(วช.) จัดประกวดผลงานประดิษฐ์คิดค้น ประจำปี 2564 และถ่ายทอดเทคโนโลยีอากาศยานไร้คนขับ “เทคนิคการบินโดรนแปรอักษร”
วันที่ 21 กันยายน 2563 เวลา 10.30 น. ณ ห้องประชุม จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ชั้น 2 อาคาร วช. 1 สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) : ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง รองผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) เป็นประธานในพิธีเปิดงานประกวดผลงานประดิษฐ์คิดค้น ประจำปีงบประมาณ 2564 และกิจกรรมส่งเสริมการเรียนรู้ด้านการประดิษฐ์คิดค้น การถ่ายทอดเทคโนโลยีอากาศยานไร้คนขับ “เทคนิคการบินโดรนแปรอักษร”
สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เป็นหน่วยงานด้านการวิจัยและนวัตกรรม มีหน้าที่ในการส่งเสริมและสนับสนุนการพัฒนาบุคลากรด้านวิจัยและนวัตกรรม โดยการสร้างแรงจูงใจแก่นักวิจัยและนักประดิษฐ์ ในการสร้างสรรค์ผลงานวิจัย สิ่งประดิษฐ์ และนวัตกรรม ที่มีคุณภาพ และหน้าที่สำคัญประการหนึ่งคือ การให้รางวัล ประกาศเกียรติคุณ หรือยกย่องบุคคลหรือหน่วยงาน
โดยจัดให้มีรางวัลการวิจัยแห่งชาติขึ้นเป็นประจำทุกปี งานประกวดผลงานประดิษฐ์คิดค้น เป็นกิจกรรมหนึ่งที่ (วช.) ได้ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่อง เพื่อเป็นเวทีให้นักประดิษฐ์ได้นำผลงานออกเผยแพร่สู่สาธารณชน แสดงให้เห็นถึงศักยภาพของนักประดิษฐ์ไทยในการสร้างสรรค์ผลงานที่เป็นประโยชน์ในมิติต่างๆ ทั้งในเชิงเศรษฐกิจ สังคม/ชุมชน การจัดงานประกวดผลงานประดิษฐ์คิดค้น
ในครั้งนี้ เป็นส่วนหนึ่งของการพิจารณาให้รางวัลการวิจัยแห่งชาติ : รางวัลผลงานประดิษฐ์คิดค้น เพื่อให้คณะทำงานประเมินรางวัลฯ ได้ซักถามรายละเอียดเกี่ยวกับผลงานเพิ่มเติมพร้อมทั้งให้ข้อเสนอแนะในการปรับปรุงผลงาน ซึ่งจะทำให้นักประดิษฐ์ได้มีโอกาสรับฟังข้อเสนอแนะ แลกเปลี่ยนพูดคุยประสบการณ์ เพื่อการพัฒนาผลงานต่อไป กิจกรรมงานประกวดผลงานประดิษฐ์ฯ จัดขึ้นระหว่างวันที่ 21-22 กันยายน 2563 ณ ห้องศูนย์จัดการความรู้การวิจัย ชั้น 1 อาคาร (วช.) 1 และบริเวณโถง ชั้น 1 อาคาร (วช.) 4 โดยมีผลงานที่ส่งประกวดร่วมแสดงนิทรรศการ จำนวนกว่า 133 ผลงาน ใน 9 สาขาวิชาการ
นอกจากงานประกวดผลงานประดิษฐ์คิดค้นแล้ว (วช.) ยังได้ร่วมกับสมาคมกีฬาเครื่องบินจำลองและวิทยุบังคับ จัดกิจกรรมส่งเสริมการเรียนรู้ด้านการประดิษฐ์คิดค้น การถ่ายทอดเทคโนโลยีอากาศยานไร้คนขับ “เทคนิคการบินโดรนแปรอักษร” ให้กับนักเรียน นักศึกษาในระดับมัธยมศึกษา อาชีวศึกษา ระหว่างวันที่ 21-23 กันยายน 2563 เพื่อนำความรู้ที่เกี่ยวกับการพัฒนาซอฟต์แวร์ที่เกี่ยวข้องกับการใช้งานโดรนนำไปใช้ต่อยอดในการพัฒนาเทคโนโลยีที่ทันสมัยเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานในด้านต่างๆ อาทิ การสำรวจการลาดตระเวน การถ่ายภาพพื้นที่ทางอากาศ การช่วยเหลือผู้ประสบภัย
ทั้งนี้ในปัจจุบันได้มีการนำโดรนมาใช้ในงานแปลอักษรในกิจกรรมการแสดง แสง สี เสียง ในรูปแบบต่างๆ เพื่อให้เกิดความสวยงาม และน่าสนใจมากยิ่งขึ้น ซึ่งเป็นการคิดค้นและพัฒนาซอฟต์แวร์การสั่งงานโดรนแปลอักษรได้สำเร็จเป็นรายแรกของประเทศไทย โดยมีทีมเข้าอบรมกว่า 40 ทีม
สุรเชษฐ ศิลานนท์ รายงาน