ข่าวใหม่อัพเดท » กรมชลฯ เผยกางแผนแนวทางพัฒนาอ่างเก็บน้ำเหมืองตะกั่ว จังหวัดพัทลุง​ ครอบคลุม 10 หมู่บ้าน

กรมชลฯ เผยกางแผนแนวทางพัฒนาอ่างเก็บน้ำเหมืองตะกั่ว จังหวัดพัทลุง​ ครอบคลุม 10 หมู่บ้าน

30 กรกฎาคม 2020
0

กรมชลฯ เผยกางแผนแนวทางพัฒนาอ่างเก็บน้ำเหมืองตะกั่ว จังหวัดพัทลุง​ ครอบคลุม 10 หมู่บ้าน

วันที่​ 30​ ก.ค.63​ : กรมชลประทาน เปิดเผยแนวทางพัฒนาอ่างเก็บน้ำเหมืองตะกั่ว จังหวัดพัทลุง ชี้ใช้วิธีก่อสร้างเขื่อนดิน “ก่อสร้างอ่างเก็บน้ำ ปรับปรุงฝายเดิม พร้อมระบบส่งน้ำ” เก็บกักน้ำได้กว่า 10.14 ล้านลบ.ม. พื้นที่รับประโยชน์กว่า 16,475 ไร่ ครอบคลุม 10 หมู่บ้าน เล็งปักธงหัวงานอ่างเก็บน้ำ​ ตำบลหนองธง อำเภอป่าบอน​ จังหวัด​พัทลุง​

นายเฉลิมเกียรติ คงวิเชียรวัฒน์ รองอธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า เพื่อเป็นการเพิ่มศักยภาพในการเก็บกักน้ำของโครงการอ่างเก็บน้ำเหมืองตะกั่ว จังหวัดพัทลุง จึงได้มีการประชุมร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมถึงผู้ที่ได้รับผลกระทบ เพื่อสรุปทางเลือกในการพัฒนาโครงการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมอ่างเก็บน้ำเหมืองตะกั่ว อันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดพัทลุง ให้มีการก่อสร้างที่เหมาะสม​ และมีประสิทธิภาพในการกักเก็บน้ำ ให้ประชาชนในพื้นที่ได้รับประโยชน์อย่างทั่วถึง โดยที่ประชุมมีมติเลือกแนวทางพัฒนาด้วยการก่อสร้างอ่างเก็บน้ำ ปรับปรุงฝายเดิม พร้อมระบบส่งน้ำ

ซึ่งก่อนที่จะได้ข้อสรุปในการเลือกโครงการดังกล่าว กรมชลประทานได้เสนอทางเลือกในการพัฒนาที่เหมาะสมที่สุด โดยแบ่งเป็น 3 ทางเลือก ได้แก่

  1. การพัฒนาโครงการโดยการปรับปรุงฝายเดิมและก่อสร้างฝายทดน้ำเพิ่มเติม
  2. การพัฒนาโครงการโดยโครงการประเภทสระเก็บน้ำพร้อมปรับปรุงฝายเดิม และ
  3. การพัฒนาโครงการโดยการก่อสร้างอ่างเก็บน้ำ ปรับปรุงฝายเดิม พร้อมระบบส่งน้ำ

สำหรับทางเลือกที่ 1 การพัฒนาโครงการโดยการปรับปรุงฝายเดิมและก่อสร้างฝายทดน้ำเพิ่มเติม จะต้องปรับปรุงฝายเดิมและก่อสร้างฝายทดน้ำเพิ่มเติมตามลำน้ำรวม 6 แห่ง ซึ่งมีความกว้าง เฉลี่ย 15 เมตร ลึกประมาณ 3 เมตร รูปแบบตัวฝายเป็นฝายคอนกรีต สูง 2 เมตร จะมีความจุหน้าฝายทดน้ำรวมทั้งสิ้น 223,500 ลบ.ม. แบ่งเป็น ปรับปรุงฝายทดน้ำคลองท่ายูง 1 แห่ง ความจุหน้าฝานทดน้ำ 14,625 ลบ.ม., ปรับปรุงฝายทดน้ำคลองบ้านใหม่ 1 แห่ง ความจุหน้าฝายทดน้ำ 42,750 ลบ.ม. และการก่อสร้างฝายทดน้ำแห่งใหม่ 4 แห่ง ได้แก่ ฝายทดน้ำบ้านเหมืองตะกั่ว ความจุหน้าฝายทดน้ำ 21,000 ลบ.ม., ฝายทดน้ำบ้านเกาะยูง ความจุหน้าฝายทดน้ำ 21,375 ลบ.ม., ฝายทดน้ำบ้านใหม่ ความจุหน้าฝายทดน้ำ 33,750 ลบ.ม.​ และฝายทดน้ำบ้านสายคลอง ความจุหน้าฝายทดน้ำ 90,000 ลบ.ม.

โดยโครงการดังกล่าวจะทำให้พื้นที่ได้รับประโยชน์ 6,188 ไร่ คิดเป็นพื้นที่ชลประทาน 3,800 ไร่ ในฤดูฝนและฤดูแล้ง ประมาณ 900 ไร่ อย่างไรก็ดี ยังไม่เพียงพอต่อความต้องการ สำหรับแหล่งน้ำที่จะต้องใช้ในการอุปโภค-บริโภค

ทางเลือกที่ 2 เป็นทางเลือกการพัฒนาโครงการโดยโครงการประเภทสระเก็บน้ำ พร้อมปรับปรุงฝายเดิม ซึ่งจะเป็นการปรับปรุงฝายที่มีอยู่เดิมให้มีประสิทธิภาพสูงขึ้น และเสนอแนะให้ปรับปรุงฝายทดน้ำเดิม จำนวน 2 แห่ง คือ ฝายทดน้ำคลองท่ายูง และฝายทดน้ำคลองบ้านใหม่ รวมกับศักยภาพสระเก็บน้ำ 8 แห่ง จะสามารถเก็บกักน้ำรวมทั้งสิ้นได้ประมาณ 0.45 ล้านลบ.ม. โดยสามารถส่งน้ำให้แก่พื้นที่รับประโยชน์กว่า 6,172 ไร่ คิดเป็นพื้นที่ชลประทาน 4,629 ไร่ และฤดูแล้ง ประมาณ 1,200 ไร่ ซึ่งถือว่าโครงการดังกล่าว ยังไม่เพียงพอต่อความต้องการ สำหรับแหล่งน้ำที่ต้องใช้ในการอุปโภค-บริโภค

นายเฉลิมเกียรติฯ กล่าวอีกว่า สำหรับทางเลือกที่ 3 เป็นทางเลือกสุดท้าย ซึ่งจะใช้การก่อสร้างอ่างเก็บน้ำ ปรับปรุงฝายเดิม พร้อมระบบส่งน้ำ โดยการก่อสร้างอ่างเก็บน้ำ ที่ตั้งหัวงานของโครงการตั้งอยู่ที่ บ้านเหมืองตะกั่ว หมู่ที่ 1 ตำบลหนองธง อำเภอป่าบอน จังหวัดพัทลุง จะมีพื้นที่รับประโยชน์กว่า 16,475 ไร่ คิดเป็นพื้นที่ชลประทานฤดูฝน 11,600 ไร่ และฤดูแล้ง ประมาณ 2,600 ไร่ พร้อมกันนี้ จะปรับปรังฝายทดน้ำคลองท่ายูง 1 แห่ง และฝายทดน้ำคลองบ้านใหม่อีก 1 แห่ง ซึ่งจะสามารถทำให้มีแหล่งน้ำเพียงพอ สำหรับการอุปโภค-บริโภคแก่ตำบลหนองธง และบริเวณใกล้เคียงด้วย

“ทางเลือกที่ 3 เป็นทางเลือกที่ดีที่สุด เพราะสามารถเก็บกักน้ำได้กว่า 10.14 ล้านลบ.ม. แตกต่างกับทางเลือกที่ 1 ที่สามารถเก็บกักน้ำได้เพียง 0.22 ล้านลบ.ม. และทางเลือกที่ 2 เก็บน้ำได้เพียง 0.45 ล้นลบ.ม. พร้อมกันนี้ ยังสามารถส่งน้ำให้แก่พื้นที่รับประโยชน์กว่า 16,475 ไร่ และมีความมั่งคงยั่งยืนที่สุดด้วย และในที่ประชุมเห็นด้วยกับทางเลือกที่ 3 มากที่สุด” นายเฉลิมเกียรติฯ กล่าว

นอกจากนี้ ที่ประชุมยังได้สรุปเลือกตำแหน่งที่ตั้งหัวงานอ่างเก็บน้ำคือ บ้านเหมืองตะกั่ว หมู่ที่ 1 ตำบลหนองธง อำเภอป่าบอน จังหวัดพัทลุง ซึ่งจะสามารถเก็บกักน้ำที่ระดับเก็บกักปกติ +110.00 ม.รทก. ปริมาตรกักเก็บปกติ 10.14 ล้าน ลบ.ม. โดยจะก่อสร้างในรูปแบบของเขื่อนดิน เพราะจากการพิจารณาแล้วมีความเหมาะสมมากที่สุด เมื่อเทียบกับการก่อสร้างแบบเขื่อนหินทิ้งแกนดินเหนียว และเขื่อนคอนกรีตบดอัด​(RCC) เนื่องจากการสร้างเขื่อนดินมีวัสดุที่ใช้ในการก่อสร้างทั้งชนิดและปริมาณจากบ่อยืมดินที่มีการสำรวจไว้มีความเหมาะสมกับเขื่อนดิน อีกทั้งมีราคาถูก ก่อสร้างง่าย การบำรุงรักษาง่าย และยังมีค่าใช้จ่ายในการบำรุงรักษาต่ำ

ทั้งนี้ กรมชลประทานจะใช้ระบบส่งน้ำชนิดระบบท่อส่งน้ำซึ่งเหมาะสมกับสภาพภูมิประเทศบริเวณพื้นที่ซึ่งจะได้รับประโยชน์ที่มีลักษณะเป็นลูกคลื่นสลับลูกเนินสลับที่ราบ มีความยาวท่อส่งน้ำรวมประมาณ 37.20 โดยท่อส่งน้ำจะจะวางไปตามแนวถนนเดิม และจะไม่กระทบกับที่ดินของประชาชน โดยจะครอบคลุมพื้นที่รับประโยชน์กว่า 16,475 ไร่ คลอบคลุม 9 หมู่บ้าน ในตำบลหนองธง และ 1 หมู่บ้านในตำบลคลองใหญ่ คิดเป็นพื้นที่ชลประทานในฤดูฝน 11,600 ไร่ ฤดูแล้ง 2,600 ไร่


สุรเชษฐ​ ศิลา​นนท์​ รายงาน

error: Content is protected !!