เมื่อเวลา 13.00 น. วันที่ 31 ส.ค. 2563 พล.ต.ต.ณัฐศักดิ์ เชาวนาศัย ผบก.ปคบ. พ.ต.อ.เชษฐ์พันธ์ กิติเจริญศักดิ์ ผกก.1 บก.ปคบ. ร่วมแถลงข่าว จับกุมผู้ต้องหาคนไทยร่วมกับชาวต่างชาติหลอกขายหน้ากากอนามัย มูลค่าความเสียหายกว่า 57 ล้านบาท ผู้ต้องหาประกอบด้วย
- นางสาวธันวรส วรสาร อายุ 24 ปี
- นายเฟอร์ดินาน อายุ 34 ปี สัญชาติโกตดิวัวร์(ไอเวอรี่โคสต์)
- นายซูฮาดู ทราโอเร่ หรือ ร็อคกี้ อายุ 35 ปี สัญชาติโกตดิวัวร์(ไอเวอรี่โคสต์)
- ส่วนนายมีโพนี่ ทูเร่ สัญชาติโกตดิวัวร์(ไอเวอรี่โคสต์) ยังหลบหนีอยู่ต่างประเทศ
ทั้งหมดเป็นผู้ต้องหา ร่วมกันฉ้อโกงประชาชน , ร่วมกันโดยทุจริตหรือหลอกลวงนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์, ร่วมกันฟอกเงินและสมคบกันฟอกเงิน
จากการสืบสวนของเจ้าหน้าที่ ทราบว่า กลุ่มผู้ต้องหา ได้เปิดบริษัท เพื่อ หลอกลวงผู้เสียหายให้ซื้อถุงมือยางลาเท็กซ์ ถุงมือยางไนไตรล์ ผ่านเว็บไซต์ grandig ที่ประชาชนทั่วไปสามารถเข้าถึงได้ ผู้เสียหาย ซึ่งเป็นชาวเยอรมัน หลงเชื่อ โอนเงินจากเมืองดูไบ ประเทศสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ จำนวนกว่า 1.8 ล้าน ดอลลาร์สหรัฐ หรือคิดเป็นเงินไทย กว่า 57 ล้านบาท หลังจากโอนเงินแล้ว ผู้เสียหาย กลับไม่ได้รับถุงมือยาง ตามที่สั่งซื้อไว้และไม่สามารถติดต่อตัวแทนบริษัทดังกล่าวได้ทำให้ได้รับความเสียหาย
จากแนวทางการสืบสวนของเจ้าหน้าที่ทราบว่า นายมีโพนี่ ซึ่งอยู่ในต่างประเทศและเป็นเพื่อนชายคนสนิทของ นางสาวธันวรส สั่งให้นางสาวธันวรส เปิดบริษัทและบัญชีเงินฝากดังกล่าว เมื่อผู้เสียหายโอนเงินเข้าบัญชีแล้ว นางสาวธันวรส จะเป็นผู้ไปเบิกถอนเงินสดจำนวนกว่า 57 ล้านบาท แล้วนำไปมอบให้กับ นายเฟอร์ดินาน อายุ 34 ปีสัญชาติแคเมอรูน และอีกส่วนหนึ่งจะนำไปมอบให้กับนายร็อคกี้ อายุ 34 ปี สัญชาติโกตดิวัวร์(ไอเวอรี่โคสต์) ตามสถานที่ต่างๆ ที่นัดกันไว้ ซึ่งบุคคลทั้งสองเป็นเพื่อนกับนายมีโพนี่ ก็จะโอนเงินต่อไปให้กับนายมีโพนี่ ซึ่งอยู่ต่างประเทศผ่านระบบ Western Union niphon ได้รับส่วนแบ่ง 1,600,000 บาท นายร็อคกี้ ได้รับส่วนแบ่ง 7,0000 บาท ส่วนนางสาวธันวรส ได้รับส่วนแบ่ง 400,000 บาท พนักงานสอบสวน จึงรวบรวมพยานหลักฐานและยื่นคำร้องขอหมายจับบุคคลดังกล่าวต่อศาลอาญาและ ศาลอาญาอนุมัติหมายจับบุคคลทั้ง 4 ไว้ ก่อนตำรวจจับกุมได้ 3 คน ส่วนอีกคนอยู่ระหว่างการหลบหนี
ทั้งนี้ จากการสืบสวนขยายผลพบว่าบริษัทของแก๊งผู้ต้องหาเปิดได้มาประมาณ 2 เดือน และเป็นช่วงสถานการณ์โควิด -19 แพร่ระบาด ผู้เสียหาย ซึ่งเป็นชาวเยอรมัน ติดต่อผ่านเว็บไซต์ เพื่อสั่งซื้อถุงมือยาง เพราะหน้า เว็บไซต์ มีข้อความภาษาอังกฤษ และรูปภาพ สร้างความน่าเชื่อถือ ก่อนจะมีการเจรจาพูดคุยและโอนเงินให้กับแก๊งผู้ต้องหารวมทั้งสิ้นกว่า 57 ล้านบาท
ตำรวจ ปคบ. ฝากประชาสัมพันธ์ถึงประชาชนในการเลือกซื้อสินค้าผ่านระบบออนไลน์ให้ตรวจสอบผู้จำหน่ายสินค้าว่า มีการจดทะเบียนบริษัทถูกต้องหรือไม่ มีสถานที่ตั้งสำนักงาน หรือมีการประกอบกิจการจริงหรือไม่ เพื่อจะได้ไม่ต้องตกเป็นเหยื่อของมิจฉาชีพ กลุ่มต่างๆ
โยธิน พรหมแตง รายงาน