ข่าวใหม่อัพเดท » จังหวัดสระบุรีประกอบพิธีวางพวงมาลาถวายราชสักการะและถวายราชสดุดีเทิดพระเกียรติสมเด็จพระนารายณ์มหาราช เนื่องในวันคล้ายวันสวรรคต

จังหวัดสระบุรีประกอบพิธีวางพวงมาลาถวายราชสักการะและถวายราชสดุดีเทิดพระเกียรติสมเด็จพระนารายณ์มหาราช เนื่องในวันคล้ายวันสวรรคต

12 กรกฎาคม 2019
0

วันนี้ (11 กรกฎาคม 2562) เวลา 08.29 น. ที่หอประชุมศูนย์ราชการจังหวัดสระบุรี นายแมนรัตน์ รัตนสุคนธ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดสระบุรีพร้อมด้วยหัวหน้าส่วนงานราชการ ร่วมกันวางพวงมาลาถวายราชสักการะพระบรมสาทิสลักษณ์สมเด็จพระนารายณ์มหาราช พร้อมกล่าวสดุดีเทิดพระเกียรติเพื่อน้อมรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณ เนื่องในวันสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ซึ่งมติคณะรัฐมนตรี ได้มีมติเมื่อวันที่ 5 ตุลาคม 2553 เห็นชอบให้วันสมเด็จพระนารายณ์มหาราช วันที่ 11 กรกฎาคม ของทุกปี เป็นวันรัฐพิธี โดยไม่ถือเป็นวันหยุดราชการ
สมเด็จพระนารายณ์มหาราชเป็นพระราชโอรสในพระเจ้าปราสาททอง และพระนางศิริธิดา ต่อมาภายหลังถูกยกเป็นพระราชเทวี เสด็จพระบรมราชสมภพ เมื่อวันจันทร์ เดือนยี่ ปีวอก พ.ศ. 2175 ในพระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยาเล่าว่าเมื่อแรกเสด็จพระบรมราชสมภพนั้น พระญาติเห็นพระโอรสมีสี่กร พระราชบิดาจึงโปรดเกล้าฯ พระราชทานนามว่า “พระนารายณ์ราชกุมาร” สมเด็จพระนารายณ์มหาราชเสด็จขึ้นครองราชสมบัติ เมื่อเวลาสองนาฬิกา วันพฤหัสบดี แรม 2 ค่ำ เดือน 12 จุลศักราช 1018 ปีวอก (ตรงกับวันที่ 15 ตุลาคม พ.ศ. 2199) มีพระนามจารึกในพระสุพรรณบัฏว่า สมเด็จพระรามาธิบดีที่ 3 เป็นพระมหากษัตริย์ลำดับที่ 27 แห่งกรุงศรีอยุธยา ขณะทรงมีพระชนมายุ 25 พรรษา หลังจากประทับในกรุงศรีอยุธยาได้ 10 ปี พระองค์จึงโปรดเกล้าฯ ให้สร้างเมืองลพบุรีขึ้นเป็นราชธานีแห่งที่ 2 เมื่อปี พ.ศ. 2209 และเสด็จไปประทับที่ลพบุรีทุกๆ ปี ครั้งละเป็นเวลานานหลายเดือน พระมหากรุณาธิคุณของสมเด็จพระนารายณ์มหาราช มิได้มีแต่เพียงการสร้างลพบุรีเป็นราชธานีที่สองเท่านั้น พระองค์ทรงเป็นกษัตริย์นักรบผู้กล้าหาญ ทรงปกครองอาณาประชาราษฎร์ ด้วยทศพิธราชธรรม โดยเฉพาะอย่างยิ่ง พระราชกรณียกิจที่เกี่ยวกับการเจริญสัมพันธไมตรีกับต่างประเทศ ทรงเป็นพระมหากษัตริย์เพียงพระองค์เดียวในบูรพาประเทศ ที่เป็นมิตรและสนิทสนมกับชาวยุโรป ที่ต่างมุ่งหวังครอบครองอาณาจักรสยาม และด้วยพระปรีชาญาณ ได้ทรงตัดสินพระทัย เลือกเจริญสัมพันธไมตรีอย่างแน่นแฟ้น กับประเทศฝรั่งเศสเพื่อถ่วงดุลอำนาจกับประเทศฮอลันดา แม้ว่าการคบค้าสมาคมกับฝรั่งเศส เปรียบเสมือนหนีเสือปะจระเข้ ก็ทรงเลือกเพราะได้ทรงตระหนักดีว่า พระเจ้าหลุยส์ที่ 14 ทรงมีเจตนาชักชวนให้เข้ารีต ดังนั้น ด้วยพระวิจารณญาณอันสูงส่ง จึงได้ดำเนินการทางการทูต ด้วยความละเอียด สุขุม รอบคอบ ทรงจัดให้มีการแลกเปลี่ยนทูต ทรงขอเวลาศึกษาไตร่ตรองหลักคำสอนของคริสต์ศาสนา ให้ถ่องแท้เสียก่อน นับได้ว่าทรงบรรลุจุดสุดยอดของการทูตไทย ในสมัยกรุงศรีอยุธยา ผลแห่งการกระชับสัมพันธไมตรี กับประเทศต่าง ๆ ในยุโรป เป็นผลให้เกิดการถ่ายเทอารยธรรม ยังความเจริญในด้านการศึกษา วิทยาศาสตร์ การค้า และสถาปัตยกรรมแก่สยามประเทศ
นอกจากนี้ พระองค์ยังทรงมีพระปรีชาในด้านศิลปะวรรณคดีเป็นอย่างยิ่ง ได้ทรงพระราชนิพนธ์วรรณคดีไทยไว้หลายเรื่อง ได้แก่ พระราชนิพนธ์โคลงเรื่อง ทศรถสอนพระราม พาลีสอนน้อง ราชสวัสดิ์ และสมุทรโฆษคำฉันท์ เป็นต้น
พระองค์เสด็จสวรรคตเมื่อ 11 กรกฎาคม พ.ศ. 2231 ณ พระที่นั่งสุทธาสวรรย์ พระนารายณ์ราชนิเวศน์ จังหวัดลพบุรี รวมครองราชสมบัติเป็นเวลา 32 ปี มีพระชนมายุ 56 พรรษา

/ดำรงค์ขื่นจินดารายงาน

error: Content is protected !!