“ครูพี่โอ๊ะ” ลงพื้นที่ภูเก็ต รับฟังการอภิปรายผลการประชาพิจารณ์ ของนักศึกษา กศน.14 จังหวัดภาคใต้
วันที่ 4 กันยายน 2563 เวลา 13.00 น.ณ โรงแรมรอยัลซิตี้ จ.ภูเก็ต : ดร.กนกวรรณ วิลาวัลย์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (รมช.ศธ.) ลงพื้นที่ จังหวัดภูเก็ต รับฟังการอภิปรายผลการประชาพิจารณ์ ของนักศึกษา กศน. 14 จังหวัดภาคใต้ เรื่อง “ความคาดหวังที่มีต่อรัฐบาลและกระทรวงศึกษาธิการ ในการพัฒนางานและการศึกษา ของ กศน.” โดยมีนายพิเชฐ์ ปาณะพงศ์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต,นายณัฐพงษ์ นวลมาก รักษาการเลขาธิการ กศน. และ ผู้บริหาร กศน.ในเขตภาคใต้ ให้การต้อนรับ
โดยนักศึกษาได้สะท้อนปัญหาอุปสรรค และความต้องการได้อย่างชัดเจน อาทิ ต้องการอาคารเรียนหรือพบกลุ่ม ศูนย์ขายผลิต กศน. ศูนย์การเรียนการสอนภาษาต่างประเทศ (รัสเซีย จีน ญี่ปุ่น เกาหลี) รถโมบายที่มีวัสดุอุปกรณ์ในการเรียนอาชีพ ที่สามารถไปสอนตามแหล่งชุมชน หมู่บ้านได้ ห้องทดลองวิทยาศาสตร์สำหรับนักเรียนหลักสูตรพื้นฐาน จัดให้มีการเรียนการสอนออนไลน์เพื่อความสะดวกแก่นักศึกษา กศน. ที่ต้องทำงาน รถห้องสมุดเคลื่อนที่ที่มีหนังสือและอุปกรณ์ไอที มีสัญญาณอินเตอร์เน็ต จัดให้มีทุนการศึกษา หรือเงินกู้เพื่อการศึกษาของ กศน. จัดให้มีการติวเข้มสำหรับนักศึกษาที่ต้องการสอบเข้ามหาวิทยาลัย การเรียนสายอาชีพเมื่อเรียนจบแล้วต้องการให้มีวุฒิบัตรที่มีการรับรองจากกรมฝีมือแรงงาน เพื่อให้เป็นที่ยอมรับ และสามรถนำไปสมัครงานได้
รมช.ศธ. กล่าวขอบคุณหน่วยงานที่จัดการประชาพิจารณ์ และนักศึกษา กศน. ที่ร่วมมือร่วมใจกัน ระดมความคิดเห็นเกี่ยวกับปัญหาอุปสรรค ของการศึกษา กศน. ในหลายมิติ ซึ่งจากการลงพื้นที่รับฟังการประชาพิจารณ์ในเขตภาคกลาง,ภาคตะวันออก และภาคเหนือ ที่ผ่านมา มีปัญหาบางอย่างที่คล้ายกัน ซึ่งตนได้ดำเนินการแก้ไขปัญหาไปบ้างแล้ว เช่น ในการศึกษาสายอาชีพเวลานี้ได้ประสานความร่วมมือกับกระทรวงแรงงาน ในการร่างหลักสูตร และบูรณาการการเรียนการสอนด้านอาชีพร่วมกัน เพื่อให้ผู้เรียนที่จบหลักสูตรได้รับวุฒิบัตร ตามมาตรฐานของกรมฝีมือแรงงาน
ส่วนห้องทดลองวิทยาศาสตร์จะนำไปหารือ และหาแนวทางร่วมกันกับโรงเรียนในระบบของสำนักงานการศึกษาขั้นพื้นฐาน และสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมเอกชนของกระทรวงศึกษาธิการ ถึงความเป็นไปได้ในการขอใช้ห้องทดลองวิทยาศาสตร์ ในเรื่องของอุปกรณ์สื่อไอที หรือศูนย์ดิจิทัล ต้องประสานกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมเพื่อทำการสำรวจ และจัดสรรงบประมาณในการจัดซื้อคอมพิวเตอร์ สื่อเทคโนโลยีต่างๆ
ในส่วนของศูนย์จำหน่ายสินค้าผลิตภัณฑ์ของ กศน. ในขณะนี้ สำนักงาน กศน. บางจังหวัดมีศูนย์จำหน่ายสินค้าของ กศน. บ้างแล้ว จังหวัดไหนที่ยังไม่มี สามารถนำไปฝากขายได้ที่ห้องสมุดประชาชนที่สำนักงาน กศน. รับผิดชอบดูแลอยู่ เพื่อเป็นการประชาสัมพันธ์ และกระจายสินค้าให้ประชาชนได้รู้จักผลิตภัณฑ์ของ กศน. มากขึ้น ส่วนการจัดการศึกษาตามอัธยาศัย เน้นเชิงรุกการลงให้บริการในพื้นที่มากขึ้น รวมทั้งจัดหา สนับสนุน การนำเทคโนโลยีมาใช้ในการบริการมากขึ้น เช่น รถเคลื่อนที่ในการบริการหนังสือบ้านหนังสือชุมชน คอมพิวเตอร์ โน้ตบุ๊ก อินเทอร์เน็ต เป็นต้น
ทั้งนี้จะส่งผลให้การพัฒนาคุณภาพการศึกษา โดยการบูรณาการการทำงานจากทุกภาคส่วน ไม่ว่าจะเป็นภาครัฐ ภาคเอกชน และประชาชน เพื่อให้การทำงานมีประสิทธิภาพมากที่สุด ส่วนปัญหา และความต้องการอื่น ๆ ได้รวบรวมไว้แล้ว และจะดำเนินการแก้ไขต่อไป สิ่งไหนทำได้ ทำทันที สำหรับปัญหาบางอย่างที่กระทรวงศึกษาธิการไม่สามารถดำเนินการได้เพียงลำพังจะนำประสานความร่วมมือจากกระทรวงอื่นๆ ต่อไป
“ตนยินดีรับฟังทุกปัญหา ทุกเสียงสะท้อนจากทุกคน รัฐบาลและกระทรวงศึกษาธิการพร้อมที่จะดำเนินการแก้ไขปัญหาทางด้านการศึกษาเพื่อตอบสนองผู้เรียนให้ได้มากที่สุดและพร้อมที่เติมเต็มให้แก่ประชาชนในทุกช่วงวัย เพื่อการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์และประเทศชาติที่มั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน” รมช.ศธ. กล่าวทิ้งท้าย
Cr.ข่าว: เอื้อมพร สุเมธาวัฒนะ,กรรณิกา พันธ์คลอง
ภาพ: ปรานี บุญยรัตน์,ณัฐวุฒิ วากะดวน
สุรเชษฐ ศิลานนท์ รายงาน