“รมว.ศธ.เยี่ยมชมโครงการ “BCC SPACE PROGRAM : การส่งดาวเทียม BCCSAT-1 เข้าสู่อวกาศ” โรงเรียกรุงเทพคริส เตียนวิทยาลัย!!
วันที่ 31สิงหาคม 2563 นายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (รมว.ศธ.) ได้เยี่ยมชมโครงการ “BCC SPACE PROGRAM : การส่งดาวเทียม BCCSAT-1 เข้าสู่อวกาศ” ณ โรงเรียนกรุงเทพ คริสเตียน โดยมี นายอรรถพล ตรึกตรอง เลขาธิการคณะกรรม การส่งเสริมการศึกษาเอกชน (เลขาธิการ กช.) ศาสตราจารย์พิเศษ เรวัต ฉ่ำเฉลิม ประธานคณะกรรมการควบคุมโรงเรียนกรุงเทพคริสเตียนวิทยาลัย ดร. พงศธร สายสุจริต ผู้อำนวยการ (รักษาการ) สถาบันเทคโนโลยีอวกาศนานาชาติเพื่อการพัฒนาเศรษฐกิจ (สทอศ.) มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ คณะผู้บริหารโรงเรียนกรุงเทพคริสเตียนวิทยาลัย คณะครู ผู้ปกครอง และนักเรียนโรงเรียนกรุงเทพคริส เตียนวิทยาลัย ร่วมให้การต้อนรับ
นายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ รมว.ศธ. ได้กล่าวชื่นชมยินดีในความสำเร็จด้านวิชาการทั้งหลายของโรงเรียนกรุงเทพคริสเตียนวิทยาลัย โดยเฉพาะโครงการ BCC Space Program ที่จัดขึ้นเพื่อกระตุ้นให้นักเรียนมีความสนใจด้านเทคโนโลยีอวกาศ และสามารถสร้างสรรค์ผลงานที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีนี้เพื่อการพัฒนาทักษะทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีต่อไป จนนักเรียนสามารถสร้างดาวเทียมภายใต้ชื่อ BCCSAT-1 ได้สำเร็จ และกำลังจะส่งดาวเทียมขึ้นโคจรรอบโลกในอวกาศ ซึ่งนับเป็นดาวเทียมผลงานนักเรียนระดับมัธยมศึกษาดวงแรกของประเทศไทย และของภูมิภาคอาเซียนด้วย ถือเป็นก้าวสำคัญอย่างยิ่งในวงการการศึกษาของประเทศไทย ที่ได้แสดงให้เห็นเป็นเชิงประจักษ์แล้วว่า “นักเรียนไทยมีความรู้ความสามารถ ไม่แพ้นักเรียนชาติอื่นๆ” สามารถคิด และลงมือปฏิบัติ โดยการประยุกต์ใช้ความรู้ที่มีมาบูรณาการจากหลายศาสตร์เข้าด้วยกัน เพื่อสร้างสรรค์ผลงานที่ไม่ได้มีประโยชน์ต่อตัวนักเรียนเพียงเท่านั้น แต่เป็นคุณูปการต่อการพัฒนาสังคม และประเทศชาติ ซึ่งประโยชน์ที่จะได้รับจากดวงเทียมดวงนี้ ไม่ได้มีอยู่เพียงสิ่งที่นักเรียนนำเสนอเท่านั้น ความทุ่มเทบากบั่น มานะอุตสาหะ ที่นักเรียนได้แสดงให้เห็นผ่านผลงานชิ้นเอกนี้ อีกทั้งความร่วมมือร่วมใจของคณาจารย์ ผู้ทรงคุณวุฒิ และกำลังใจจากผู้ปกครอง รวมไปถึงการสนับสนุนของโรงเรียน เป็นตัวอย่างซึ่งชี้ให้เห็นถึงพลวัตอันสำคัญ ที่ใช้ในการขับเคลื่อนการศึกษาให้พัฒนาต่อยอดไปอีกขั้นหนึ่ง และด้วยปัจจัยเหล่านี้เอง จะเป็นส่วนช่วยที่ทำให้นักเรียนมีต้นทุนที่ดี สำหรับการเติบโตเป็นผู้ใหญ่ ให้เป็นผู้ถึงพร้อมด้วยศักยภาพในการนำพาประเทศให้เจริญก้าวหน้าทัดเทียมนานาอารยะประเทศ
ขอขอบคุณโรงเรียนกรุงเทพคริส เตียนวิทยาลัยที่เล็งเห็นถึงการพัฒนาศักยภาพนักเรียน และสนับสนุนนักเรียนในทุกทางที่นักเรียนปรารถนา และขอบคุณมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ สำหรับการสนับสนุนด้านวิชาการให้กับนักเรียน ขอบคุณภาคเอกชนสำหรับการสนับสนุนต่างๆ ขอบคุณผู้ปกครองที่เชื่อมั่นในศักยภาพของนักเรียนและพร้อมสนับสนุนพวกเขาตลอดเวลาและขอบคุณนักเรียนที่ทำให้พวกเราได้รู้ว่าศักยภาพของเด็กไทยนั้นหากได้รับการพัฒนาในทางที่ถูกที่ควรแล้ว ย่อมจะไม่แพ้ชาติใดในโลก ขอชื่นชมอีกครั้งหนึ่งว่าโรงเรียนกรุงเทพคริสเตียนวิทยาลัยเป็นหนึ่งในต้นแบบที่สำคัญของการพัฒนาการศึกษาของชาติ และหวังเป็นอย่างยิ่งว่าจะได้เห็นผลงานทางวิชาการที่ดีขึ้นเรื่อยๆ ต่อไปในอนาคต รมว.ศธ.กล่าวในที่สุด
ด้าน ดร.อรรถพล ตรึกตรอง เลขาธิการ กช. กล่าวเพิ่มเติมว่า โครงการ BCC Space Program ปัจจุบันมีนักเรียนในโครงการ 36 คน คือ นักเรียนระดับชั้นมัธยม ศึกษาปีที่ 6 จำนวน 23 คน และนักเรียนระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 จำนวน 13 คน โดยโครงการมีที่มาจากการที่โรงเรียนกรุงเทพ คริสเตียนวิทยาลัย ได้ให้ความสำคัญในการจัดการศึกษาและมีแนวคิดที่จะพัฒนานักเรียนในโรงเรียนให้เป็นผู้ริเริ่มสร้างดาวเทียมแห่งแรกในประเทศ ไทย เพื่อให้จุดประกายและสร้างความโดดเด่นแก่นักเรียน ทำให้เกิดอัตลักษณ์ในองค์กรทางศึกษาที่มีภาพลักษณ์ของการพัฒนาอย่างไม่หยุดยั้ง และการก้าวกระโดดผ่านขีดจำกัดความสามารถของการจำกัดการเรียนรู้ของนักเรียนได้ จนเป็นที่ยอมรับขององค์กรระดับชาติและระดับโลกต่อไป โรงเรียนจึงได้มุ่งเน้นการพัฒนาเพื่อผลิตผู้สร้างและผู้นำทางเทคโนโลยีอวกาศ แต่โรงเรียนไม่สามารถดำเนินการเองเพียงลำพังได้ จึงได้ทำความร่วมมือเป็นกรณีพิเศษกับบริษัท ASTROBERRY โดย “ดาวเทียมที่ส่งไปถือเป็นสมบัติและลิขสิทธิ์ทางปัญญาของโรงเรียนกรุงเทพคริสเตียนวิทยาลัย” และโรงเรียนได้มีการทำสัญญาความร่วมมือ (MOU) กับมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ และมหาวิทยาลัยโตเกียวในการพัฒนาพื้นฐานองค์ความรู้ด้านเทคโนโลยีอวกาศให้แก่นักเรียนผ่านการเรียนรู้ทางภาคทฤษฎีและภาคปฏิบัติ เพื่อให้นักเรียนได้มีโอกาสพัฒนาองค์ความรู้ทางด้านอวกาศและดาวเทียม
ซึ่งการพัฒนาดาวเทียมขนาดเล็กนับเป็นการบูรณาการและการเชื่อมโยงความรู้ทางด้านอิเล็กทรอนิกส์ คณิตศาสตร์ ฟิสิกส์ เคมี และชีววิทยา และเสริมสร้างความเข้าใจให้แก่นักเรียนผ่านการนำหลักการที่ได้เรียนในห้องเรียนมาใช้ร่วมกับการค้นคว้าผ่านสื่อออนไลน์แล้วนำไปปฏิบัติจริง ภายใต้การควบคุมอย่างใกล้ชิดของผู้ทรงคุณวุฒิทางด้านการพัฒนาดาวเทียมและเทคโนโลยีอวกาศ โรงเรียนจึงเปิดสาขาการเรียนการสอนเกี่ยวกับการพัฒนาดาวเทียม ชื่อว่า Space Engineer Program หรือ วิศวกรรมการบินและอวกาศ ซึ่งได้เริ่มต้นจากการเพิ่มพูนรายวิชาและเวลาเรียน และเปิดวิชาเลือกเสรีที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาดาวเทียมขึ้น ซึ่งการพัฒนาดาวเทียมและเทคโนโลยีอวกาศเป็นหนึ่งในทิศทางของการพัฒนาความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีและสิ่งแวดล้อมของโลกที่สำคัญ ทั้งยังสอดคล้องกับปรัชญาโรงเรียนที่กล่าวว่า “…ให้พัฒนาทั้งด้านร่างกาย สติปัญญา อารมณ์ สังคม และจิตวิญญาณ ให้เป็นพลเมืองดี มีประสิทธิภาพในการดำรงชีวิตอย่างสันติสุขในสังคม” ก่อเกิด “School of Happiness : กรุงเทพคริสเตียนวิทยาลัย โรงเรียนแห่งความสุข”