เปลี่ยนเกณฑ์ประมูลรถไฟฟ้าสายสีส้มใครได้ประโยชน์ ?
เปลี่ยนเกณฑ์ประมูลรถไฟฟ้าสายสีส้มใครได้ประโยชน์?เป็นข่าวที่สร้างความประหลาดใจให้แก่ผู้สนใจการประมูลโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มมาเป็นระยะเวลาหนึ่งว่า เหตุใดการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) จึงเปลี่ยนหลักเกณฑ์การคัดเลือกเอกชนให้เข้ามาร่วมลงทุนในโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มหลังจากปิดขายซองเอกสารประมูลแล้วเดิม รฟม.ใช้หลักเกณฑ์เหมือนการประมูลโครงการขนาดใหญ่อื่นๆ ที่เคยประมูลมา กล่าวคือ ผู้ยื่นข้อเสนอจะต้องมีคุณสมบัติครบถ้วนตามข้อกำหนด หากมีคุณสมบัติครบถ้วนก็จะพิจารณาข้อเสนอด้านเทคนิค ซึ่งผู้ยื่นข้อเสนอจะต้องได้คะแนนไม่น้อยกว่าที่กำหนดไว้จึงจะถือว่าผู้ยื่นข้อเสนอสอบผ่านด้านเทคนิค รฟม.จึงจะพิจารณาข้อเสนอด้านการลงทุนและผลตอบแทนให้แก่รัฐต่อไป ใครเสนอผลตอบแทนให้แก่รัฐมากที่สุดก็จะชนะการประมูล
แต่หลังจากปิดขายซองเอกสารประมูลแล้ว รฟม.ได้เปลี่ยนหลักเกณฑ์การคัดเลือก แทนที่จะเลือกให้ผู้ยื่นข้อเสนอที่เสนอผลตอบแทนให้แก่รัฐมากที่สุดเป็นผู้ชนะการประมูล กลับเอาผลด้านเทคนิคมารวมกับข้อเสนอผลตอบแทนให้แก่รัฐ โดยให้คะแนนด้านเทคนิค 30 คะแนน และด้านผลตอบแทนให้แก่รัฐ 70 คะแนน ใครได้คะแนนรวมมากกว่าก็จะชนะการประมูล ซึ่งอาจทำให้ผู้ที่เสนอผลตอบแทนให้แก่รัฐมากที่สุดไม่ชนะการประมูลก็ได้ ส่งผลให้รัฐเสียโอกาสที่จะได้รับผลตอบแทนจำนวนมากเพื่อนำมาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่พี่น้องประชาชนการเปลี่ยนหลักเกณฑ์การคัดเลือกทำให้เกิดข้อได้เปรียบ-เสียเปรียบดังนี้
1. สำหรับข้อเสนอด้านเทคนิคนั้น มีการกำหนดให้ผู้ยื่นข้อเสนอจะต้องมีประสบการณ์งานออกแบบและก่อสร้างอุโมงค์ใต้ดินขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางไม่น้อยกว่า 5 เมตร โดยผลงานและประสบการณ์ในประเทศไทยจะได้รับการพิจารณาเป็นพิเศษ ซึ่งผู้ที่มีคุณสมบัติดังกล่าวในประเทศไทยมีเพียงไม่กี่ราย ในวงการก่อสร้างรู้ดีว่าคือบริษัทอะไร
อีกทั้ง ผู้บริหารของ รฟม.ยังให้สัมภาษณ์ถึงเหตุผลที่ต้องเปลี่ยนแปลงหลักเกณฑ์การคัดเลือกว่าเป็นเพราะจะต้องมีการก่อสร้างอุโมงค์ผ่านพื้นที่เกาะรัตนโกสินทร์และลอดแม่น้ำเจ้าพระยา ด้วยเหตุนี้ ยิ่งทำให้น่าคิดว่าผู้ยื่นข้อเสนอที่เคยก่อสร้างอุโมงค์ผ่านพื้นที่เกาะรัตนโกสินทร์และลอดแม่น้ำเจ้าพระยาจะได้รับคะแนนสูงกว่าผู้ยื่นข้อเสนอที่ไม่เคยก่อสร้างอุโมงค์ในพื้นที่ดังกล่าวแต่เคยก่อสร้างอุโมงค์ในพื้นที่อื่นหรือไม่
2. ข้อเสนอด้านผลตอบแทนให้แก่รัฐ 70 คะแนน แบ่งเป็น 2 ส่วน ดังนี้
2.1 ความน่าเชื่อถือและความครบถ้วนถูกต้อง 10 คะแนนรฟม.จะใช้ข้อมูลของผู้ประกอบการในโครงการรถไฟฟ้าสายอื่นๆ ของ รฟม.มาใช้ประกอบการพิจารณาความน่าเชื่อถือของผู้ยื่นข้อเสนอผลตอบแทนให้แก่รัฐ จึงเป็นที่น่าสังเกตว่าผู้ประกอบการในโครงการรถไฟฟ้าอื่นที่ไม่ใช่ผู้ประกอบการในโครงการรถไฟฟ้าของ รฟม.จะได้รับการพิจารณาว่าน่าเชื่อถือหรือไม่ และจะได้คะแนนหรือไม่
2.2 ผลตอบแทนให้แก่รัฐ 60 คะแนนในการเสนอผลตอบแทนให้แก่รัฐ มีการระบุให้ใช้ตัวเลขจำนวนผู้โดยสารตามที่ รฟม.กำหนดไว้เท่านั้นเพื่อคำนวณหารายได้จากค่าโดยสาร ทำให้ผู้ยื่นข้อเสนอที่คาดการณ์ว่าจะมีผู้โดยสารมากกว่าที่ รฟม.กำหนดไว้ ซึ่งจะทำให้มีรายได้มากขึ้น จะไม่สามารถเสนอผลตอบแทนให้แก่รัฐที่สูงได้ ซึ่งจะทำให้ประเทศชาติสูญเสียผลประโยชน์ ด้วยเหตุนี้ ผู้ยื่นข้อเสนอทุกรายจะได้คะแนนในข้อนี้ไม่แตกต่างกันมากจะเห็นได้ว่าการเปลี่ยนหลักเกณฑ์การคัดเลือกจะทำให้เกิดการได้เปรียบ-เสียเปรียบดังกล่าวแล้วข้างต้น และที่สำคัญ อาจทำให้รัฐไม่ได้รับผลตอบแทนสูงสุด ดังนั้น เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมแก่ผู้ยื่นข้อเสนอทุกรายและเพื่อให้รัฐได้รับผลตอบแทนสูงสุด รฟม.จะต้องใช้หลักเกณฑ์การคัดเลือกเดิม กล่าวคือ รฟม.ต้องถือว่าผู้ยื่นข้อเสนอที่มีคะแนนผ่านเกณฑ์ด้านเทคนิคทุกรายมีความสามารถที่จะก่อสร้างงานตามความต้องการของ รฟม.ได้ทุกประเภทและในทุกพื้นที่ โดยเฉพาะการก่อสร้างอุโมงค์ใต้ดินในทุกพื้นที่
ดังนั้น ในการพิจารณาข้อเสนอด้านผลตอบแทนให้แก่รัฐ รฟม.จะต้องไม่นำคะแนนด้านเทคนิคมาพิจารณาอีกแล้ว เพราะเขาได้สอบผ่านมาแล้ว ซึ่งในการประมูลโครงการรถไฟฟ้าที่ผ่านมาก็ใช้หลักเกณฑ์นี้ทั้งหมดนี้ คนในวงการรถไฟฟ้ารู้ดีว่าใครจะได้รับผลประโยชน์มหาศาลจากการประมูลครั้งนี้ ซึ่งหากเป็นประเทศชาติก็น่ายินดี แต่ถ้าไม่ใช่ ผู้มีหน้าที่รับผิดชอบจะนิ่งเฉยยอมปล่อยให้การประมูลดำเนินไปอย่างนี้หรือ? ไม่คิดถึงประเทศชาติกันบ้างหรือไร?ข้อสงสัยดังกล่าวข้างต้นจึงเป็นข้อกังขาที่ผมและประชาชนทุกคนชอบที่จะต้องขอคำชี้แจงให้สิ้นสงสัยจากหน่วยงานที่รับผิดชอบโดยตรง ทั้งนี้ก็เพื่อปกป้องผลประโยชน์ของประเทศชาติและประชาชน ด้วยเจตนาที่จะให้ประชาชนได้รับประโยชน์จากโครงการนี้อย่างเต็มที่ โดยปราศจากข้อสงสัยใดๆ ทั้งสิ้นเท่านั้นเอง
ดร.สามารถ ราชพลสิทธิ์
รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์