เกษตรนครพนม คุมเข้ม !! ห้ามขนย้ายท่อนพันธุ์มันสำปะหลัง ที่ติดโรค “ใบด่าง” ระบาดเข้ามาในพื้นที่ จังหวัดนครพนม
จากสถานการณ์การระบาดของโรคใบด่างมันสำปะหลัง เมื่อปลายปีที่แล้ว จนส่งผลให้ผล ผลิตมันสำปะหลังของเกษตรกรในหลายพื้นที่ต้องได้รับผลกระทบ และมีการระบาดของโรคในหลายจังหวัดในเขตภาคอีสาน และเป็นพื้นที่เฝ้าระวังในการขนย้ายท่อนพันธุ์มันสำปะหลังจากพื้นที่ที่มีการระบาดของโรคใบด่างไปสู่พื้นที่การเพาะปลูกอื่นๆ ทำให้ส่งผลกระทบและอาจเป็นสาเหตุที่สำคัญให้เกิดการแพร่ระบาดของโรคมากยิ่งขึ้น
สำหรับโรคใบด่างมันสำปะหลัง มีสาเหตุเกิดจากเชื้อไวรัส Cassava mosaic virus ซึ่งเป็นโรคที่มีความสำคัญ หากระบาดรุนแรงอาจทำให้ผลผลิตเสียหาย ซึ่งมันสำปะหลังที่เป็นโรค จะแสดงอาการใบด่างเหลือง ใบเสียรูปทรง ยอดที่แตกใหม่จะแสดงใบด่างอย่างรุนแรง ลำต้นแคระแกร็น ทั้งนี้ ความรุนแรงของโรคขึ้นอยู่กับสายพันธุ์ของไวรัสและพันธุ์มันสำปะหลังด้วย
นายราชันย์ ไชยศิลป์ หัวหน้ากลุ่มอารักขาพืช รักษาราชการแทนเกษตรจังหวัดนครพนม เปิดเผยว่า โรคใบด่างมันสำปะหลัง ถือเป็นโรคร้ายแรงที่สำคัญของมันสำปะหลัง ซึ่งเกิดจากเชื้อไวรัส Sri Lankan cassava mosaic virus (SLCMV) โดยมีแมลงหวีขาวยาสูบเป็นพาหะนำโรค สำหรับแมลงหวี่ขาวมักจะอยู่ตามพืชอาศัย เช่น มันสำปะหลัง, มันฝรั่ง, กะเพรา, โหระพา, พืชตระกูลพริกมะเขือ, และพืชตระกูลถั่ว เป็นต้น และเชื้อไวรัส มักจะอาศัยตาม มันสำปะหลัง, สบู่ดำ, ละหุ่ง, และยางพารา เมื่อโรคใบด่างมันสำปะหลังเกิดการระบาด จะทำให้มันสำปะหลังมีอาการใบด่าง เหลือง ใบเสียรูปทรง และยอดที่แตกใหม่จะแสดงอาการด่างเหลือง ลำต้นแคระแกร็น และสำหรับแนวทางในการแก้ไขป้องกันการระบาดเกษตรกรสามารถทำได้ง่าย เช่น ห้ามนำเข้าท่อนพันธุ์ หรือส่วนขยายพันธุ์จากต่างประเทศ ควรที่จะต้องใช้ท่อนพันธุ์ที่ปลอดโรค หมั่นสำรวจแปลงมันสำปะหลังอย่างน้อยสัปดาห์ละครั้ง กำจัดแมลงหวี่ขาวยาสูบ หลีกเลี่ยงการปลูกพืชอาศัยของพืชไวรัส และพืชอาศัยของแมลงพาหะ ในบริเวณแปลงปลูกมันสำปะหลังและบริเวณใกล้เคียง และหากเกษตรกรพบมันสำปะหลังแสดงอาการของโรคใบด่างในพื้นที่ ให้รีบแจ้งเจ้าหน้าที่นักวิชาการเกษตรในพื้นที่ สำนักงานจังหวัดนครพนม และสำนักงานเกษตรอำเภอใกล้บ้านท่านทันที
สถานการณ์การระบาดของโรคใบด่างมันสำปะหลังในปัจจุบัน จากการรายงานข้อมูล พบว่ามีจังหวัดที่มีบริเวณพื้นที่ติดต่อกับจังหวัดนครพนม พบว่ามีการระบาดของโรคใบด่างมันสำปะหลังแล้ว และมีการเข้าทำลายแปลงมันสำปะหลังของเกษตรกรทำให้เกษตรกรได้รับความเสียหาย ผลผลิตลดลง ซึ่งหากเกษตรกรในจังหวัดนครพนมนำท่อนพันธุ์มันสำปะหลังนอกพื้นที่เข้ามาปลูกก็จะทำให้เกิดความเสี่ยงในการแพร่ระบาดของโรคได้มากขึ้น และหากเกษตรกรจะนำท่อนพันธุ์มันสำปะหลังเข้ามาปลูก เกษตรกรจะต้องแจ้งขออนุญาตจากทางสำนักงานเกษตรอำเภอ และสำนักงานเกษตรจังหวัดในพื้นที่ก่อนที่จะมีการนำเข้าท่อนพันธุ์เข้ามาในพื้นที่ทุกครั้ง
นายราชันย์ ไชยศิลป์ หัวหน้ากลุ่มอารักขาพืช รักษาราชการแทนเกษตรจังหวัดนครพนม เปิดเผยเพิ่มเติมว่า ในตอนนี้แม้จะยังไม่พบรายงานการระบาดในพื้นที่เพาะปลูกมันสำปะหลังในจังหวัดนครพนม แต่ก็ต้องเฝ้าติดตามและระมัดระวังอย่างต่อเนื่อง และดำเนินการตามมาตรการป้องกันตามที่กรมส่งเสริมการเกษตรได้มีข้อแนะนำให้สำนักงานเกษตรจังหวัด อำเภอ ดำเนินการ และหากพบการระบาดให้ดำเนินการทำลายอย่างถูกต้อง ตามหลักวิชาการ ได้แก่
- วิธีฝังกลบ โดยฝังกลบต้นมันสำปะหลังที่เป็นโรค และต้นข้างเคียงโดยรอบ ในหลุมที่ลึกไม่น้อยกว่า 50 ซม. ราดด้วยสารกำจัดวัชพืช อะมีทรีน 80% WG ซัลเฟนทราโซน 48% SC ไดยูรอน 80% WP อย่างใดอย่างหนึ่งก่อน
- วิธีใส่ถุง/กระสอบ โดยนำต้นมันสำปะหลังที่เป็นโรคตัดเป็นท่อนใส่ถุง / กระสอบมัดปากให้แน่นแล้วนำไปตากแดดไม่น้อยกว่า 7 วัน หรือจนกว่าต้นมันสำปะหลังจะตาย
- วิธีบดสับ โดยนำต้นมันสำปะหลังที่เป็นโรคเข้าเครื่องบดป่นหรือเครื่องสับย่อย โดยปูพลาสติกรองพื้นให้เศษต้นที่ถูกทำลายอยู่บนพลาสติก แล้วคลุมกองด้วยพลาสติกตากแดดให้ต้นมันสำปะหลังแห้งตาย
ทั้งนี้ ขอย้ำให้เกษตรกรที่ปลูกมันสำปะหลัง ไม่นำเข้าท่อนพันธุ์ที่เป็นโรคเด็ดขาด ห้ามการนำเข้าและเคลื่อนย้ายท่อนพันธุ์มันสำปะหลังก่อนได้รับอนุญาต เพื่อป้องกันการระบาดของโรคใบด่างในพื้นที่จังหวัดนครพนม
ภาพ/ข่าว : กลุ่มยุทธศาสตร์และสารสนเทศ สำนักงานเกษตรจังหวัดนครพนม
เทพพนม รายงาน