“ครูพี่โอ๊ะ” ลงพื้นที่เพื่อตรวจเยี่ยมการจัดการเรียนการสอนการศึกษาผู้พิการทางสายตา และเด็กพิเศษในพื้นที่ขอนแก่น
วันที่ 2 ตุลาคม 2563 : นางกนกวรรณ วิลาวัลย์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (รมช.ศธ.) เดินทางมาตรวจราชการการจัดการเรียนการสอนด้านการศึกษา ณ โรงเรียนการศึกษาคนตาบอดขอนแก่น และโรงเรียนเด็กพิเศษมารีย์นิรมล อำเภอเมืองขอนแก่น จังหวัดขอนแก่น พร้อมด้วย นายสมเกียรติ ตันดิลกตระกูล ผู้ช่วยเลขานุการ (รมช.ศธ.),นายพะโยม ชิณวงศ์ ประธานคณะทำงาน (รมช.ศธ.),นายธนาวัฒน์ วารีสมานคุณ หัวหน้าคณะทำงาน (รมช.ศธ.),นายชัยณรงค์ ป้องบ้านเรือ รองเลขาธิการ (กช.) และคณะทำงาน (รมช.ศธ.) โดยมี นายสมศักดิ์ จังตระกูล ผู้ว่าราชการจังหวัดขอนแก่น, นายฐิตินันท์ แสงนาค สส. เขต 1 ขอนแก่น, ว่าที่ร้อยตรี เอกทินกร ศรีนาง ผู้แทนศึกษาธิการภาค 12, นางรัตนาภรณ์ วัฒนศัพท์ ประธาน (ปส.กช.) ขอนแก่น, พ.ต.อ.ปรีชา เก่งสาริกิจ ผู้กำกับการ สภ.เมืองขอนแก่น, ผู้บริหารกระทรวงศึกษาธิการ และผู้แทนโรงเรียนเอกชนในพื้นที่ให้การต้อนรับ
ดร.กนกวรรณฯ กล่าวว่า ต้องขอชื่นชม และขอขอบคุณคุณครู ที่ดูและเด็กๆ ที่มีความบก พร่อง หรือความพิการ และพิการซ้ำซ้อน ต้องใช้ความอดทน และความพยายามเป็นอย่างมาก อีกทั้งเนื่องจากท่านทั้งหลายมีบทบาทสำคัญในการจัดการศึกษา และการยกระดับคุณภาพการศึกษาสำหรับเด็กที่มีความต้องการจำเป็นพิเศษ ซึ่งที่ผ่านมาโรงเรียนเอกชนสามารถจัดการศึกษาได้อย่างมีคุณภาพช่วยแบ่งเบาภาระของภาครัฐในการจัดการศึกษาได้เป็นอย่างดี และดิฉันขอชื่นชมผู้บริหารและครูโรงเรียนเอกชนที่ช่วยกันพัฒนาการศึกษาในพื้นที่ เพื่อให้เด็กและเยาวชนมีความพร้อมก้าวสู่ศตวรรษที่ 21 อย่างรอบด้านทั้งทางร่างกาย จิตใจ และสติปัญญาตามยุทธศาสตร์กระทรวงศึกษาธิการในการขยายโอกาสการเข้าถึงบริการทางการศึกษาและการเรียนรู้อย่างต่อเนื่องตลอดชีวิตเพื่อสร้างความเสมอภาค และความเท่าเทียมทางการศึกษานั้นสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน
ซึ่งเป็นหน่วยงานที่มีหน้าที่กำกับดูแลและส่งเสริมโรงเรียนเอกชนหลายประเภทรวมถึงโรงเรียนประเภทการศึกษาพิเศษ ซึ่งเป็นโรงเรียนที่จัดตั้งขึ้นเพื่อดูแลและจัดการศึกษาให้เฉพาะนักเรียนที่มีความบกพร่องในแต่ละประเภทในระดับที่รุนแรงและไม่สามารถเรียนรวมกับเด็กปกติได้ (จำนวน 20 โรงเรียน) และโรงเรียนที่มีนักเรียนพิการเรียนรวม เป็นโรงเรียนที่จัดการศึกษาสำหรับเด็กที่มีความต้องการพิเศษซึ่งไม่เป็นอุปสรรคต่อการเรียนรู้มากนัก และเด็กปกติได้เรียนร่วมกัน เป็นการเปิดโอกาสให้เด็กที่มีความต้องการพิเศษได้พัฒนาตนเอง มีสังคมที่กว้างขึ้น และได้รับการช่วยเหลือจากเพื่อนๆ ครูและผู้ปกครองเพื่อเป็นประโยชน์ในการพัฒนาตนเอง (จำนวน 800 โรงเรียน) ได้ดำเนินการตามยุทธศาสตร์ของกระทรวงศึกษาธิการโดยพัฒนาระบบการบริหารจัดการสถานศึกษาให้เป็นไปตามบริบทที่แตกต่างอย่างมีประสิทธิภาพและมาตรฐานพัฒนาศักยภาพการจัดการเรียนการสอนของครูผู้ดูแลเด็กพิการให้มีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับวิธีการจัดการเรียนการสอนที่เหมาะสมกับเด็กแต่ละคนได้อย่างเหมาะสม
สุรเชษฐ ศิลานนท์ รายงาน