ข่าวใหม่อัพเดท » รมว.ยธ. มอบนโยบาย DSI และทิศทางการขับเคลื่อนการทำงาน ปี 2564

รมว.ยธ. มอบนโยบาย DSI และทิศทางการขับเคลื่อนการทำงาน ปี 2564

26 กันยายน 2020
0

          วันที่ 25 กันยายน 2563 เวลา 13.30 น. ณ ห้องประชุมจูปีเตอร์ ชั้น 3 โรงแรมมิราเคิล แกรนด์ คอนเวนชั่น ถนนวิภาวดีรังสิต เขตหลักสี่ กรุงเทพมหานคร : นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม เป็นประธานในพิธีเปิดการประชุมเชิงปฏิบัติการรับมอบนโยบายและทิศทางการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์การสืบสวนสอบสวนคดีพิเศษ ประจำปีงบ ประมาณ พ.ศ.2564 พร้อมทั้งเยี่ยมชมผลการดำเนินงานสำคัญของกรมสอบสวนคดีพิเศษ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2563

          โดยมี พันตำรวจโท กรวัชร์ ปานประภากร อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ และคณะผู้บริหารกรมสอบสวนคดีพิเศษ รับมอบนโยบาย และรายงานผลการดำเนินงานของกรมสอบสวนคดีพิเศษ การประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อจัดทำแผนปฏิบัติการรับมอบนโยบาย และทิศทางการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์การสืบสวนสอบสวนคดีพิเศษ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2564 จัดขึ้นเพื่อขับเคลื่อนแผนยุทธศาสตร์การสืบสวนสอบสวน ป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมพิเศษ ให้สอดคล้องกับสถานการณ์การเปลี่ยนแปลงของรูปแบบอาชญากรรมพิเศษ

          รวมถึงให้มีความสอดคล้องกับแผนยุทธศาสตร์ชาติ แผนแม่บทที่เกี่ยวข้อง และแผนปฏิบัติราชการกระทรวงยุติธรรม ในการอำนวยความยุติธรรม ให้มีความโปร่งใส สะดวก รวดเร็ว เสมอภาค ทั่วถึง เป็นธรรม และปราศจากการเลือกปฏิบัติ ซึ่งเป็นไปตามแผนปฏิบัติราชการกระทรวงยุติธรรม ระยะ 3 ปี (พ.ศ.2563-2565) อันประกอบด้วย 6 ด้าน ได้แก่ การพัฒนากฎหมายและกระบวนการยุติธรรม, การสร้างการรับรู้ด้านกฎหมาย และเคารพสิทธิ, การอำนวยความยุติธรรมและลดความเหลื่อมล้ำ, การป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมพิเศษ, การส่งเสริมคนดีสู่สังคม, การป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติด โดยมีคณะผู้บริหาร ข้าราชการ และเจ้าหน้าที่กรมสอบสวนคดีพิเศษ เข้าร่วมโครงการทั้งสิ้น 230 คน

          นายสมศักดิ์ฯ กล่าวว่า “เมื่อวันที่ 16 สิงหาคม 2562 ที่ผ่านมา ผมได้ตรวจเยี่ยมและมอบนโยบายการปฏิบัติราชการ และข้อสั่งการสำคัญตามนโยบายรัฐบาล ที่เกี่ยวข้องกับกรมสอบสวนคดีพิเศษ ในการปรับกระบวนทัศน์ในการปฏิบัติงาน พัฒนาระบบดิจิทัล เพิ่มอุปกรณ์ เครื่องมือพิเศษ ปรับโครงสร้าง เพื่อให้ภารกิจกรมสอบสวนคดีพิเศษ ตอบสนองยุทธศาสตร์ชาติ ในการอำนวยความยุติธรรมให้มีความโปร่งใส สะดวก รวดเร็ว เสมอภาค ทั่วถึง เป็นธรรม และปราศจากการเลือกปฏิบัติ

          ซึ่งกรมสอบสวนคดีพิเศษได้ดำเนินการสืบสวนสอบสวนคดีพิเศษสำคัญที่อยู่ในความสนใจของประชาชน และมีผลต่อความมั่นคง ระบบเศรษฐกิจ ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมของประเทศ รวมถึงการจัดการเส้นทางการเงินของผู้กระทำความผิด องค์กรอาชญากรรม จนได้ผลเป็นที่ประจักษ์ และผลสำรวจความเชื่อมั่นของสาธารณชนที่มีต่อกรมสอบสวนคดีพิเศษ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2563 พบว่ามีระดับความเชื่อมั่นของสาธารณชนที่มีต่อการดำเนินงานของกรมสอบสวนคดีพิเศษ ที่ร้อยละ 75.05

          ซึ่งอยู่ในระดับที่ดีขึ้นกว่าปีก่อน รวมถึงกรมสอบสวนคดีพิเศษได้รับรางวัลเลิศรัฐ จากสำนัก งาน ก.พ.ร. ในปี พ.ศ.2563 จำนวน 3 รางวัล ผมจึงขอขอบคุณข้าราชการและเจ้าหน้าที่กรมสอบสวนคดีพิเศษทุกท่าน ที่ได้ทุ่มเททำงานเพื่ออำนวยความยุติธรรม และบังคับใช้กฎหมายให้เกิดความเป็นธรรม ตลอดจนร่วมผลักดันนโยบายและการสืบสวนสอบสวนคดีพิเศษให้ออกมาเป็นรูปธรรม และเป็นที่ประจักษ์ต่อสายตาประชาชน และขอให้ร่วมกันเดินหน้าเพื่อพัฒนากระบวนการยุติธรรมของไทยให้เกิดความเป็นธรรมทั่วถึง เสมอภาคและไม่เลือกปฏิบัติ เป็นที่พึ่งของพี่น้องคนไทยอย่างยั่งยืนต่อไป”

          ในการนี้ นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ได้มอบนโยบายเพื่อขับเคลื่อนภารกิจและดำเนินการเพื่อการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมพิเศษที่สำคัญ ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 ดังนี้

1.การใช้ระบบเทคโนโลยีในการสืบสวนสอบสวนโดยเฉพาะเรื่องเส้นทางการเงินเครือข่ายผู้ค้ายาเสพติด ตามนโยบายเร่งด่วนของ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ที่ให้ไว้เมื่อวันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2563 โดยมีข้อสั่งการให้ขยายผล เพื่อจับกุมนายทุน และผู้อยู่เบื้องหลังการค้ายาเสพติด รวมถึงจัดตั้งกลไกการบูรณาการการปราบปรามยาเสพติด เพื่อสืบสวนขยายผลและยึดทรัพย์สินเครือข่ายยาเสพติด โดยกรมสอบสวนคดีพิเศษเป็นหน่วยงานในสังกัดกระทรวงยุติธรรม ที่ได้รับมอบหมายภารกิจในการสอบสวนเส้นทางการเงินของเครือข่ายยาเสพติด เพื่อตัดวงจรด้วยการยึดทรัพย์ และจากปฏิบัติการที่ผ่านมา กรมสอบสวนคดีพิเศษได้ใช้เทคโนโลยีในการสืบค้นธุรกรรมทางการเงินที่ทันสมัย โดยปฏิบัติการสืบสวน สอบสวนเครือข่ายยาเสพติด เพื่อติดตามเครือข่ายผู้ค้ายาเสพติดทางกลุ่มภาคตะวันออกเฉียงเหนือ สามารถยึดและอายัดทรัพย์สินได้กว่า 500 ล้านบาท ซึ่งเป็นตัวอย่างให้เห็นถึงการใช้เทคโนโลยีเพื่อเสริมประสิทธิภาพการสืบสวนสอบสวน

2.ให้กรมสอบสวนคดีพิเศษหารือร่วมกับกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ เพื่อบูรณาการการทำงานเกี่ยวกับคดีบังคับบุคคลสูญหาย กระทรวงยุติธรรม ได้เสนอร่างพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ. …. ซึ่งคณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบแล้ว อยู่ระหว่างกระบวนการขอความเห็นชอบจากรัฐสภา และในระหว่างเสนอกฎหมายใหม่นี้ ขอให้กรมสอบสวนคดีพิเศษสืบสวนสอบสวนคดีบุคคลสูญหายควบคู่ไปด้วย เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมแก่ผู้สูญหายและครอบครัว รวมทั้งสร้างความชัดเจนแก่สาธารณชน

3.ปัญหาหนี้นอกระบบ ซึ่งเป็นอาชญากรรมที่ส่งผลต่อเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศ และส่งผลต่อความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีของประชาชน ที่นับวันยิ่งทวีความรุนแรงมากขึ้น ประกอบกับสถานการณ์ปัจจุบันที่มีการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนา (โควิด-19) ส่งผลกระทบต่อการดำรงชีวิตความเป็นอยู่ของผู้มีรายได้น้อย แนวโน้มของปัญหาหนี้นอกระบบอาจรุนแรงมากขึ้น ทั้งรูปแบบการปล่อยเงินกู้ที่หวังผลประโยชน์จากดอกเบี้ยและผลตอบแทนอื่นๆ ในอัตราที่สูงกว่ากฎหมายกำหนด และการติดตามทวงถามหนี้ โดยมีพฤติการณ์ข่มขู่ ทำร้ายร่างกาย บางรายถูกกดดันจนฆ่าตัวตาย ดังนั้น จึงขอให้กรมสอบสวนคดีพิเศษดำเนินการทั้งด้านการปราบปรามกลุ่มนายทุนที่แสวงหาประโยชน์จากประชาชนที่มีปัญหาเรื่องหนี้ และ
ให้ความรู้กับประชาชนควบคู่ไปด้วย เพื่อป้องกันไม่ให้ผู้มีรายได้น้อยตกเป็นเหยื่อขบวนการหนี้นอกระบบ

4.ให้กรมสอบสวนคดีพิเศษทบทวนปรับปรุงโครงสร้าง เพื่อรองรับคดีสำคัญ เช่น การจัดตั้งศูนย์ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินทางอาญา ทำงานเชิงรุกเพื่อป้องกันอาชญากรรมที่เปลี่ยนแปลงไปในหลายรูปแบบในปัจจุบัน

          ด้าน พันตำรวจโท กรวัชร์ ปานประภากร อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ กล่าวว่า “ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 ที่ผ่านมา กรมสอบสวนคดีพิเศษมีผลการดำเนินคดีที่สำคัญ อาทิ คดีการฆาตกรรมนายพอละจี หรือบิลลี่ รักจงเจริญ แกนนำชุมชนกะเหรี่ยง บ้านโป่งลึก-บางกลอย แก่งกระจาน,การหลอกลวงให้ลงทุนซื้อขายอัตราแลกเปลี่ยนสกุลเงินต่างประเทศ (Forex-3D),การจับกุมตัวผู้ต้องหา กรณี บริษัท อีเกิ้ลเกตส์ กรุ๊ป จำกัด กับพวก มีพฤติการณ์เป็นองค์กรอาชญากรรมข้ามชาติ หลอกลวงผู้เสียหายให้ร่วมลงทุน ทั้งในประเทศและต่างประเทศ รวมมูลค่าความเสียหายกว่า 200 ล้านบาท,การยึดทรัพย์ตัดวงจรยาเสพติดกว่า 500 ล้าน และการบุกค้นแหล่งเก็บสินค้าละเมิดเครื่องหมายการค้ายี่ห้อดัง ย่านภาษีเจริญ มูลค่าความเสียหายกว่า 100 ล้านบาท เป็นต้น และจากนโยบายที่ได้รับมอบจากท่านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมในวันนี้ กรมสอบสวนคดีพิเศษจะนำไปเป็นแนวทางปฏิบัติและขับเคลื่อนยุทธศาสตร์การสืบสวนสอบสวนคดีพิเศษ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2564 เพื่อป้องกัน ปราบปราม สืบสวน และสอบสวนคดีพิเศษได้อย่างมีประสิทธิภาพ รวดเร็ว และเป็นธรรม ตลอดจนเพื่อให้กรมสอบสวนคดีพิเศษก้าวไปสู่องค์กรชั้นนำของประเทศที่ได้รับความไว้วางใจ เชื่อมั่น และเป็นที่พึ่งด้านการอำนวยความยุติธรรมให้เกิดขึ้นแก่ประชาชนต่อไป”


สุรเชษฐ ศิลานนท์ รายงาน

error: Content is protected !!