ข่าวใหม่อัพเดท » นครพนม เกษตรกร ยุค 4.0 ยึดหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ปลูกอินทผาลัมรายแรกของจังหวัด โกยเงินเป๋าตุง !!

นครพนม เกษตรกร ยุค 4.0 ยึดหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ปลูกอินทผาลัมรายแรกของจังหวัด โกยเงินเป๋าตุง !!

17 กรกฎาคม 2020
0

นครพนม – เกษตรกร ยุค 4.0 ยึดหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ปลูกอินทผาลัมรายแรกของจังหวัด โกยเงินเป๋าตุง!!

วันที่ 17 กรกฎาคม 2563 ผู้สื่อข่าวลงพื้นที่ไร่สวนหนองบัว บ้านตาล ต.นาหว้า อ.นาหว้า จ.นครพนม ซึ่งเป็นแปลงปลูกต้นอินทผาลัมแห่งแรกของจังหวัดนครพนม มีสองสามีภรรยา คือ นายอิทธิเดช ทาหลง อายุ 63 ปี และ นางรำไพ ทาหลง อายุ 64 ปี บ้านเลขที่ 196 หมู่ 9 บ้านตาล ต.นาหว้า เป็นเจ้าของสวน โดยสองตายายเปิดเผยที่มาที่ไปก่อนจะกลายมาเป็นเกษตรกรยุค 4.0 ว่า เดิมมีอาชีพเป็นชาวนาปลูกข้าวอย่างเดียว ภายหลังมีหนี้สะสมจากการทำนาข้าวแล้วขายขาดทุน จึงมานั่งคิดว่าหากขืนทำนาข้าวเต็มพื้นที่แบบนี้ หาโอกาสร่ำรวยคงยาก ตนจึงได้นำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ตามแนวพระราชดำริในพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ซึ่งเป็นแนวคิดที่ตั้งอยู่บนรากฐานของวัฒนธรรมไทย เป็นแนวทางการพัฒนาที่ตั้งบนพื้นฐานของทางสายกลาง และความไม่ประมาท คำนึงถึงความพอประมาณ ความมีเหตุผล การสร้างภูมิคุ้มกันในตัวเองฯลฯ

หลังปรึกษากับครอบครัวแล้ว จึงค้นหาพืชเศรษฐกิจที่มีตลาดรองรับอย่างไม่อั๋น ส่วนนาข้าวก็ยังทำเหมือนเดิมแต่ลดขนาดลง เพื่อแบ่งพื้นที่บางส่วนไว้ปลูกพืชตัวใหม่ มาลงตัวที่ต้นอินทผาลัมซึ่งเป็นหนึ่งในผลไม้เก่าแก่ที่สุดในโลก และมีอายุยืนถึง 80 ปี โดยมีบันทึกหลักฐานทางประวัติศาสตร์กว่า 5,000 ปี และมีบันทึกเกี่ยวข้องกับศาสนาต่างๆ หลายศาสนา โดยเฉพาะศาสนาอิสลาม นอกจากนี้ ยังสามารถเจริญเติบโตในบริเวณที่มีอากาศร้อนหรือแห้งแล้งได้เป็นอย่างดี และมีหลากหลายสายพันธุ์แตกต่างกันในแต่ละท้องถิ่น พร้อมทั้งมีความสำคัญต่อการดำรงชีวิตประจำวันของมนุษย์ เพราะเป็นตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจและวัฒนธรรมในหลายภูมิภาค ตลอดจนมีคุณค่าทางโภชนาการ

ซึ่งในจังหวัดนครพนมยังไม่มีเกษตรกรรายไหนริเริ่มปลูก จึงศึกษาค้นคว้าวิธีการปลูกและการดูแล ซึ่งหากปลูกด้วยการเพาะเมล็ดต้นกล้า ผลผลิตจะไม่โต แถมมีรสชาติฝาดผสม วีธีการปลูกที่ดีที่สุดต้องเพาะด้วยเนื้อเยื่อจากห้องแลปเท่านั้น พบว่าการปลูกอินทผาลัมพันธุ์บาฮี จะให้ผลผลิตดีกว่าสายพันธุ์อื่นๆ ตนจำเป็นต้องสั่งนำเข้าพันธุ์บาฮีจากประเทศอังกฤษ และสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ในราคา 1,500-2,000 บาท/ต้น

นายอิทธิเดชเล่าต่อว่า ลงทุนปีแรก พ.ศ.2558 ประมาณ 500,000 บาท แบ่งเนื้อที่การปลูกจำนวน 4 ไร่ เว้นระยะห่าง 7×8 เมตร หนึ่งไร่จะปลูกอินทผาลัมได้ราว 25 ต้น และต้องหมั่นดูแลเอาใจใส่ โดยคำนึงถึงความปลอดภัยของผู้บริโภคเป็นหลัก จึงใช้ปุ๋ยเกษตรอินทรีย์ หรือปุ๋ยคอก ตนได้ไปซื้อมูลไก่จากฟาร์มมาหมักน้ำทิ้งไว้ 1 เดือน แล้วเอาน้ำขี้ไก่ไปราดรดแทนการฉีดยาฆ่าแมลง พออินทผาลัมออกช่อและติดลูกเล็กๆ นำเอาเกสรตัวผู้ผสมกับแป้งมันใช้แปรงทาสีนุ่มๆจุ่มเกสรตัวผู้แล้วก็นำไปป้ายตามช่อที่มีลูกเล็กๆหรือใช้หลอดดูดพ่นใส่ในช่อที่ติดลูกเล็กๆ

นายอิทธิเดชย้ำว่าต้องมีเกสรจากตัวผู้อีกถึงจะติดลูกและดก ถ้าไม่มีเกสรตัวผู้จะไม่ค่อยติดลูก พอโตผลจะร่วงหล่นได้ง่าย ซึ่งเกสรตัวผู้สั่งซื้ออยู่ที่กิโลกรัมประมาณ 40,000-50,000 บาท(1 กก.ผสมแป้งมันพ่นได้ 4 ไร่) ประมาณปีที่สามก็สามารถเก็บผลผลิตขายได้ ในราคากิโลกรัมละ 400-600 บาท ส่วนอายุของต้นอินทผาลัมอยู่ได้ประมาณ 80 ปี แต่ก็ขึ้นอยู่กับการรักษา ให้ผลผลิตได้เรื่อยๆ หรือเมื่อมีลูกหล่นร่วงก็นำมาทำน้ำอินทผาลัม โดยไม่ต้องผสมน้ำตาล มีกลิ่นหอมรสหวานอร่อยมาก ผู้สนใจอินทผาลัมปลอดสารพิษสวนหนองบัว แห่งแรกของจังหวัดนครพนม สามารถสอบถามเส้นทางได้ที่เบอร์ 084-3913933 บ้านเลขที่ 196 หมู่ 9 บ้านตาล ต.นาหว้า อ.นาหว้า จ.นครพนม

อินทผาลัมเป็นผลไม้ที่มีรสหวาน และอุดมไปด้วยสารอาหารที่จำเป็น และสำคัญหลายชนิด ไม่ว่าจะเป็น วิตามิน แร่ธาตุ และไฟเบอร์ ใยอาหาร และมีแร่ธาตุที่มีฤทธิ์ช่วยต้านอนุมูลอิสระอีกด้วย คุณสมบัติถึงแม้ผลไม้ชนิดนี้จะมีขนาดเล็ก โดยหนึ่งผลจะหนักประมาณ 7.5 กรัม และเนื้ออินทผาลัม 100 กรัม จะให้พลังงานมากถึง 314 แคลอรี่ และยังให้แร่ธาตุมากถึง 10 ชนิด เช่น ทองแดง โพแทสเซียม แมกนีเซียม ซีลีเนียม ฯลฯ ในปริมาณมากกว่า 15 % ของปริมาณที่แนะนำในแต่ละวัน รวมทั้งสารโพลีฟีนอล (Polyphenol) ที่มีส่วนช่วยป้องกันปัญหาสุขภาพ ที่เกิดจากการเสื่อมของร่างกาย เช่น ป้องกันเซลล์ และเนื้อเยื่อต่าง ๆ ไม่ให้ถูกทำลายจากสารอนุมูลอิสระ อีกทั้งยังอุดมด้วย วิตามินซี วิตามินบี วิตามินเค ธาตุเหล็ก และเส้นใยอาหารเพียบ นอกจากนี้ ยังพบสารอาหารจำพวกน้ำมันโวลาไทล์ ไฟเบอร์ และเบต้าแคโรทีน ที่ช่วยกระตุ้นระบบขับถ่าย และช่วยต้านอนุมูลอิสระในร่างกาย ป้องกันการเกิดมะเร็งได้เป็นอย่างดี


เทพพนม รายงาน

error: Content is protected !!