ข่าวใหม่อัพเดท » DSI บุกค้นผู้ประกอบการ ที่นำสารพาราควอตผสมในผลิตภัณฑ์ชีวภาพอินทรีย์ หลอกขายให้ประชาชน มูลค่าความเสียหายมากกว่า 20 ล้านบาท

DSI บุกค้นผู้ประกอบการ ที่นำสารพาราควอตผสมในผลิตภัณฑ์ชีวภาพอินทรีย์ หลอกขายให้ประชาชน มูลค่าความเสียหายมากกว่า 20 ล้านบาท

23 กรกฎาคม 2020
0

DSI บุกค้นผู้ประกอบการที่นำสารพาราควอตผสมในผลิตภัณฑ์ชีวภาพอินทรีย์
หลอกขายให้ประชาชน มูลค่าความเสียหายมากกว่า 20 ล้านบาท

วันที่ 23 กรกฎาคม 2563​ : พันตำรวจโท กรวัชร์ ปานประภากร อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ มอบหมายให้ พันตำรวจโท ปกรณ์ สุชีวกุล รองอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ, นายธานินทร์ เปรมปรีดิ์ ผู้อำนวยการกองคดีคุ้มครองผู้บริโภค และพันตำรวจโท กฤช อาจสามารถ ผู้อำนวยการศูนย์ปฏิบัติการคดีพิเศษเขตพื้นที่ 5 (เชียงใหม่) พร้อมด้วย นายภัสชญภณ หมื่นแจ้ง ผู้อำนวยการสำนักควบคุมพืชและวัสดุการเกษตร กรมวิชาการเกษตร

ร่วมกันแถลงข่าวกรณีกรมสอบสวนคดีพิเศษ โดย กองคดีคุ้มครองผู้บริโภค ศูนย์ปฏิบัติการคดีพิเศษเขตพื้นที่ 5 (เชียงใหม่) และศูนย์ปฏิบัติการคดีพิเศษเขตพื้นที่ 6 (พิษณุโลก) บูรณาการร่วมกับ กรมวิชาการเกษตร และตำรวจภูธรจังหวัดเชียงใหม่ เข้าตรวจค้นผู้ประกอบการที่ผลิต​ และจำหน่ายวัตถุอันตราย โดยนำสารพาราควอตหรือสารไกลโพเซลผสมในผลิตภัณฑ์ชีวภาพอินทรีย์หลอกขายให้ประชาชน มูลค่าความเสียหายมากกว่า 20 ล้านบาท

กรมสอบสวนคดีพิเศษ โดยกองคดีคุ้มครองผู้บริโภค เป็นหน่วยงานที่รับผิดชอบในการป้อง กันและปราบปรามตามพระราชบัญญัติวัตถุอันตราย พ.ศ.2535 ได้ดำเนินการสืบสวน สอบ สวน กรณีการซื้อขายผลิตภัณฑ์สารชีวภาพอินทรีย์สำหรับกำจัดวัชพืช ผ่านทางสื่อโซเซียลมีเดีย โดยได้มีการบูรณาการร่วมกับกรมวิชาการเกษตร รวมทั้งได้ทำการล่อซื้อผลิตภัณฑ์จากผู้ประกอบการตามที่ได้มีการลงขายในสื่อโซเซียลมีเดีย และได้ส่งตัวอย่างผลิตภัณฑ์ไปตรวจกับกรมวิชาการเกษตร พบว่า ผลิตภัณฑ์สารชีวภัณฑ์กำจัดวัชพืชดังกล่าว มีส่วนผสมของสารเคมีพาราควอต

ซึ่งปัจจุบันสารดังกล่าวเป็นสารที่ห้ามมิให้มีการผลิต การนำเข้า การส่งออก หรือมีไว้ในครอบครอง ตามประกาศกระทรวงอุตสาหกรรม ประกอบกับ เมื่อทำการตรวจสอบข้อมูลการขึ้นทะเบียนกับกรมวิชาการเกษตร ปรากฏว่า ไม่พบข้อมูลผลิตภัณฑ์ขึ้นทะเบียนไว้ ซึ่งลักษณะการกระทำดังกล่าวเข้าข่ายมีความผิดฐาน ผลิต หรือมีไว้ในครอบครองซึ่งวัตถุอันตรายชนิดที่ 4 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 10 ปี หรือปรับไม่เกิน 1,000,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ (มาตรา 43 ประกอบ มาตรา 47)

ต่อมา เมื่อวันที่ 22 กรกฎาคม 2563 เวลา 09.30 น. กรมสอบสวนคดีพิเศษ ได้บูรณาการร่วมกับ กรมวิชาการเกษตร และสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เข้าตรวจค้นผู้ประกอบการที่ผลิตและจำหน่ายวัตถุอันตราย โดยนำสารพาราควอตผสมในผลิตภัณฑ์ชีวภาพอินทรีย์ หลอกขายให้ประชาชน พร้อมกันจำนวน 8 จุด ได้แก่

1.ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร จำนวน 1 จุด ได้แก่ บ้านเลขที่ 104/504 หมู่บ้านรีเจ้นท์โฮม 15 ถนนแจ้งวัฒนะ แขวงอนุสาวรีย์ เขตบางเขน กรุงเทพมหานคร

2.จังหวัดอุตรดิตถ์ จำนวน 3 จุด ได้แก่
2.1 บ้านเลขที่ 244 หมู่ 4 ตำบลวังกะพี้ อำเภอเมือง จังหวัดอุตรดิตถ์
2.2 บ้านเลขที่ 70/58 หมู่ 8 ตำบลวังป่าเซ่า อำเภอเมืองอุตรดิตถ์ จังหวัดอุตรดิตถ์
2.3 บ้านเลขที่ 70/22 และอาคารห้องแถวชั้นเดียวไม่ปรากฎเลขที่ อีก 4 ห้องลักษณะติดต่อเชื่อมกันกับอาคารเลขที่ดังกล่าว (รวมทั้งหมด 5 ห้อง) หมู่ 8 ตำบลวังป่าเซ่า อำเภอเมืองอุตรดิตถ์ จังหวัดอุตรดิตถ์

3.จังหวัดเชียงใหม่ จำนวน 4 จุด ได้แก่
3.1 บ้านเลขที่ 320 หมู่ 9 ตำบลสันทรายหลวง อำเภอสันทราย จังหวัดเชียงใหม่
3.2 บ้านเลขที่ 135/53 ตำบลป่าแดด อำเภอเมืองเชียงใหม่ จังหวัดเชียงใหม่
3.3 บ้านเลขที่ 28/8 ซอยมะกอกน้ำ ถนนคลองชลประทาน ตำบลช้างเผือก อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่
3.4 บ้านเลขที่ 69/5 หมู่ 5 ถนนโชตนา ซอย 28 ตำบลดอนแก้ว อำเภอแม่ริม จังหวัดเชียงใหม่

จากการเข้าตรวจค้น สามารถยึดผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ และเอกสารที่เกี่ยวข้องได้เป็นจำนวนมาก รวมทั้งได้อายัดอุปกรณ์การผลิตไว้เพื่อทำการตรวจสอบ โดยกรมสอบสวนคดีพิเศษจะได้เร่งดำเนินคดีและสรุปสำนวนเพื่อส่งพนักงานอัยการฟ้องคดีต่อไป

กรมสอบสวนคดีพิเศษ ดำเนินการเชิงรุกในการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมพิเศษที่ส่งผลกระทบต่อประชาชนและผู้บริโภค โดยใช้มาตรการทางกฎหมายและการบังคับใช้กฎหมายอย่างเด็ดขาด โดยการกระทำความผิดดังกล่าว ได้ส่งผละกระทบต่อประชาชนและสิ่งแวดล้อม ดังนี้

  1. ด้านสุขภาพร่างกาย กรณีนี้เป็นการขายในลักษณะหลอกลวงว่า ผลิตภัณฑ์ชีวภาพอินทรีย์ สามารถใช้กำจัดวัชพืชได้ โดยไม่มีสารที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพผสมอยู่ ทำให้ประชาชนหลงเชื่อและสั่งซื้อมาใช้เป็นจำนวนมาก โดยประชาชนได้นำไปใช้โดยคิดว่าผลิตภัณฑ์ดังกล่าวไม่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ แต่แท้จริงปรากฏว่ามีสารพาราควอตผสมอยู่ ซึ่งปัจจุบันคณะกรรมการวัตถุอันตรายได้มีการยกเลิก 2 สาร ได้แก่ สารพาราควอต และคลอร์ไพริฟอส ส่วนไกลโพเซต จำกัดการใช้ เนื่องจากประชาชนได้รับอันตรายจากการใช้สารดังกล่าว โดยมีประชาชนได้รับผลกระทบมากกว่า 5,000 รายต่อปี และเสียชีวิตมากกว่า 500 รายต่อปี รวมทั้งรัฐต้องเสียค่ารักษามากกว่า 20 ล้านบาทต่อปี
  2. ด้านสิ่งแวดล้อม การใช้สารดังกล่าวอาจมีผลกระทบต่อสภาพแวดล้อม โดยหากสารดังกล่าวได้ตกค้างไปยังแม่น้ำ ลำคลอง รวมทั้งพืชผักต่าง ๆ จะทำให้ประชาชนได้รับอันตราย
  3. ด้านความเสียหาย กรณีนี้ลักษณะการกระทำความผิดเป็นการขายโดยผ่านทางสื่อโซเซียลมีเดีย และสื่อออนไลน์ต่าง ๆ ซึ่งมีการสร้างเครือข่าย จนทำให้ประชาชนหลงเชื่อสั่งซื้อผลิตภัณฑ์ไปใช้เป็นจำนวนมาก ซึ่งจากการประมาณการน่าเชื่อว่ามีมูลค่าความเสียหายมากกว่า 20 ล้านบาท

กรมสอบสวนคดีพิเศษ จึงขอแจ้งเตือนประชาชนให้ระมัดระวังสินค้าที่ไม่ได้มาตรฐาน ไม่มีคุณภาพ และมีแหล่งจำหน่ายที่ไม่น่าเชื่อถือ ทั้งนี้ หากประชาชนมีข้อมูลหรือเบาะแสเกี่ยวกับการกระทำความผิดดังกล่าว สามารถแจ้งมายังกรมสอบสวนคดีพิเศษผ่านทางเว็บไซต์ www.dsi.go.th หรือโทรสายด่วน DSI Call Center 1202 (โทร.ฟรีทั่วประเทศ) โดยกรมสอบสวนคดีพิเศษจะเก็บรักษาข้อมูลผู้แจ้งเบาะแสไว้เป็นความลับ


สุรเชษฐ​ ศิลา​นนท์​ รายงาน​

error: Content is protected !!