พิสูจน์! “ความเร็ว” เฟอร์ราี่
ความเร็วของรถเฟอร์รารีที่เกิดอุบัติเหตุจะเท่ากับ 76 กม./ชม. หรือมากกว่า ดูวิธีคำนวณง่ายๆ เพื่อช่วยกันค้นหาความจริงให้ปรากฏ โดยอ่านบทความสั้นๆ นี้ พร้อมดูรูปประกอบแล้วจะเข้าใจได้ไม่ยาก
สูตรการหาความเร็วมีสูตรเดียวคือ ความเร็ว = ระยะทาง/เวลา
ผม (ดร.สามารถ ราชพลสิทธิ์) คำนวณความเร็วได้ 126 กม./ชม. แต่ รศ.ดร.สายประสิทธิ์ เกิดนิยม อาจารย์ประจำสาขาวิชาวิศวกรรมการประเมินและความปลอดภัยยานยนต์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ คำนวณได้ 76 กม./ชม. โดยผมใช้วิธีหาระยะทางและเวลาเหมือนกับวิธีของ รศ.ดร.สายประสิทธิ์ แต่คำนวณความเร็วได้ไม่เท่ากัน เนื่องจากหาระยะทางได้ไม่เท่ากันนั่นเอง ส่วน ดร.สธน วิจารณ์วรรณลักษณ์ อาจารย์ประจำภาควิชาฟิสิกส์ คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย คำนวณได้ 177 กม./ชม. โดยใช้วิธีหาระยะทาง
ต่างจากของผมและของ รศ.ดร.สายประสิทธิ์ จึงไม่ขอนำมาเปรียบเทียบ
1. การคำนวณของ ดร.สามารถ ราชพลสิทธิ์
1.1 หาระยะทาง
ดร.สามารถ หาระยะทางที่รถวิ่งได้ โดยเริ่มวัดตั้งแต่จุดที่มุมขวาหน้าของเฟอร์รารีวิ่งแตะเส้นอ้างอิงคือต้นไม้ (ในรูปประกอบคือจุด A) ไปจนถึงจุดที่มุมซ้ายหลังวิ่งผ่านเส้นอ้างอิง (ในรูปประกอบคือจุด B) ได้ระยะทาง 8.42 เมตร (ในรูปประกอบคือ D1)
1.2 หาเวลา
ดร.สามารถ หาเวลาโดยการนับเฟรมในวิดีโอจากกล้องวงจรปิดแล้วเปลี่ยนเป็นเวลา โดยเริ่มนับตั้งแต่จุดที่มุมขวาหน้าของเฟอร์รารีวิ่งแตะเส้นอ้างอิงคือต้นไม้ (ในรูปประกอบคือจุด A) ไปจนถึงจุดที่มุมซ้ายหลังวิ่งผ่านเส้นอ้างอิง (ในรูปประกอบคือจุด B) ได้ 6 เฟรม แล้วเปลี่ยนจำนวนเฟรมเป็นระยะเวลา ซึ่งได้เท่ากับ 0.24 วินาที (ระยะเวลา = จำนวนเฟรมที่นับได้/จำนวนเฟรมใน 1 วินาที หรือ 6/25 = 0.24 วินาที)
1.3 หาความเร็ว
ความเร็ว = ระยะทาง/เวลา หรือ 8.42/0.24 = 35.08 เมตร/วินาที หรือเท่ากับ 126 กม./ชม.
2. การคำนวณของ รศ.ดร.สายประสิทธิ์ เกิดนิยม
2.1 หาระยะทาง
รศ.ดร.สายประสิทธิ์ หาระยะทางโดยใช้ความยาวตามเส้นทแยงของรถได้ระยะทาง 5.281 เมตร (ในรูปประกอบคือ D2) ซึ่งไม่ถูกต้อง เพราะไม่ใช่ระยะทางที่รถวิ่งได้ (ในรูปประกอบคือ D1)
2.2 หาเวลา
รศ.ดร.สายประสิทธิ์ หาเวลาโดยการนับเฟรมในวิดีโอจากกล้องวงจรปิดแล้วเปลี่ยนเป็นเวลา โดยเริ่มนับตั้งแต่จุดที่มุมขวาหน้าของเฟอร์รารีวิ่งแตะเส้นอ้างอิงคือต้นไม้ (ในรูปประกอบคือจุด A) ไปจนถึงจุดที่มุมซ้ายหลังวิ่งผ่านเส้นอ้างอิง (ในรูปประกอบคือจุด B) ได้ 6 เฟรม และ 6.5 เฟรม หรือเฉลี่ยเท่ากับ 6.25 เฟรม แล้วเปลี่ยนจำนวนเฟรมเป็นระยะเวลา ซึ่งได้เท่ากับ 0.25 วินาที (ระยะเวลา = จำนวนเฟรมที่นับได้/จำนวนเฟรมใน 1 วินาที หรือ 6.25/25 = 0.25 วินาที)
2.3 หาความเร็ว
ความเร็ว = ระยะทาง/เวลา หรือ 5.281/0.25 = 21.12 เมตร/วินาที หรือเท่ากับ 76 กม./ชม. เหตุที่คำนวณได้ความเร็วต่ำเป็นเพราะใช้ระยะทางสั้นกว่าความเป็นจริง
3. สรุป
ผมยืนยันว่าในการคำนวณหาความเร็วจะต้องใช้ระยะทางที่รถวิ่งได้คือ 8.42 เมตร ไม่ใช่ความยาวตามเส้นทแยงของรถคือ 5.281 เมตร ดังนั้น ความเร็วที่ผมคำนวณได้เท่ากับ 126 กม./ชม. จะใกล้เคียงกับความเป็นจริง
ดร.สามารถ ราชพลสิทธิ์
รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์