วันนี้ (26 กันยายน 2563) ซึ่งเป็นวันที่สองของการแข่งขันเรือใบรายการชิงชนะเลิศแห่งประเทศไทยประจำปี 2563 (Thailand Sailing Championship 2020) ที่ สมาคมกีฬาแข่งเรือใบแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ ร่วมกับ กองทัพเรือ การกีฬาแห่งประเทศไทย และ บริษัท ปตท. สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด(มหาชน) หรือ ปตท.สผ. ได้จัดให้มีขึ้น โดยในปีนี้ทำการแข่งขันขึ้นระหว่างวันที่ 25 – 27 กันยายน 2563 บริเวณอ่าวดงตาล อำเภอสัตหีบ จังหวัดชลบุรี โดยในวันนี้ สภาพอากาศค่อนข้างเป็นใจกับการแข่งขัน ท้องฟ้าโปร่ง คลื่นลมปานกลาง มีเรือจำนวน 271 ลำ และ นักแล่นใบ 299 คนจาก 14 ประเภท เข้าร่วมการแข่งขัน ประกอบด้วย เรือใบประเภท Optimist, Laser 4.7, Laser radial, Laser st., Open skiff, 420, 470, 49er FX, Phatu, Nacra 15 OK, F18, Hobie 16 และ Kite surf นอกจากนั้นยังมีเรือใบประเภทซูเปอร์มดเข้าร่วมทำการแข่งขัน ในวันนี้เป็นวันแรก โดยในส่วนของเรือใบซูเปอร์มด เป็นเรือใบที่ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงออกแบบและจดลิขสิทธิ์ ที่ประเทศอังกฤษ เป็น ประเภท International Moth Class
พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงโปรดกีฬาเรือใบ และทรงมีพระปรีชาสามารถในการแล่นใบ รวมทั้งมีพระอัจฉริยภาพในการต่อเรือใบด้วยพระองค์เอง ซึ่งเรือใบฝีพระหัตถ์ลำแรกที่ทรงต่อเป็นเรือ ประเภทเอ็นเตอร์ไพรส์ พระราชทานชื่อเรือว่า “ราชประแตน” ทรงต่อเรือใบโอเคลำแรกชื่อ “นวฤกษ์” ทรงจัดตั้งสโมสรเรือใบส่วนพระองค์ขึ้น คือ หมวดเรือใบหลวงจิตรลดา ทรงรับเป็นองค์อุปถัมภ์สมาคมกีฬาแข่งเรือใบแห่งประเทศไทย และสโมสรเรือราชวรุณที่เมืองพัทยา
ย้อนกลับไปเมื่อวันที่ 19 เมษายน 2509 หรือเมื่อ 48 ปีที่แล้ว นับเป็นเหตุการณ์ที่ยังประทับอยู่ในความทรงจำของทหารเรือทุกนาย ที่ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ได้ทรงเรือใบประเภทโอเค ชื่อ เวคา ที่ทรงต่อด้วยพระองค์เอง จากหน้าวังไกลกังวล ข้ามอ่าวไทยไปยังอ่าวสัตหีบ ซึ่งมีระยะทางประมาณ 60 ไมล์ทะเล ด้วยพระองค์เองเพียงพระองค์เดียว ทรงใช้เวลาในการแล่นใบถึง 17 ชั่วโมงเต็ม ทรงนำธงราชนาวิกโยธิน ที่ทรงนำข้ามอ่าวไทยมาด้วย ปักเหนือของก้อนหินใหญ่ที่ชายหาดของอ่าวนาวิกโยธิน ในขณะที่วงดนตรีบรรเลงเพลงพระราชนิพนธ์มาร์ชราชนาวิกโยธิน และหลังจากทรงปักธงราชนาวิกโยธินแล้ว ได้ทรงลงพระปรมาภิไธยบนแผ่นศิลาจารึก และหลังจากนั้น ในปีเดียวกัน ได้พระราชทานหางเสือเรือพระที่นั่ง เวคา ที่ทรงแล่นใบข้ามอ่าวไทย เพื่อเป็นรางวัลนิรันดร แก่ผู้ชนะเลิศในการแข่งขันเรือใบข้ามอ่าวไทย ประจำปี ของสมาคมกีฬาแข่งเรือใบแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ จนถึงปัจจุบัน (ปัจจุบันได้เปลี่ยนเป็นการแข่งขันเรือใบทางไกล ในรายการสัตหีบรีกัตต้า)
ถัดมาในปี พ.ศ.2510 เมื่อ วันที่ 16 ธันวาคม พระอัจฉริยภาพของ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ในกีฬาเรือใบ ได้เป็นที่ประจักษ์ชัดแก่ปวงชนชาวไทยก็คือ ในการแข่งขันกีฬาแหลมทองครั้งที่ 4 ซึ่งประเทศไทยเป็นเจ้าภาพ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตน์ราชกัญญาสิริวัฒนาพรรณวดี ได้เสด็จขึ้นบนแท่นรับเหรียญรางวัลชนะเลิศ การแข่งขันเรือใบประเภทโอเค ซึ่งชัยชนะครั้งนั้น ได้แสดงให้เห็นถึงพระปรีชาสามารถในการทรงเรือใบให้เป็นที่ประจักษ์ เนื่องจากทรงเป็นพระมหากษัตริย์ไทยพระองค์แรกและพระองค์เดียวในทวีปเอเชียที่ได้รับรางวัลชนะเลิศการแข่งขันเรือใบนานาชาติจนเป็นที่ยอมรับและจารึกในประวัติศาสตร์วงการกีฬาระดับโลก
เมื่อเวลาที่ทรงว่างเว้นจากพระราชภารกิจ พระองค์จะเสด็จฯ ไปทรงเรือใบร่วมกับข้าราชบริพารและนายทหารเรือเสมอ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้มีการแข่งขันเรือใบเป็นประจำ ระหว่างทีมสโมสรจิตรดา และทีมราชนาวี โดยทั้งสองทีมจะผลัดเปลี่ยนกันเป็นเจ้าภาพในทุก ๆ ปี โดยจะจัดการแข่งขันในห้วงระยะเวลาที่ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ตลอดจนพระบรมวงศานุวงศ์ทุกพระองค์ เสด็จฯ แปรพระราชฐาน ไปประทับแรม ณ วังไกลกังวล และทรงเป็นผู้ชนะเลิศในการแข่งขันหลายครั้ง
ในส่วนของเรือมด หรือ เรือใบมด ที่ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงออกแบบและทรงต่อขึ้นมาด้วยพระองค์เอง และพระราชทานชื่อ เรือใบมดแปลงมาจากเรือใบ “ม็อธ” ซึ่งที่มาของชื่อทรงมีรับสั่งว่า “ที่ชื่อมดนั้น เพราะมันกัดเจ็บ ๆ คัน ๆ ดี” ต่อมาทรงพัฒนาเรือแบบต่อๆมาอีกโดยได้พระราชทาน ชื่อว่าเรือใบซูเปอร์มด และเรือใบไมโครมด เรือใบมด มีความยาว 11 ฟุต กว้าง 4 ฟุต 11 นิ้ว เนื้อที่ใบเรือ 72 ตารางฟุต พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงเรือใบมด เข้าทดลองแข่งขันที่ประเทศอังกฤษและได้อันดับที่หนึ่งในบรรดาเรือขนาดเดียวกัน
ส่วน เรือใบซูเปอร์มดนั้น เป็นเรือใบขนาดเล็กที่ทรงออกแบบมาให้เหมาะกับคนไทย ตัวเรือยาว 11 ฟุต กว้าง 4 ฟุต 11 นิ้ว เสาเดี่ยว เนื้อที่ใบ 72 ตารางฟุต ท้องแบนน้ำหนักเบาประมาณ 34 กิโลกรัม ซุปเปอร์มดเคยเข้าร่วมแข่งขันกีฬาเอเชียนเกมส์ครั้งที่ 13 เมื่อปี พ.ศ. 2541
ทั้งนี้ พิธีมอบรางวัลและปิดการแข่งขันกีฬาแข่งเรือใบชิงชนะเลิศแห่งประเทศไทยประจำปี 2563 กำหนดจัดขึ้นในวันที่ 27 กันยายน 2553 เวลา 16.00 น. บริเวณ ศูนย์สมุทรกีฬา หน้าอ่าวดงตาล อำเภอสัตหีบ จังหวัดชลบุรี
นอกจากนั้น ในเวลา 17.25 น. กองทัพเรือโดยกองเรือยุทธการ ได้กำหนดจัดพิธีเปิดอุทยานประวัติศาสตร์ เรือของพ่อ ” เรือ ต.91″ บริเวณชายหาด หน้าอ่าวดงตาล กองเรือยุทธการ โดยมีกิจกรรมที่สำคัญประกอบด้วย การแสดงบินหมู่สีควันธงชาติโดยพารามอเตอร์ การแสดงดนตรีแจ๊สบทเพลงพระราชนิพนธ์จาก วงดนตรีวิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดล การแสดงพลุจำนวน 91 นัด นอกจากนั้น เรือใบที่เข้าร่วมการแข่งขันเรือใบชิงแชมป์ระดับประเทศไทย ประเภทต่างๆ รวมถึงเรือใบประเภทซูเปอร์มด รวม 91 ลำ จะได้ร่วมแล่นใบหน้าอ่าวดงตาลเพื่อน้อมรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตรที่ทรงมีพระมหากรุณาธิคุณต่อ กองทัพเรือ และ กีฬาเรือใบ
ฝ่ายประชาสัมพันธ์ สมาคมกีฬาแข่งเรือใบแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์