” ซึ่งเป็นโครงการในพระราชดำริ นอกจากนี้ ยังได้เปิดตัว “ทูตวิจัย” คนแรก ของประเทศไทย ประจำปี 2563 “อั้ม อธิชาติ ชุมนานนท์” อีกด้วย
สุรเชษฐ ศิลานนท์ รายงาน