ข่าวใหม่อัพเดท » “พิชัย บุณยเกียรติ” เห็นด้วย กกต.ส่งศาลรัฐธรรมนูญชี้ขาดยุติข้อโต้เถียง-รัฐธรรมนูญเขียนชัด “เทพไท”หลุด ส.ส. ตั้งแต่วันที่ศาลตัดสิน

“พิชัย บุณยเกียรติ” เห็นด้วย กกต.ส่งศาลรัฐธรรมนูญชี้ขาดยุติข้อโต้เถียง-รัฐธรรมนูญเขียนชัด “เทพไท”หลุด ส.ส. ตั้งแต่วันที่ศาลตัดสิน

3 กันยายน 2020
0

“พิชัย บุณยเกียรติ” เห็นด้วย กกต.ส่งศาลรัฐธรรมนูญชี้ขาดยุติข้อโต้เถียง-รัฐธรรมนูญเขียนชัด “เทพไท”หลุด ส.ส. ตั้งแต่วันที่ศาลตัดสิน

“พิชัย บุณยเกียรติ” ชี้นิสัยนักการเมืองไม่ยอมรับอะไรง่ายๆ ทั้งๆ ที่รัฐธรรมนูญเขียนชัด “เทพไท” หลุด ส.ส. เห็นด้วย กกต. ส่งศาลรัฐธรรมนูญชี้ขาดยุติข้อโต้เถียง-ย้ำ หลังศาลตัดสินจำคุก 2 ปี ตัดสิทธิ์ทางการเมือง 10 ปี ตนเป็นคนเสนอส่งศาลรัฐธรรมนูญตีความ
จากกรณีที่นายพิชัย บุณยเกียรติ อดีตส.ว. และอดีตนายก อบจ.นครศรีธรรมราช ผู้เป็นโจทก์ยื่นฟ้องนายมาโนช เสนพงศ์ อดีตนายก อบจ.นครศรีธรรมราช และนายเทพไท เสนพงศ์ ส.ส.เขต 3 และอดีตกรรมการบริหารพรรคประชาธิปัตย์ คนสนิทนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกรัมนตรีและอดีตหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ฐานทุจริตการเลือกตั้งนายก อบจ. นครศรี ธรรมราช เมื่อปี 2557 ซึ่งเป็นการยื่นฟ้องส่วนตัวหลังจากต่อสู้คดีไปตามกระบวนการยาวนาน 6 ปี แต่สำนวนคดีไปติดอยู่ที่อัยการสูงสุด จนต้องตัดสินใจใช้สิทธิ์ส่วนตัวในฐานะโจทก์ร่วมยื่นฟ้อง 2 พี่น้อง “เสนพงศ์” เป็นจำเลยที่ 1 และ 2 ฐานร่วมกันกระทำความผิดโดยการจัดเลี้ยง ฯ และศาลจังหวัดนครศรีธารรมราช พิพากษาตัดสินเมื่อวันที่ 28 ส.ค. 2563 ให้จำคุกนายมาโนช และนายเทพไท คนละ 3 ปี แต่ศาลลดโทษให้ 1 ใน 3 เหลือจำคุก 2 ปีโดยไม่รอลงอาญาและตัดสิทธิ์ทางการเมือง 10 ปี จนมีการวิพากวิจารณ์กว้างขวางเกี่ยวกับสถานภาพการเป็น ส.ส.ของนายเทพไท และล่าสุด กกต.มีมติเสนอส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความว่านายเทพไท เสนพงศ์ พ้นจากการเป็น ส.ส.หรือไม่

(2 ก.ย.) นายพิชัย บุณยเกียรติ กล่าวว่า หลังจากศาลตัดสินจำคุกนายมาโนช และนายเทพไท เสนพงศ์ ผมเป็นคนให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนโดยเสนอความเห็นไว้ว่ากรณีของคุณเทพไท สมควรที่จะให้ศาลรัฐธรรมนูญได้วินิจฉัย เพราะผมเห็นว่ามีเหตุผล 2 ประการ คือ 1.เนื่องจากรัฐธรรมนูญฉบับนี้เป็นรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่เพิ่งมีผลบังคับใช้มาได้ไม่นาน จึงยังไม่มีแนวคำวินิจฉัยของศาลเป็นกรณีตัวอย่างมาก่อน จึงสมควรให้ศาลรัฐธรรมนูญได้วินิจฉัยไว้เป็นกรณีตัวอย่าง 2. ผมมั่นใจว่านิสัยของนักการเมืองจะไม่ยอมรับอะไรง่าย ๆ ทั้ง ๆ ที่เรื่องนี้ทุกอย่างยุติลงแล้วตั้งแต่วันที่ศาลจังหวัดนครศรีธรรมราชได้มีคำพิพากษา ซึ่งถือว่าคุณสมบัติของคุณเทพไท สิ้นสุดลงทันทีโดยไม่ต้องมีข้อสงสัยผมจึงเห็นว่า เพื่อให้สิ้นกระแสความและโต้เถียงที่อาจจะมีขึ้น จึงสมควรที่ กกต. จะนำเรื่องนี้ไปให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยเพื่อเป็นกรณีตัวอย่างต่อไป

“ผมเห็นว่า ข้อถกเถียงกรณีเกี่ยวกับคดีของคุณเทพไท คงเป็นปัญหาเฉพาะข้อกฎหมายที่ไม่มีอะไรซับซ้อน ผมเชื่อว่า หลังจากศาลรัฐธรรมนูญได้รับคำร้องจาก กกต แล้ว ศาลไม่จำต้องแสวงหาข้อเท็จจริงใดๆจากผู้ร้องและผู้ถูกร้องอีก ศาลรัฐธรรมนูญจะใช้เวลาไม่เกิน 15 วัน ศาลก็จะมีคำวินิจฉัยได้ทันที สิ่งที่ศาลรัฐธรรมนูญจะวินิจฉัยก็คงจะมีถ้อยคำที่เป็นปัญหาและเป็นกรณีที่คุณเทพไทกล่าวอ้าง ซึ่งผมก็ได้ฟังมาจากนักข่าวมาอีกที คือประเด็นเกี่ยวกับถ้อยคำในมาตรา 96 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยที่บัญญัติว่า “ บุคคลผู้มีลักษณะดังต่อไปนี้ในวันเลือกตั้ง เป็นบุคคลต้องห้ามมิให้ใช้สิทธิเลือกตั้ง…”

นายพิชัย กล่าวอีกว่า ถ้อยคำที่นำมาต่อสู้กันคือถ้อยคำว่า …ในวันเลือกตั้ง…” ผมจึงขออธิบายว่า ทำไมรัฐธรรมนูญถึงใช้คำนี้ ก็เพราะเหตุว่า เขาต้องการตรวจสอบสิทธิของผู้สมัครรับเลือกตั้งเสียตั้งแต่วันแรกที่เราจะเข้ามาสู่การเมืองในการเลือกตั้งว่า ถ้าเราจะลงสมัครรับเลือกตั้ง เราจะต้องไม่มีลักษณะดังต่อไปนี้ คือข้อกำหนดตามที่กำหนดไว้ในอนุมาตรา (1) ถึง (4) ของมาตรา 96 เช่น ห้ามภิกษุ สามเณร ห้ามผู้ถูกคุมขังโดยหมายของศาล ห้ามผู้ถูกเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งเป็นต้น “นั้นหมายความว่า ถ้าเรามีลักษณะอย่างนั้นตามที่กฎหมายห้ามไว้ เราก็จะไม่มีสิทธิเข้ามาในสนามการเมืองหรือการเลือกตั้งตั้งแต่วันแรกเลย เพราะกฎหมายต้องการคัดกรองบุคคลว่าให้บุคคลประเภทใดเข้าสู่การเมืองได้บ้างหรือห้ามบุคคลบ้างประเภทไม่ให้เข้าสู่การเมืองโดยการเลือกตั้ง”

อดีตนายก อบจ.นครศรีธรรมราช กล่าวต่อไปอีกว่า แต่ไม่ได้หมายความว่าเมื่อเราผ่านเข้ามาในการเมืองได้แล้ว เราจะกระทำในสิ่งที่มาตรา 96 ห้ามไว้แล้วไม่ผิดรัฐธรรมนูญ ผมขอยกตัวอย่าง เช่น ในขณะที่เราสมัครรับเลือกตั้ง เราไม่ได้เป็นภิกษุ สามเณร เราจึงสามารถลงสมัครรับเลือกตั้งได้ แต่ถ้าต่อมาเราได้รับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแล้วเราไปอุปสมบทเป็นภิกษุ ดังนี้ ถึงแม้ไนวันเลือกตั้งเราไม่เป็นภิกษุ เราจึงลงสมัครรับเลือกตั้งได้ แต่เมื่อต่อมาเราอุปสมบทในภายหลังจากวันเลือกตั้งแล้ว เราก็จะขาดจากการเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรทันทีนับแต่วันอุปสมบท เพราะรัฐธรรมนูญได้ห้ามไม่ให้ภิกษุเข้าทำงานการเมืองโดยการเลือกตั้ง เราจะมาเถียงว่าในวันเลือกตั้งเราไม่ได้เป็นภิกษุ เรามาอุปสมบทในภายหลังวันเลือกตั้งแล้วดังนี้ เราก็ขาดคุณสมบัติและพ้นจากตำแหน่งสมาชิกสภาผู้แทนราษฏรทันทีนับแต่ทำการอุปสมบท

กรณีของคุณเทพไท ก็เช่นเดียวกัน ในวันเลือกตั้งคุณเทพไทไม่ถูกศาลสั่งเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง แต่เมื่อคุณเทพไทเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแล้ว ศาลมีคำพิพากษาให้เพิกถอนสิทธิเลือกตั้งในภายหลังวันเลือกตั้ง คุณเทพไทก็ขาดคุณสมบัติจากการเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในทันทีนับแต่วันที่ศาลมีคำพิพากษาครับ เพราะรัฐธรรมนูญได้บัญญัติห้ามไว้แต่แรกเสียด้วยซ้ำว่าห้ามบุคคลประเภทใดบ้างที่สมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรได้หรือไม่

“อดใจรอกันนะครับผม หลังจาก กกต ยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญแล้ว ศาลรัฐธรรมนูญจะใช้เวลาไม่เกิน 15 วัน ก็จะมีคำวินิจฉัยหรือคำสั่งเกี่ยวกับเรื่องนี้ครับ โดยผมและอย่างน้อยประชาชนที่ลงคะแนนเลือกผมเกือบ 2 แสนคะแนนต่อสู้และรอคอยมายาวนานด้วยความอดทน อดกลั้นนาน 6 ปี ต้องอีก 15 วันคงไม่มีปัญหา เรารอได้อยู่แล้วครับผม ”นายพิชัย กล่าวย้ำในที่สุด .


ธีรศักดิ์ อักษรกูล

error: Content is protected !!