ข่าวใหม่อัพเดท » “ลุงตู่” เป็นประธานพิธีรับรถไฟฟ้าโมโนเรลขบวนแรก โครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพู – เหลือง จ.ชลบุรี

“ลุงตู่” เป็นประธานพิธีรับรถไฟฟ้าโมโนเรลขบวนแรก โครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพู – เหลือง จ.ชลบุรี

1 ตุลาคม 2020
0

เมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2563 ที่ท่าเรือแหลมฉบัง อำเภอศรีราชา จังหวัดชลบุรี พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานในพิธี รับรถไฟฟ้าโมโนเรลขบวนแรก โครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพู ช่วงแคราย – มีนบุรี และโครงการรถไฟฟ้าสายสีเหลือง ช่วงลาดพร้าว – สำโรง โดยมี นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม, พลเอกอนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย, นายอธิรัฐ รัตนเศรษฐ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม, และคณะผู้บริหารกระทรวงคมนาคม นายสราวุธ ทรงศิวิไล ประธานกรรมการการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย, นายภคพงศ์ ศิริกันทรมาศ ผู้ว่าการการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย, ผู้บริหารบริษัท นอร์ทเทิร์น บางกอก โมโนเรล จำกัด, และบริษัท อีสเทิร์น บางกอกโมโนเรล จำกัด, บริษัท บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) , บริษัท ซิโน-ไทย เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน), บริษัท ราช กรุ๊ป จำกัด (มหาชน), บริษัท บอมบาร์ดิเอร์ ทรานสปอร์เทชั่น โฮลดิ้งส์ (ประเทศไทย) จำกัด พร้อมด้วยเรือโท กมลศักดิ์ พรหมประยูร ผู้อำนวยการ การท่าเรือแห่งประเทศไทย, ร้อยตำรวจตรี มนตรี ฤกษ์จำเนียร ผู้อำนวยการท่าเรือแหลมฉบัง และส่วนราชการในท้องที่และภาคเอกชนที่เกี่ยวข้อง ร่วมให้การต้อนรับ

พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา รัฐบาลได้ให้ความสำคัญในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคมและขนส่งของประเทศ โดยกำหนดไว้ในแผนยุทธศาสตร์ชาติ ระยะ 20 ปี พร้อมทั้งได้ผลักดันให้เกิดโครงการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนสายใหม่ๆ ขึ้นอย่างต่อเนื่อง เพื่อเสริมสร้างความสามารถในการแข่งขันทางด้านเศรษฐกิจของประเทศ และยกระดับคุณภาพชีวิตของพี่น้องประชาชนควบคู่กันไป ซึ่งโครง การรถไฟฟ้าสายสีชมพู ช่วงแคราย – มีนบุรี และโครงการรถไฟฟ้าสายสีเหลือง ช่วงลาดพร้าว – สำโรง ในความรับผิดชอบของ การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ถือเป็นโครงการที่รัฐบาลได้ให้ความสนใจ เร่งรัดและติดตามความก้าวหน้าในการดำเนินงานอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้ทั้งสองโครงการเกิดขึ้นเป็นรูปธรรมโดยเร็ว เพื่อเป็น “ทางเลือกใหม่” ในการเดินทางที่สามารถขนส่งผู้โดยสารจำนวนมากได้ในคราวเดียวกัน มีกำหนดเวลา ที่แน่นอน และมีมาตรฐานความปลอดภัยสูง ทั้งยังขับเคลื่อนด้วยระบบไฟฟ้าที่ไม่ก่อให้เกิดมลพิษทางอากาศ ซึ่งรัฐบาลคาดหวังว่า กระทรวงคมนาคม และ รฟม. จะทุ่มเทในการสร้างโครงข่ายระบบรถไฟฟ้าในกรุงเทพมหานครและปริมณฑลให้ประสบความสำเร็จ ตามแผนงาน เพื่อเป็นต้นแบบสำหรับการพัฒนาโครงการระบบขนส่งมวลชนทางรางในหัวเมืองภูมิภาคอื่นๆ ต่อไป

จากนั้น นายกรัฐมนตรีและคณะผู้บริหารได้ร่วมกันตัดริบบิ้นรับรถไฟฟ้าโมโนเรลขบวนแรกของโครงการรถไฟฟ้า สายสีชมพูฯ และโครงการรถไฟฟ้าสายสีเหลืองฯ ซึ่งถือเป็นความก้าวหน้าไปอีกขั้นของโครงการนอกเหนือจาก งานก่อสร้าง เตรียมความพร้อมสู่การเปิดให้บริการแก่พี่น้องประชาชนในอนาคตอันใกล้นี้

รฟม. ได้ลงนามในสัญญาร่วมลงทุนโครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพูฯ กับผู้รับสัมปทาน บริษัท นอร์ทเทิร์น บางกอกโมโนเรล จำกัด (NBM) และโครงการรถไฟฟ้าสายสีเหลืองฯ กับผู้รับสัมปทาน บริษัท อีสเทิร์น บางกอกโมโนเรล จำกัด (EBM) เมื่อวันที่ 16 มิถุนายน 2560 โดยทั้งสองโครงการได้รับการออกแบบให้เป็นระบบรถไฟฟ้ารางเดี่ยว (Monorail) แบบคร่อมราง บนทางวิ่งยกระดับเหนือแนวเกาะกลางถนน ทำหน้าที่เป็นระบบขนส่งมวลชนระบบรอง (Feeder) ป้อนผู้โดยสารเข้ารถไฟฟ้าขนส่งมวลชนสายหลัก ในส่วนของโครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพูฯ มีแนวเส้นทางพาดผ่านตอนเหนือของกรุงเทพฯ ในแนวตะวันตก – ตะวันออก จากถนนติวานนท์ ผ่านถนนแจ้งวัฒนะ ถนนรามอินทรา ไปสิ้นสุดบนถนนสีหบุรานุกิจ ระยะทางรวม 34.5 กิโลเมตร มีสถานีรถไฟฟ้าให้บริการรวม 30 สถานี มีจุดเชื่อมต่อไปยังรถไฟฟ้ามหานคร สายฉลองรัชธรรม (MRT สายสีม่วง) ที่สถานีศูนย์ราชการนนทบุรี เชื่อมต่อไปยังรถไฟฟ้าสายสีแดง ที่สถานีหลักสี่ เชื่อมต่อไปยังรถไฟฟ้าสายสีเขียว ที่สถานีวัดพระศรีมหาธาตุ และเชื่อมต่อไปยังรถไฟฟ้าสายสีส้ม ที่สถานีมีนบุรี โดยมีอาคารจอดแล้วจร 1 แห่ง และศูนย์ซ่อมบำรุงฯ ตั้งอยู่ใกล้กับสถานีมีนบุรี และในส่วนของโครงการรถไฟฟ้าสายสีเหลืองฯ มีแนวเส้นทางพาดในแนวเหนือ – ใต้ ทางฝั่งตะวันออกของกรุงเทพฯ จากถนนลาดพร้าว ผ่านถนน ศรีนครินทร์ ไปสิ้นสุดบนถนนเทพารักษ์ ระยะทางรวม 30.4 กิโลเมตร มีสถานีรถไฟฟ้าให้บริการรวม 23 สถานี มีจุดเชื่อมต่อไปยังรถไฟฟ้ามหานคร สายเฉลิมรัชมงคล (MRT สายสีน้ำเงิน) ที่สถานีรัชดา เชื่อมต่อไปยังรถไฟฟ้าแอร์พอร์ต เรล ลิงก์ และรถไฟสายตะวันออก ที่สถานีพัฒนาการ เชื่อมต่อไปยังรถไฟฟ้าสายสีส้ม ที่สถานีแยกลำสาลี และเชื่อมต่อไปยังรถไฟฟ้าสายสีเขียว ที่สถานีสำโรง โดยมีอาคารจอดแล้วจร 1 แห่ง และศูนย์ซ่อมบำรุงฯ ตั้งอยู่ใกล้กับสถานีศรีเอี่ยม

สำหรับรถไฟฟ้าซึ่งจะนำมาวิ่งให้บริการในโครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพูฯ และโครงการรถไฟฟ้าสายสีเหลืองฯ เป็นรุ่น Bombardier Innovia Monorail 300 ควบคุมด้วยระบบอาณัติสัญญาณ CITYFLO 650 แบบไร้คนขับ ภายในห้องโดยสารของขบวนรถมีอุปกรณ์ความปลอดภัยอย่างครบครัน อาทิ กล้อง CCTV เครื่องตรวจจับควัน ปุ่มติดต่อสื่อสารกับเจ้าหน้าที่ควบคุมรถ ถังดับเพลิง และที่เปิดประตูฉุกเฉิน ฯลฯ โดยบริษัท บอมบาร์ดิเอร์ ทรานสปอร์เทชั่น โฮลดิ้งส์ (ประเทศไทย) จำกัด จะทยอยส่งมอบรถไฟฟ้าของโครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพูฯ จำนวนรวม 42 ขบวน และของโครงการรถไฟฟ้าสายสีเหลืองฯ จำนวนรวม 30 ขบวน มายังประเทศไทยอย่างต่อเนื่อง จนครบจำนวนภายในปี 2564 พร้อมกันนี้ บริษัทผู้รับสัมปทานทั้งสองโครงการจะดำเนินการติดตั้งและทดสอบระบบเพื่อสร้างความมั่นใจ และเตรียมความพร้อมสำหรับการเปิดให้บริการเต็มรูปแบบภายในปี 2565 โดยในระยะแรกจะให้บริการด้วยรถไฟฟ้า 4 ตู้ต่อ 1 ขบวน รองรับผู้โดยสารได้ประมาณ 17,000 คนต่อชั่วโมงต่อทิศทาง และในระยะต่อไปยังสามารถเพิ่มจำนวนตู้โดยสารได้สูงสุด 7 ตู้ต่อขบวน รองรับผู้โดยสารได้ประมาณ 28,000 คนต่อชั่วโมงต่อทิศทาง ทั้งนี้ รฟม. จะมุ่งมั่นผลักดันโครงการรถไฟฟ้าทั้งสองสายนี้ ตลอดจนโครงการระบบขนส่งมวลชนทางรางอื่นๆ ตามที่ได้รับมอบหมายจากรัฐบาล และกระทรวงคมนาคม เพื่อสร้างโครงข่ายการเดินทางที่ครอบคลุมและมีประสิทธิภาพ เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตประชาชนและส่งเสริม การพัฒนาเมืองอย่างยั่งยืน สามารถติดตามรายละเอียดและข้อมูลข่าวสารเพิ่มเติมได้ที่เว็บไซต์ รฟม. www.mrta.co.th และเฟซบุ๊กแฟนเพจ การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย หรือ Call Center รฟม. โทร. 0 2716 4044

สัมภาษณ์ : เรือโท กมลศักดิ์ พรหมประยูร ผู้อำนวยการ การท่าเรือแห่งประเทศไทย

สมชาย แก้วนุ่ม รายงาน

error: Content is protected !!