ข่าวใหม่อัพเดท » แขวงทางหลวงจังหวัดจันทบุรีเร่งติดตั้ง กำแพงคอนกรีตหุ้มยางพารา และ เสาหลักนำทางผลิตจากยางพารา ตามนโยบายส่งเสริมการใช้ยางพาราของภาครัฐ

แขวงทางหลวงจังหวัดจันทบุรีเร่งติดตั้ง กำแพงคอนกรีตหุ้มยางพารา และ เสาหลักนำทางผลิตจากยางพารา ตามนโยบายส่งเสริมการใช้ยางพาราของภาครัฐ

20 สิงหาคม 2020
0

แขวงทางหลวงจังหวัดจันทบุรีเร่งปรับปรุง ติดตั้ง กำแพงคอนกรีตหุ้มยางพารา และ เสาหลักนำทางผลิตจากยางพารา ตามนโยบายส่งเสริมการใช้ยางพาราของภาครัฐ การนำยางพารามาใช้เพื่อปรับปรุงเพิ่มความปลอดภัยทางถนน เตรียมพร้อมเปิดโครงการนำร่องโดยนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน วันอังคารที่ 25 สิงหาคม นี้

นายพงษ์พัฒน์ วงศ์ตระกูล รองผู้ว่าราชการจังหวัด รักษาราชการแทน ผู้ว่าราชการจังหวัดจันทบุรี เปิดเผยว่าในโอกาสประชุมคณะรัฐมนตรีสัญจรอย่างเป็นทางการนอกสถานที่ ที่จังหวัดระยองในระหว่างวันที่ 24 – 25 สิงหาคม โอกาสนี้ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้กำหนดเดินทางมาตรวจราชการและเปิดโครงการนำร่องการนำยางพารามาใช้เพื่อปรับปรุงเพิ่มความปลอดภัยทางถนน ที่ ทางหลวงหมายเลข ๓๒๔๙ ตอนควบคุม ๐๑๐๐ ตอนเขาไร่ยา – แพร่งขาหยั่ง อ.เมือง จ.จันทบุรี หรือ ถนนบำราศนราดูร จันทบุรี – เขาคิชฌกูฏ ช่วงก่อนถึงโค้งวัดชำโสม ในวันอังคารที่ 25 สิงหาคม 2563

ซึ่งเป็นโครงการตามนโยบายการส่งเสริมการใช้ยางพาราในภาครัฐ ที่กระทรวงคมนาคมและกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้ทำข้อตกลงร่วมกันเพื่อผลักดันให้สถาบันเกษตรกรเพิ่มมูลค่าผลผลิต โดยการนำยางพารามาแปรรูปเป็นวัสดุด้านการจราจรและเพิ่มความปลอดภัยทางถนน ได้แก่ แผ่นยางธรรมชาติครอบกำแพงคอนกรีต (Rubber Fender Barrier : RFB) และหลักนำทางจากยางธรรมชาติ (Rubber Guide Post : RGP) สำหรับนำไปใช้ในกรมทางหลวงและกรมทางหลวงชนบท ระยะเวลาดำเนินการตั้งแต่ปี 2563-2565

ซึ่งกระทรวงคมนาคมได้ร่วมกับมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ศึกษาวิจัยเพื่อพัฒนาต้นแบบอุปกรณ์ทางด้านการจราจรและความปลอดภัยทางท้องถนนที่ผลิตจากยางพารา และได้มีการทดสอบการชนและการกระแทกจากสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทยแล้วว่าวัสดุที่ผลิตจากยางพาราธรรมชาติช่วยลดความรุนแรงของอุบัติเหตุได้อย่างมีประสิทธิภาพ

สำหรับความร่วมมือดังกล่าวนอกจากจะช่วยลดความสูญเสีย สร้างความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินบนท้องถนนที่ไม่อาจประเมินค่าได้แล้ว ยังเป็นการยกระดับคุณภาพชีวิตของเกษตรกรชาวสวนยางพาราด้วย เนื่องจากโครงการนี้ได้กำหนดให้หน่วยงานของกระทรวงคมนาคมรับซื้อผลิตภัณฑ์ยางพาราจากสถาบันเกษตรกรโดยตรง เป็นการช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจฐานราก สร้างรายได้ที่มั่นคงให้กับเกษตรกร ซึ่งปัจจุบันสหกรณ์ที่ดำเนินธุรกิจยางพารามีจำนวน 661 แห่ง ในพื้นที่ 56 จังหวัดมีสมาชิกสหกรณ์ที่ประกอบอาชีพทำสวนยางพารา 355,181 ราย มีสมาชิกในครัวเรือนที่ได้รับผลประโยชน์ จำนวน 1.42 ล้านราย พื้นที่ 3.4 ล้านไร่ ปีการผลิต 2562/63 สหกรณ์รวบรวมน้ำยางได้ประมาณ 475,058 ตัน มูลค่า 16,998 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 57 จากผลผลิตทั้งหมดของสมาชิก

ทั้งนี้ ในการส่งเสริมสถาบันเกษตรกรให้มีศักยภาพในการผลิตเสาหลักนำทางยางพาราและแผ่นยางธรรมชาติครอบกำแพงคอนกรีต ทางกระทรวงเกษตรและสหกรณ์จะช่วยเหลือในด้านเครื่องมือ อุปกรณ์ การถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิต การลงทุนเพิ่มกำลังการผลิต และการวางแผนการผลิตวัสดุด้านการจราจรทั้งสองชนิดให้ได้ตามปริมาณและมาตรฐานที่กระทรวงคมนาคมกำหนด“ปี 2563 – 2565 กระทรวงคมนาคมได้กำหนดแผนความต้องการใช้ยางพาราตามมติคณะรัฐมนตรี โดยแบ่งเป็น เสาหลักนำทางยางพารา 1,063,651 ต้น และแผ่นยางธรรมชาติครอบกำแพงคอนกรีต ความยาวรวม 12,282 กิโลเมตรและในปี 2563 นี้ กระทรวงคมนาคมต้องการเสาหลักนำทางยางพาราชุดแรกจำนวน 289,635 ต้น ซึ่งคาดว่าจะช่วยกระตุ้น การใช้ยางพาราเพิ่มขึ้น 34,481 ตัน และส่งผลให้เกษตรกรชาวสวนยางพารามีรายได้เพิ่มขึ้น


ภาพ/ข่าว จรัล บรรยงคเสนา  ผู้สื่อข่าว จ.จันทบุรี
นาย  พรเทพ เขม้นเขตวิทย์ รายงานจากศูนย์ข่าวภาคตะวันออก

error: Content is protected !!